World Environment Day 2018: Beat Plastic Pollution If you can’t reuse it, refuse it

“วันสิ่งแวดล้อมโลก” ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีนั้น เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 47 ปีก่อน หรือในปี ค.ศ.1972 โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) มุ่งหวังที่จะสร้างความตระหนักในประเด็นสิ่งแวดล้อมให้กับประชากรโลก ตั้งแต่ปัญหามลพิษในทะเล การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการบริโภคที่ยั่งยืน และการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

ในปี 2018 นี้ วันสิ่งแวดล้อมโลก มาในธีม “Beat Plastic Pollution: If you can’t reuse it, refuse it” หรือ “สู้กับปัญหาขยะพลาสติก: ถ้าเอามันกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ก็จงปฏิเสธมันซะ” โดยพุ่งเป้าไปยังพลาสติกประเภท “ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง”

เป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาคมโลกต่างพากันออกมาแสดงความตั้งใจ รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับขยะพลาสติกประเภท “ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง” ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีพลาสติก หรือห้ามร้านขายของแจกถุงพลาสติก รวมไปถึงรณรงค์ลดการใช้พลาสติกอื่นๆ เช่น หลอดดูดน้ำ ปลอกคอตตอนบัด

#BeatPlasticPollution ประเด็นหลักของธีมไม่ใช่แค่ต้องการรณรงค์ให้คนหันมาตระหนักถึงการใช้งานของพลาสติกที่แสนสั้น หากแต่เป็นไปเพื่อเรียกร้องให้องค์กรระดับประเทศ ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ลุกขึ้นมาสู้ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มากไปกว่าแค่การการกำจัดขยะ

ฟรานซ์ ทิมเมอร์แมนส์ (Frans Timmermans) รองประธานคณะกรรมาธิการ UN กล่าวว่า “พลาสติกใช้แล้วทิ้ง ใช้เวลาผลิต 5 วินาที ถูกนำไปใช้แค่ 5 นาที และใช้เวลาในการกำจัดพวกมันอีก 500 ปี หากเราไม่ลงมือตั้งแต่วันนี้ อีก 50 ปี ข้างหน้า ถนนจะเต็มไปด้วยขยะพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทร”

ช่วงที่ผ่านมามีข่าววาฬนำร่องครีบสั้นมาเกยตื้นบริเวณปากคลองนาทับซึ่งติดกับทะเลอ่าวไทย หมู่ 2 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา วาฬตัวดังกล่าวมีลักษณะผอม ลอยตัวผิดปกติ หายใจมีกลิ่นเหม็น ซึม ไม่กินอาหารโดยเจ้าหน้าที่พบว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจ และพบว่าสัตว์มีภาวะขาดน้ำ จึงได้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเจ้าหน้าที่และทีมสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พยายามช่วยยื้อชีวิตอย่างเต็มความสามารถ แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตวาฬไว้ได้ และได้ตายลงในสภาพน่าสังเวช โดยก่อนตายมีอาการชักเกร็งและได้สำรอกขยะพลาสติกออกมารวม 5 ชิ้น

และเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 1 มิ.ย. 2561 วาฬตัวดังกล่าวเกิดอาการดิ้นอย่างทุรนทุรายและสำรอกขยะพลาสติกออกมาก่อนจะตาย โดยสาเหตุการตายหลักจึงเกิดจากขยะพลาสติกที่วาฬกินเข้าไป

สำหรับผลการชันสูตรพบความผิดปกติในระบบต่างๆ โดยในกระเพาะอาหารพบพลาสติกจำนวน 85 ชิ้น น้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม ซึ่งขยะเหล่านั้นได้ไปอุดตันบริเวณกระเพาะส่วนต้น และพบพลาสติกบางส่วนที่ถูกย่อยในกระเพาะหลัก ซึ่งเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างมาก

วาฬนำร่องครีบสั้นเป็นวาฬที่อาศัยรวมกันเป็นฝูงใหญ่บริเวณทะเลเปิดในโซนเขตร้อน พบได้ตามไหล่ทวีปและร่องน้ำลึก ในประเทศไทยเคยมีการพบเจอวาฬนำร่องครีบสั้นที่บริเวณ จ.พังงา จำนวน 2 ครั้ง เมื่อปี 2552 และ 2553 ส่วนในฝั่งอ่าวไทยมีรายงานการเกยตื้นของวาฬชนิดนี้ทั้งหมด 3 ครั้ง คือเมื่อปี 2544 และ 2553 พบเกยตื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และเมื่อปี 2536 พบเกยตื้นที่ จ.นราธิวาส

ทางออกหนึ่งของปัญหา “พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง” คือการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อต่อสู้กับความเคยชินและความสะดวกสบายจากการใช้พลาสติก และออกแบบสินค้าให้มีอายุยืนยาวกว่าเดิม พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้านั้น เช่น พกขวดน้ำถาวร พกช้อนส้อมและหลอดถาวรติดตัวเพื่อไม่ต้องใช้ช้อนส้อมพลาสติก การตายของวาฬตัวนี้จะสร้างแรงขับให้กับทุกๆคนบนโลก เพื่อหันมาเอาใจใส่ปัญหาขยะพลาสติกเหล่านี้อย่างจริงจังเสียที

สำหรับสำนักหอสมุดของเรา ก็มีเป้าหมายสู่การเป็น Green Library มุ่งหวังสร้างสรรค์สังคมกรีนๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าร่วมโครงการ Green Library, Green Office จนได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้ว ซึ่งก็เป็นกำลังใจเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อโลกของเรา และเราจะยังคงมีกิจกรรมดีๆอย่างต่อเนื่อง ช่วยกันคนละไม้คนมือ เพื่อโลก เพื่อเรา

ที่มา