“สิทธิ” และ “เสรีภาพ”

สิทธิและเสรีภาพ เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเพราะมักจะถูกนำมาอ้างในการกระทำการ หรือห้ามมิให้กระทำการ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐกระทำการหรือโต้แย้งการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐ และยังถือว่าเป็นคำที่มีความสำคัญต่อพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

หลายคนคงเข้าใจว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แท้จริงแล้ว สิทธิกับเสรีภาพก็มีความแตกต่างกันอยู่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่า

สิทธิ, สิทธิ์

(1)  [สิดทิ, สิด] น. อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้
(2)  (กฎ) น. อำนาจที่กฎหมายรับรองให้กระทำการใด ๆ โดยสุจริตได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น

เสรีภาพ 

น. ความสามารถที่จะกระทำการใด ๆ ได้ตามที่ตนปรารถนาโดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการนับถือศาสนา, ความมีสิทธิที่จะทำจะพูดได้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ความแตกต่างระหว่างสิทธิกับเสรีภาพ

จริงแล้วความแตกต่างของสองคำนี้สามารถสรุปได้ง่ายๆ คือ สิทธิเป็นอำนาจที่บุคคลพึงมีเพื่อเรียกร้องให้คนอื่นกระทำหรือละเว้นการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิทธิจึงเป็นเหมือนอำนาจอันถูกต้องที่ใช้ระหว่างตนเองกับผู้อื่น ปราศจากการครอบงำหรือแทรกแซงใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนเสรีภาพนั้นจริงๆ แล้วจะไม่ก่อให้เกิดหน้าที่ต่อบุคคลอื่น อาทิ เสรีภาพต่อการนับถือศาสนา ซึ่งทุกคนมีเสรีภาพมากพอในการเลือกนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือไม่นับถือศาสนาก็ได้ ซึ่งเราจะเห็นว่าเสรีภาพในกรณีดังกล่าวนี้ไม่ก่อให้เกิดหน้าที่ต่อบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าหากเป็นสิทธิในเสรีภาพย่อมมีความหมายว่า บุคคลนั้นมีสิทธิในการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่มีการรับรองในความหมายดังกล่าว ก่อให้เกิดความผูกพันกับบุคคลอื่น กล่าวโดยสรุปคือ บุคคลมีหน้าที่ต้องไม่ละเมิดการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของบุคคลอื่นๆ

อย่างที่กล่าวไปว่า สิทธิเสรีภาพ เป็นคำที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีด้วยความที่ประเทศไทยของเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เหนือสิ่งอื่นใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพสิ่งสำคัญก็คือทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบและรัฐธรรมนูญที่ได้ร่างเอาไว้ ที่สำคัญต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่อย่างนั้นการใช้สิทธิเสรีภาพแบบนี้ย่อมไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน เป็นการเลือกใช้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นในสถานการณ์ต่างๆ

Reference :

stiftung Freiheit

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

<

p data-reader-unique-id=”14″>พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554