กว่าจะมาเป็นหนังสือ

มีใครรู้บ้างว่าทุก ๆ ปี ต้นไม้ 34 ล้านต้นจะถูกตัดเพื่อนำมาทำเป็นกระดาษ กว่าจะได้กระดาษมาแต่ละแผ่นนั้น ต้องตัดต้นไม้ ต้องใช้ทรัพยากร สารเคมี และทำให้เกิดมลภาวะมากมายเพียงใดเพื่อให้ได้ปริมาณกระดาษที่เพียงพอต่อความต้องการ

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศที่สำนักหอสมุด เป็นเจ้าภาพจัดงาน “สัมมนาความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว ครั้งที่ 4 ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2560″ เลยอยากแนะนำเกี่ยวกับที่มาของหนังสือแต่ละเล่มที่อาจจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ใช้ตระหนักถึงการใชหนังสือที่มีให้บริการอย่างคุ้มค่า

กระดาษที่นำมาทำหนังสือมีกระบวนการผลิตอย่างไร

การผลิตกระดาษในประเทศไทยนิยมนำไม้ยูคาลิปตัส และไม้สนมาเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ด้วยการใช้เครื่องจักรตีปอกเปลือกออก หลังจากนั้น ทำการสับ และบดเนื้อไม้ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการต้มเยื่อ และแยกสารชนิดอื่นออก จากนั้น จะเข้าสู่การบดเยื่อ การฟอกสี การผสมเยื่อ การทำแผ่น การอบแห้ง การเคลือบผิว การขัดผิว การม้วนเก็บ และการตัดแผ่น ซึ่งจะมีรายลเอียดในกระบวนการที่ปลีกย่อยในแต่ละขั้นตอน

ถ้าต้องผลิตกระดาษ 1 ตันต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง

ต้นไม้ 17 ตัน
น้ำมันเตา 300 ลิตร
น้ำสะอาด 100 ตัน
คลอรีน 5 กิโลกรัม
ไฟฟ้า 1,000 กิโลวัตต์/ชม.

แล้วคราวนี้เรามาลองดูกันว่า หนังสือที่เราถืออยู่ในมือเหล่านี้ จะต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง และใช้ในปริมาณมากน้อยแค่ไหน สำหรับการผลิตให้ได้หนังสือ 1 เล่ม โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ “กว่าจะเป็นหนังสือ” (https://libdev2.kku.ac.th/hsm/) จัดทำโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ก่อนอื่นให้เราใส่น้ำหนักของหนังสือลงในตราชั่งก่อน แล้วคลิก “เริ่มต้น”

หลังจากนั้นเว็บไซต์จะแสดงข้อมูลปริมาณทรัพยากรต่าง ๆ ที่ต้องใช้สำหรับผลิตหนังสือเล่มนั้น

ต่อมาก็คลิกเข้าไปดูรายละเอียดของทรัพยากรแต่ละประเภท

เห็นแบบนี้แล้ว ก็อยากเชิญชวนให้ผู้ใช้บริการใช้หนังสือแต่ละเล่มอย่างคุ้มค่า มาหยิบอ่าน หรือยืมกลับบ้านกันเยอะ ๆ ให้คุ้มกับทรัพยากรต่าง ๆ ที่เสียไปในการผลิตหนังสือแต่ละเล่มกันค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : CreativeMove.com ;  ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย