พาสำรวจงานสงกรานต์ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

      ช่วงเทศกาลสงกรานต์นอกจากจะมีประเพณีทำบุญ ขนทรายเข้าวัด การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ ซึ่งทำกันเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ละจังหวัดก็จะมีไฮไลท์งานสงกรานต์ต่างๆกันไป มีการจัดกิจกรรมมากมายที่จัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณี วัฒนธรรม และเพื่อสร้างความสุข ความสนุกสนานให้แก่ประชาชน รวมถึงช่วงเวลาที่มีการจัดงานก็มีจะมีความแตกต่างกันไป วันนี้จะขอพาไปสำรวจงานสงกรานต์ของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ใครอยู่ใกล้ที่ไหนเชิญไปเที่ยว สาดน้ำกันให้ชุ่มฉ่ำกันได้เลย

แพร่ 
     เทศกาลสงกรานต์ “ดอกลมแล้งบาน สงกรานต์เมืองแป้ นุ่งหม้อห้อมแต้งามตา” ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2561 ที่บริเวณกาดสามวัย เทศบาลเมืองแพร่  เพื่อส่งเสริมและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความสนุกสนาน ความครื้นเครง ความสมัครสมานสามัคคีสมานฉันท์ของคนในท้องถิ่น และเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ให้รู้จักอย่างแพร่หลาย จังหวัดแพร่นั้นมีสงกรานต์ที่ยาวนานหลายวัน มีกิจกรรมต่างๆมากมายที่จะสะท้อนถึงวิถีชีวิตและเป็นเอกลักษณ์ของการแต่งกายของชาวแพร่โดยเฉพาะผ้าหม้อห้อมที่โดดเด่น โดยมีการแข่งขันจุดสะโป๊ก หนึ่งเดียวในโลก สะโป๊กเมืองแป้ กิจกรรมสะเดาะเคราะห์รับโชคปี๋ใหม่เมืองที่คูเมืองน้ำคือ การประกวดอาหารพื้นเมืองของจังหวัดแพร่ ได้แก่ ประกวดลาบหมูสุก การประกวดแกงโฮ๊ะเมืองแป้ การประกวดรถแกงคั้ว การประกวดนางสงกรานต์ ชมขบวนแห่สืบสานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของส่วนราชการ เอกชน ชุมชนและสถานศึกษาของจังหวัดแพร่ ขอบอกว่าวันที่ 17 เป็นไฮไลท์ของแพร่เขาล่ะ
วันที่ 13 เมษายน 2561 การแข่งขันจุดสะโป๊ก หนึ่งเดียวในโลก สะโป๊กเมืองแป้ บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองแพร่ และการประกวดอาหารพื้นเมือง
วันที่ 14 เมษายน 2561 กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน กิจกรรมขนทรายเข้าวัด
วันที่ 15 เมษายน 2561 กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน รดน้ำดำหัว และสรงน้ำพระ
วันที่ 16 เมษายน 2561 สนุกสนานชุ่มฉ่ำกับอุโมงค์น้ำบริเวณกาดสามวัย และพิธีเปิดงาน ดอกลมแล้งบาน สงกรานต์เมืองแป้ นุ่งหม้อห้อมแต้งามตา ประจำปี 2561 ที่กาดสามวัยเทศบาลเมืองแพร่ งานหม้อห้อมล้มสะโตก (ใส่ผ้าหม้อห้อมนั่งล้อมวงกันทานข้าว) ฟังเพลงเพราะๆจาก พลพล พลกองเส็ง
วันที่ 17 เมษายน 2561 ปล่อยขบวนรถแกงคั้ว ชมขบวนแห่สืบสานประเพณีที่ยิ่งใหญ่จากตลาดแพร่ปรีดาเข้าสู่กาดสามวัยเทศบาลเมืองแพร่ การประกวดนางสงกรานต์ และมอบรางวัลนางสงกรานต์ ประจำปี 2561

น่าน
      งานประเพณีสงกรานต์ “นุ่งผ้าเมือง ปลอดเหล้า-เบียร์” ประจำปี 2561 ในระหว่างวันที่ 12 – 16 เมษายน 2561 เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณกาล ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิเช่น พิธีสรงน้ำพระราชทานฯ พระเจ้าทองทิพย์ ณ วัดสวนตาล การประกวดซุ้มเล่นน้ำวัฒนธรรมปลอดเหล้า-เบียร์ของแต่ละชุมชน ขบวนแห่นางสงกรานต์และการประกวดนางสงกรานต์ 2561 การแข่งขันบ้องไฟดอก พิธีบวงสรวงเสาพระหลักเมืองน่าน พิธีสืบชะตาหลวง เมืองน่านวันพญาวัน ณ วัดมิ่งเมือง ชมการแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน ละครซอ การแข่งขันตีกลองแอว ตีกลองสะบัดชัย แข่งขันตีกลองปูจา ณ วัดมิ่งเมือง และการแข่งขันบ้องไฟขึ้น (บ้องไฟเผ่าดำ) ณ สนามยิงปืนบ้านผาสิงห์ ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน จังหวัดน่าน ด้านพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ถนนข้าวแต๋น ปลอดเหล้า-เบียร์ ประจำปี 2561 (บนถนนสมุนเทวราช) กำหนดพื้นที่เล่นน้ำให้เป็นเขตปลอดเหล้า-เบียร์ ระหว่างวันที่ 13 -15 เมษายน 2561 ภายในกิจกรรมจัดให้มีการประกวดซุ้มเล่นน้ำของเยาวชนและชุมชนในเขตเทศบาลเมืองน่าน พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออกทางดนตรี และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย

     
 
เชียงราย
        “มหาสงกรานต์สบายดีปีใหม่ไทย-ลาว ประจำปี 2561” ซึ่งจัดขึ้นที่เกาะดอนโป่งกลางแม่น้ำโขงเชื่อมระหว่างอำเภอเชียงของกับเมืองห้วยทราย สปป.ลาว มีการเปิดให้ประชาชนทั้งชาวไทยและลาวรวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศได้เดินทางขึ้นไปบนเกาะอยู่กลางแม่น้ำโขง และร่วมกันก่อกองทรายเป็นเจดีย์ตามประเพณีล้านนา นำตุงหรือธง 12 ราศี ไปปักที่กองทรายตามประเพณี มีการแสดงฟ้อนรำจากแขวงบ่อแก้ว และอำเภอเชียงของ กิจกรรมภายในงานบนเกาะยังมีหลากหลาย เช่น การแข่งขันชกมวยทะเล การแข่งขันปืนเสาน้ำมัน การชักกะเย่อ เป็นต้น สำหรับการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ไทย-สปป.ลาว ดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-18 เม.ย.นี้ โดยในวันที่ 15-17 เม.ย.มีการทำบุญตามวัดต่างๆ และช่วงสายมีการแข่งขันพายเรือในแม่น้ำโขงบริเวณท่าผาด่าน หน้าวัดหลวง ต.เวียง อ.เชียงของ และวันที่ 18 เม.ย.จัดพิธีบวงสรวงปลาบึก ณ บริเวณลานโพธิ์วัดหาดใคร้ ต.เวียง ซึ่งเป็นสถานที่แห่งเดียวที่มีการจับปลาบึกแม่น้ำโขงตามธรรมชาติได้ รวมทั้ง มีการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยนสัมพันธ์นานาชาติ ณ สวนปลาบึกเจ็ดสี ท่าเรือบั๊ค ต.เวียง โดยมีการแสดงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์อย่างงดงาม นอกจากนี้ยังมีขบวนแห่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์(พระคู่บ้านคู่เมือง)ทุกวัดในอำเภอเชียงของ จำนวน 99 คัน พระพุทธรูป 99 องค์ เคลื่อนไปตามถนนสายต่างๆรอบตัวเมืองเชียงของ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สรงน้ำและกราบไหว้ขอพรเป็นสิริมงคล ปิดท้ายด้วยการฟ้อนอวยพรปีใหม่เมืองและฟ้อนบรวงสรวงบรรพบุรุษ ของกลุ่มพัฒนาสตรีทุกตำบลจำนวน 1,250 คน อย่างอลังการ  มีการประกวดนางงามของผู้สูงอายุหรือที่เรียกว่าประกวดนางหง่อม เพื่อสร้างสีสันของประพเณีสงกรานต์

ที่บริเวณสวนตุงและโคม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีขบวนแห่สงกรานต์อย่างสวยงาม มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแต่งกายด้วยชุดลายดอก และชุดไทยร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ มีการจัดซุ้มประตูป่า ประดับตกแต่งทั่วทั้งบริเวณ กิจกรรมประกวดเทพีสงกรานต์ มีบรรดาสาวงามจากที่ต่างๆ เข้าร่วมประกวด ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันส้มตำลีลา ที่นอกจากจะสนุกกับลีลาของผู้แข่งขันแล้วผู้ร่วมงานได้อิ่มอร่อยกับเมนูส้มตำอีกด้วย อีกกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจอย่างมากคือ เวทีรำวงย้อนยุค ที่มีผู้เข้าไปร่วมกิจกรรมจำนวนมาก โดยเวทีรำวงย้อนยุคนี้ ได้จัดอย่างต่อเนื่องทุกวันเสาร์ในงานถนนคนเดิน แต่วันนี้ได้จัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย ซึ่งผู้ชมต่างเข้าไปร่วมรำวงอย่างสนุกสนานสำหรับจังหวัดเชียงรายมีการเล่นน้ำสงกรานต์ในเขตตัวเมืองจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีผู้ไปเล่นสงกรานต์ที่หาดเชียงราย ที่มีซุ้มอาหารร้านค้าต่างๆ จำนวนมาก ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น วัดร่องขุ่น ไร่บุญรอด วัดร่องเสือเต้น วัดห้วยปลากั้ง ก็มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวจำนวนมากเช่นกัน

พะเยา

       งาน “เย็นจุ๋มใจ๋ ปี๋ใหม่เมือง กว๊านพะเยา” ในวันศุกร์ ที่ 13 เมษายน 2561 ณ บริเวณสวนสมเด็จย่า 90 กว๊านพะเยา ชมขบวนแห่สงกรานต์ 14 ชุมชน การประกวดนางสงกรานต์ สนุกสนานกับอุโมงค์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในพะเยา การแสดงแอ่วพะเยาม่วนใจ๋ เย็นชื่นใจปี๋ใหม่เมือง การประกวดนางสงกรานต์ เวทีรำวงพร้อมแสง สี เสียง และสนุกสนานเย็นชุ่มฉ่ำกับอุโมงค์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในพะเยา นอกจากนี้ยังมีงานสงกรานต์ที่ อ.เชียงม่วน เชิญชวนประชาชนชาวพะเยาและนักท่องเที่ยวร่วมแต่งผ้าไทลื้อ แอ่วบ้านไทลื้อ ตานตุงไทลื้อ ฮับปี๋ใหม่เมือง เที่ยวงาน “สงกรานต์ตานตุงไทลื้อท่าฟ้า ครั้งที่ 6” ณ วัดท่าฟ้าใต้ บ้านฟ้าสีมอง ต.สระ อ.เชียงม่วน เพื่อให้ชาวไทลื้อและนักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวไทลื้อ และเพื่อพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน กิจกรรมในงาน ช่วงเช้า ทำบุญตักบาตรร่วมสรงน้ำพระสิบสองปันนา ต้อนรับปีใหม่เมือง ตลอดทั้งวัน ชมข่วงวัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวไทลื้อ ชม ช็อป ชิม สินค้าไทลื้อ สินค้าโอทอป มากมาย ช่วงเย็น ชมขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมไทลื้อ ร่วมพิธีตานตุงไทลื้ออันศักดิ์สิทธิ์ และชมการประกวดธิดาไทลื้อ

เชียงใหม่

     งาน “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2561” วันที่ 12-15 เมษายน 2561 บริเวณลานประตูท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีพิธีตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 100 รูป เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ซึ่งในวันนี้ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามประเพณีล้านนา จึงถือว่าเป็นวันมหามงคลที่ทุกคนควรละทิ้งสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไปพร้อมกับปีเก่า มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา ขบวนแม่หญิงขี่รถถีบกางจ้องล้านนาไทยในอดีต , การประกวดเทพี-เทพบุตรสงกรานต์เชียงใหม่ , การประกวดหนูน้อยสงกรานต์เจียงใหม่ มาสร้างสีสันภายในงานอีกด้วย และในช่วงบ่ายยังมีพิธีแห่พระพุทธสิหิงค์รอบเมือง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย

แม่ฮ่องสอน

         ประเพณีสงกรานต์แม่ฮ่องสอน ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 14 –16 เมษายน 2561 ที่บริเวณสวนสาธารณะหนองจองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไปและส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการแข่งขันชกมวยทะเล ซึ่งส่วนใหญ่คู่ชกเป็นเพื่อนกัน จูงมือกันมาแข่งขัน เพื่อความสนุกสนาน ซึ่งก็เรียกเสียงหัวเราะได้กองเชียร์จากรอบสนาม โดยต้องเอาชนะ 2 ใน 3 ยก ซึ่งผู้ชนะได้เงินรางวัล 150 บาท ผู้แพ้ได้เงิน 100 บาท การแข่งขันเรือพาย ปีนเสาน้ำมันและการแสดงดนตรี วันที่ 16 เมษายน มีพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พระสงฆ์ สามเณร จำนวน 99 รูป ที่บริเวณสวนสาธารณะหนองจองคำ เวลา 16.00 น. มีขบวนแห่นางสงกรานต์ การจำหน่ายอาหาร – ขนมไทยใหญ่และการแสดงของศิลปิน

ลำพูน

      เทศกาลสงกรานต์ล้านนา ปี๋ใหม่เมืองหละปูน ระหว่างวันที่ 11 – 18 เมษายน 2559 ที่ ถนนสายวัฒนธรรม บริเวณด้านหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี ล้านนา ดั้งเดิม และ เน้นการเล่น สงกรานต์ ตามแบบ วิถีไทย ใช้ขันรดน้ำ รวมถึงส่งเสริมให้แต่งกายอย่างสุภาพ งานเทศกาลสงกรานต์ ที่ จังหวัดลำพูน ประชาชนร่วมสรงน้ำ พระพุทธรูปจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดลำพูน  โดยขบวนพระพุทธรูปเคลื่อนไปตามถนนสายหลักในเขตเทศบาลเมืองลำพูน จนถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเชิงสะพานท่าขาม พระพุทธรูปที่ได้อัญเชิญ มาให้ประชาชนได้สรงน้ำในขบวนแห่ได้แก่ พระรอดหลวง จากวัด มหาวัน , พระคง จาก วัดพระคงฤาษี และ พระพุทธรูปฝนแสนห่า จากวัดเหมืองง่า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดลำพูน ให้นักท่องเที่ยวได้ สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล ในช่วงเทศกาล ปีใหม่ ล้านนา ซึ่งประชาชนได้เตรียมน้ำขมิ้น ส้มป่อย มาร่วม สรงน้ำพระพุทธรูป ตลอดสองข้างทางในการ จัดงานประเพณี ปี๋ใหม่เมืองหละปูน และมีการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองที่สวยงาม

ลำปาง

         งาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง” ครั้งที่ 29 ประจำปี 2561 สุดยิ่งใหญ่ต้อนรับมหาสงกรานต์ ชูเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของเมืองไทยในแบบฉบับของชาวนครลำปางพร้อมส่งเสริมปีการท่องเที่ยว “ลำปาง..ปลายทางฝัน” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-13 เมษายน 2561 ณ สวนสาธารณะเขลางค์นคร และข่วงนคร (ห้าแยกหอนาฬิกา) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง โดยในวันที่ 8-11 เมษายน มีกิจกรรมประกอบด้วย การแข่งขันตีก๋องปู่จานครลำปาง ครั้งที่ 17 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9, กิจกรรมประเพณีปี๋ใหม่เมืองในข่วงแก้วเวียงละกอน, การแสดงซอพื้นบ้านลำปาง คณะสายทอง, การแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม ในชุด สลุงหลวง ก๋องปู่จา ฮ่วมฮักษาปี๋ใหม่เมือง, การประกวด เทพบุตร-เทพธิดาสลุงหลวง, การจำหน่ายของดีจาก 13 อำเภอ และการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินนักร้อง กระแตและกระต่าย อาร์สยาม ณ สวนสาธารณะเขลางค์นคร ส่วนในวันที่ 12-13 เมษายน จัดให้มีขบวนแห่สลุงหลวงและขบวนแห่ปีใหม่เมืองอย่างยิ่งใหญ่ ณ ข่วงนคร (ห้าแยกหอนาฬิกา) สำหรับ สลุงหลวง หรือขันใหญ่ เป็นภาชนะหรือขันใส่น้ำขนาดใหญ่ ทำด้วยเงิน มีน้ำหนัก 38 กิโลกรัม โดยชาวลำปางได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างขึ้นในปี 2533 เพื่อใช้เป็นภาชนะใส่น้ำสรงพระเจ้าแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปางที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ดังนั้นเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือว่าเป็นวันเถลิงศกใหม่ของชาวล้านนา ประชาชนชาวลำปาง จึงได้ร่วมกันจัดประเพณีสรงน้ำพระเจ้าแก้วดอนเต้า สืบต่อกันมาตลอด โดยมีการจัดขบวนแห่สลุงหลวงเพื่อรับน้ำขมิ้น ส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม เพื่อใช้สรงองค์พระเจ้าแก้วดอนเต้า อันถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมแต่โบราณสืบเนื่องนานมา