พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีราชาภิเษกที่พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการด้วยการถวายน้ำอภิเษก โดยแบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมเนียมของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ซึ่งต้องย้อนกลับไปหลายศตวรรษโดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบไปด้วย พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก พระราชพิธีถวายน้ำอภิเษก พระราชพิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และการสถาปนาพระราชินีและพระราชวงศ์ ส่วนพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นโดยเหล่าสมาชิกของราชวงศ์ในพระบรมมหาราชวัง

ภายหลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้ว พระมหากษัตริย์จะประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทองไปประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเสด็จไปสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี

ความหมายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วยคำ พระราชพิธี+บรม+ราช+อภิเษก มีคำสำคัญของพระราชพิธีนี้คือคำ “อภิเษก” หมายถึง “รดน้ำ” ดังปรากฏในอักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2416 ให้ความหมายคือ “อะภิเศก แปลว่า รดน้ำลงยิ่ง”

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำ “อภิเษก” คือ “แต่งตั้งโดยการรดน้ำ เช่น พิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน”

ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงหมายถึงพระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

สำหรับพิธีราชาภิเษกอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์มี 5 ประการ มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ปัญจราชาภิเษก สันนิษฐานว่าเขียนโดยพระพิมลธรรมหรือต่อมาคือสมเด็จพระพนรัตน์แห่งสำนักวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2328 ดังนี้

1.อินทราภิเษก คือ ราชาภิเษกสำหรับผู้มีอำนาจการเมือง เศรษฐกิจ และบุญญาธิการ ดุจดังราชาธิราช ประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการ คือ พระอินทร์นำเครื่องราชกกุธภัณฑ์มาถวาย ราชรถมาจรดฝ่าพระบาท และมีฉัตรทิพย์มากางกั้น

2. โภคาภิเษก คือ ราชาภิเษกสำหรับผู้ที่สืบเชื้อสายตระกูลพราหมณ์ เป็นตระกูลมหาเศรษฐี ยังเป็นผู้รู้จักในราชธรรมตราชูธรรม และทศกุศล อันจะเป็นประโยชน์ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร

3. ปราบดาภิเษก คือ ราชาภิเษกสำหรับผู้อยู่ในตระกูลกษัตริย์ขัตติยราช มีฤทธิ์อำนาจและความสามารถในการสู้รบชนะข้าศึกศัตรูได้ครอบครองบ้านเมืองและทรัพย์สมบัติทั้งหลายกษัตริย์ขัตติยราช ขัตติยะนักรบ ปราบปรามอริราชศัตรูขึ้นเสวยราชย์

4. ราชาภิเษก คือ ราชาภิเษกด้วยการสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระราชบิดาและพระราชมารดาผู้ทรงครองราชสมบัติทรงพระชราแล้ว

5. อุภิเษก คือ ราชาภิเษกด้วยการอภิเษกสมรส หาหญิงที่มีตระกูลเสมอกันมาทำการอภิเษกสมรสกับพระราชโอรส ซึ่งหญิงนั้นอาจจะมีเชื้อสายกษัตริย์ในแว่นแคว้นอื่นๆ ที่มีวงศ์ตระกูลดีซึ่งเป็นสวัสดิชาติ

ถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์

เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว
ประกอบไปด้วยเครื่องทรง 5 อย่าง คือ
 
• พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นพระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชร สูง ๖๖ เซนติเมตร น้ำหนัก ๗,๓๐๐ กรัม
 
• พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองเขมร ด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพนม ทำฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม
 
• ธารพระกร เป็นไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำตลอด ปลายสุดของธารพระกรทำเป็นซ่อมสามง่าม
 
• พระวาลวิชนี เป็นพัดใบตาลแบบที่เรียกกันว่า พัชนีฝักมะขาม ที่ใบตาลปิดทอง ขอบขลิบทองคำ ด้ามทองคำ ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน เรียกว่าพระแส้ขนหางช้างเผือก แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้
 
• ฉลองพระบาท เป็นฉลองพระบาทเชิงงอน ทำด้วยทองคำยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก ๖๕๐ กรัม สร้างเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขั้นตอนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมานั้น มีการปรับเปลี่ยน โดยพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาลย่อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับเปลี่ยนบางอย่างตามพระราชนิยม

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ม.ร.ว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงขั้นตอนของพิธีที่อาจแบ่งแยกออกไปได้เป็น 5 ตอน ดังนี้

1.ขั้นเตรียมพิธี มีการทำพิธีตักน้ำและตั้งพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก กับทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

2. พิธีเบื้องต้น มีการเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

3. พิธีบรมราชาภิเษก มีพิธีสรงพระมุรธาภิเษก แล้วประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์รับน้ำอภิเษก ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐรับถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์

4. พิธีเบื้องปลาย มีการเสด็จออกมหาสมาคม สถาปนาสมเด็จพระราชินี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ถวายบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี และเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร

5. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและชลมารค

ส่วนขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีรายละเอียดใน ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนี้

“เลขาธิการพระราชวัง รับพระราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า โดยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ตามคำกราบทูลเชิญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทยนั้น

ทรงพระราชดำริว่า เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ดังนี้

วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงค์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงค์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

ส่วนการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปีพุทธศักราช ๒๕๖๒

 

สืบค้นข้อมูลหนังสือกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้ที่ : shorturl.asia/82XGN
E-book : http://www.phralan.in.th/coronation

ขอบคุณแหล่งที่มา www.silpa-mag.com

เคดิตรูปภาพ www.sanook.com