เหตุผลในการที่ต้นฉบับถูกปฏิเสธการตีพิมพ์

1. เลือกวารสารผิด (Wrong journal) วารสารแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสารแตกต่างกันออกไป หากผู้เขียนส่งเรื่องที่ไม่อยู่ในความสนใจหรือขอบเขตวารสารย่อมเป็นที่แน่นอนที่จะต้องถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ ตัวอย่างเช่น วารสาร Chiang Mai Journal of Science รับตีพิมพ์งานวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่รับพิจารณาบทความทางการเกษตร การแพทย์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น

2. ผิดรูปแบบ (Wrong format) วารสารแต่ละฉบับมีรูปแบบการนำเสนอแตกต่างกันออกไป เช่น บางวารสารตีพิมพ์เฉพาะบทความปริทัศน์ (Review article) บางวารสารรับพิจารณาเฉพาะบทความวิจัยเท่านั้น บางครั้งผู้เขียนส่งบทความถูกประเภทแต่อาจมีลักษณะไม่เหมาะสม เช่น มีความยาวมากหรือน้อยเกินไป อย่างบทความวิจัยความยาวมากกว่า 30 หน้า หรือบทความปริทัศน์ที่ยาวเพียง 5 หน้าและมีเอกสารอ้างอิงไม่กี่รายการ ผู้เขียนควรจะอ่านคำแนะนำสำหรับผู้เขียนให้ดีก่อนเตรียมต้นฉบับ ในกรณีที่ผู้เขียนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อกับวารสารได้โดยตรงเพื่อสอบถาม

3. ไม่ทำตามคำแนะนำในการเตรียมต้นฉบับของวารสาร (Not following instruction for authors) สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่ดูแล้วน่าจะหลีกเลี่ยงได้ง่ายที่สุด แต่เชื่อหรือไม่ว่าในแต่ละปีมีบทความจำนวนมากส่งเข้ามาโดยไม่ได้มีการจัด เตรียมต้นฉบับให้เป็นไปตามข้อกำหนดของวารสาร ทำให้ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ในทันทีโดยไม่ได้รับการพิจารณาในเรื่องคุณภาพของ เนื้อหา ดังนั้นจึงควรอ่านคำแนะนำสำหรับผู้เขียนอย่างละเอียดก่อนการเตรียมต้นฉบับ และปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยส่วนที่พบข้อผิดพลาดบ่อยที่สุด ได้แก่ การอ้างอิงและเอกสารอ้างอิง

4. ปัญหาด้านการเขียน (Poor writing) บทความที่เขียนได้ดีจะมีลักษณะที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ผู้อ่านสามารถติดตามเรื่องราวได้โดยสะดวก หลีกเลี่ยงการใช้คำฟุ่มเฟือย หรือคำศัพท์เฉพาะกลุ่ม (jargon) โดยไม่จำเป็น พยายามเขียนให้สั้นและกระชับที่สุด โดยคงความหมายที่ต้องการสื่อสารไว้ครบถ้วน มีการเรียงลำดับเรื่องราวเป็นขั้นเป็นตอนชัดเจน ระมัดระวังเรื่องตัวสะกดและใช้ไวยากรณ์ที่ถูกต้องตรงตามหลักภาษาศาสตร์ สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ควรหาเจ้าของภาษาช่วยตรวจทานต้นฉบับให้ หรือใช้บริการตรวจบทความจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาก่อนการส่งบทความไปตีพิมพ์

5. อภิปรายผลไม่ดี (Poor discussion) สำหรับกรณีนี้ที่พบมากในผู้เขียนชาวไทยคือ ไม่มีการอภิปรายผล เป็นแต่เพียงการนำผลการทดลองมากล่าวซ้ำ บางครั้งแปลผลผิดพลาด หรือแปลผลว่ามีความสำคัญมากเกินจริง นำไปสู่ข้อสรุปที่ไม่สอดคล้องกับผลการทดลองที่ได้ ผู้เขียนควรพยายามอธิบายความหมายของผลการทดลองที่ได้ มีการเปรียบเทียบผลกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และชี้ให้เห็นว่ามีความรู้ใหม่ใดเกิดขึ้นบ้างอย่างระมัดระวัง แสดงข้อจำกัดหรือข้อเสนอแนะอย่างตรงไปตรงมา หลีกเลี่ยงการพร่ำพรรณนายืดยาวเกินความจำเป็น หรือโฆษณาความสำคัญของงานมากเกินความเป็นจริง

6. เอกสารอ้างอิงมีปัญหา (Citation problems) หากเอกสารอ้างอิงที่ใช้ล้าสมัย และไม่ครอบคลุมบทความหลักของโจทย์วิจัย (Key papers) บทความของท่านอาจถูกปฏิเสธจากผู้ทรงคุณวุฒิได้ เนื่องจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นไปได้ในการถูกเลือกมาประเมินบทความของท่านมักเป็นผู้เขียนบทความหลักในสาขานั้นๆ นอกจากนี้การเลือกอ้างอิงบทความที่เกี่ยวข้องจากวารสารที่ส่งไปพิจารณาตีพิมพ์อย่างเหมาะสม ก็มีส่วนช่วยให้บทความของท่านได้รับความสนใจจากบรรณาธิการผู้พิจารณา

7. เหตุผลทางด้านจริยธรรม (Ethical misconducts) งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทดลอง หรือการทดลองในมนุษย์จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมที่ เกี่ยวข้องก่อนเสมอ ผู้เขียนต้องแสดงข้อมูลนี้อย่างชัดเจนในบทความโดยอาจจะอยู่ในส่วนของวิธีการ ทดลอง หรือส่วนของกิตติกรรมประกาศ (Acknowledement) บทความที่ไม่แสดงข้อมูลในส่วนนี้โดยปกติจะไม่ได้รับการพิจารณาจากวารสาร อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการที่ผู้เขียนได้กระทำการใดๆที่เข้าข่ายละเมิดจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย เช่น การส่งบทความเรื่องเดียวกันพร้อมกันมากกว่าหนึ่งวารสาร การจงใจปิดบังข้อมูลว่าบางส่วนของผลงานนี้เคยได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบอื่น เช่น proceeding จากการประชุมวิชาการ หรือเคยตีพิมพ์ในวารสารอื่นมาก่อน เนื้อหาในบทความบางส่วนหรือทั้งหมดอาจได้มาจากการลอกงานวิจัยของผู้อื่นมา โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่เรียกว่า การโจรกรรมทางวรรณกรรม (plagiarism) เป็นต้น

8. วิธีการทดลองมีปัญหา (Poor study design) โดยอาจเกิดจากวางแผนการทดลองไม่ดี กลุ่มตัวอย่างเล็กเกินไป ไม่มีชุดควบคุม สถิติที่ใช้ไม่ถูกต้องหรือไม่มีการใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล หรือวิธีวิเคราะห์ไม่เหมาะสม นอกจากนี้อาจเกิดจากการเขียนวิธีทดลองไม่ละเอียด หรือคลุมเครือจนทำให้ไม่สามารถทำการทดลองซ้ำได้ เป็นต้น

9. ไม่ได้แก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ และส่งคืนให้วารสารตามเวลาที่กำหนด (Failure to revise and resubmit after peer review) หลายครั้งบทความได้รับการพิจารณาตอบรับตีพิมพ์ หากทำการแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินคุณภาพและส่งคืนให้วารสารภายในเวลาที่กำหนด เป็นที่น่าเสียดายว่าหลายครั้งผู้เขียนไม่ได้ดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอแนะ และไม่ส่งบทความฉบับ แก้ไขคืนให้แก่บรรณาธิการวารสารตามเวลาที่กำหนด โดยไม่ได้แจ้งให้บรรณาธิการทราบ ซึ่งตามปกติทางวารสารจะถือว่าผู้เขียนไม่ประสงค์ที่จะตีพิมพ์บทความดังกล่าว กับทางวารสารแล้ว ถ้าหากส่งบทความกลับมาจะต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินคุณภาพใหม่ ทำให้เป็นการเสียเวลาเพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็น ในกรณีนี้ผู้เขียนสามารถติดต่อขอขยายเวลาในการแก้ไขเพิ่มเติมได้กับ บรรณาธิการ

10. ไม่ได้เขียนบทความและส่งไปตีพิมพ์ตั้งแต่แรก (Failure to write and submit a paper) มีงานวิจัยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงเพราะว่าผู้ทำวิจัยไม่ได้ถ่ายทอดผลการวิจัยดังกล่าวออกมาในรูปแบบของบทความในวารสารวิชาการ การเขียนนั้นไม่ยากเกินความพยายาม แต่การเขียนให้ได้ดีนั้นคงต้องผ่านการฝึกฝน และความกล้าหาญที่จะเริ่มลงมือเขียนงานวิจัยของท่านออกมา เริ่มลงมือเขียนเสียตั้งแต่วันนี้เลยครับ ความสำเร็จและความอิ่มใจกำลังรอท่านอยู่ เมื่อเห็นผลงานวิจัยได้รับการเผยแพร่ผ่านทางบทความวิชาการจากฝีมือการเขียนของท่านเองปรากฏในวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับในสาขาวิชา

ดร.วสุ ปฐมอารีย์
บรรณาธิการวารสาร Chiang Mai Journal of Science

ขอบคุณที่มาจาก : http://cmupress.cmu.ac.th/publication.php?id=5