10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสงกรานต์ภาคเหนือ
1. ชาวเหนือจะเรียกเทศกาลสงกรานต์ว่า “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง”
2. วันที่ 13 เมษายน วันแรกของประเพณีสงกรานต์ เรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” หรือ วันสังขารล่อง หรือ วันสังกรานต์ล่อง ซึ่ง “สังขานต์” คือคำว่า “สงกรานต์” ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “ก้าวล่วงแล้ว” สื่อความหมายถึงอายุของคนเราที่ล่วงเลยไปอีกปี
3. วันที่ 13 เมษายน ในตอนเช้าชาวบ้านจะยิงปืนหรือจุดประทัด เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายในปีเก่าให้พ้นไป จากนั้นจะเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน ทำความสะอาดร่างกายและแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ เพื่อต้อนรับปีใหม่
4. วันที่ 14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเนา” หรือ “วันเน่า” เพราะเป็นวันที่เชื่อว่าห้ามพูดจาหยาบคาย ห้ามว่าร้ายคนอื่น ถ้าพูดแล้วจะปากเน่า ไม่เจริญและโชคร้ายไปตลอดปี
5. วันที่ 14 เมษายน เรียกอีกอย่างว่า “วันดา” คือ เป็นวันที่เตรียมงานเตรียมของต่างๆ เช่น เครื่องสังฆทาน อาหารที่จะไปทำบุญ และใช้ในวันพญาวันหรือวันสงกรานต์ ช่วงบ่ายมีการขนทรายจากแม่น้ำไปไว้ที่วัดใกล้บ้าน มีการก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด และเตรียมตัดกระดาษสีต่างๆ มาทำตุงหรือธงเพื่อนำไปปักตกแต่งเจดีย์ทรายในวันพญาวัน
6. วันที่ 15 เมษายน เป็น “วันพญาวัน” หรือ “วันเถลิงศก” ถือเป็นวันเริ่มศักราชใหม่ ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังเทศนาธรรม อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ จากนั้นจะสรงน้ำพระเจดีย์ พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง พระสงฆ์ รวมไปถึงรดน้ำดำหัวครูบาอาจารย์ ผู้ที่เคารพนับถือ หรือบุคคลสำคัญในชุมชนนั้นๆ
7. วันพญาวันนิยมกินข้าวกับลาบ เพราะจะทำให้มีโชคลาภตลอดปี
8. มีการรดน้ำดำหัวขออโหสิกรรมและขอพรจากท่านผู้ใหญ่ ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และน้ำสะอาดผสมดอกไม้แห้ง ที่เรียกว่า น้ำขมิ้นส้มป่อย เมื่อผู้ใหญ่กล่าวอโหสิกรรมและให้พรแล้ว จะมีการนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาลูบหัวตัวเองเพื่อความเป็นศิริมงคล
9. วันที่ 16 เมษายน คือ “วันปากปี” ถือเป็นวันเริ่มต้นวันปีใหม่ จะมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีสืบชะตา และทำบุญขึ้นท้าวทั้งสี่ ซึ่งก็คือการไหว้เทพเจ้าประจำทิศ และมีการจุดเทียนต่ออายุชะตาภายในบ้านด้วย
10. เชื่อกันว่าวันปากปีจะกินข้าวกับแกงขนุนกัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีสิ่งดีๆ มาอุดหนุนค้ำจุนตลอดทั้งปี