อีกกระแสบนโลกดิจิตอลที่กำลังได้รับความสนใจ คงหนีไม่พ้นเรื่อง “การทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านเครือข่ายของระบบโทรศัพท์มือถือ” หรือที่เรียกว่า Mobile Payments ที่นับวันยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และกำลังก่อให้เกิดการทำธุรกรรมการชำระเงินยุคใหม่ ที่จะทำให้การชำระเงินค่าสินค้าและบริการในรูปแบบเดิมๆ เริ่มหยุดชะงักลงไป ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวมากขึ้น ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ
1) การเติบโตของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนและรูปแบบการใช้ชีวิตดิจิตอลที่เพิ่มมากขึ้น
2) โครงข่ายโทรคมนาคมและกระบวนการทำธุรกรรมทางด้านการเงินที่ดีขึ้น
3) การผลักดันการใช้ National e-payment หรือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน
ล่าสุด Marketbuzzz ในฐานะผู้นำนวัตกรรมการสำรวจวิจัยทางการตลาดรูปแบบใหม่บนมือถือ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริการหลักด้าน Mobile Research & Digital Media ภายใต้ระบบ Eco-System ของ Buzzebees จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคบนฐานข้อมูลของบัซซี่บีส์ ในหัวข้อ “การใช้มือถือในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่างๆ” โดยสำรวจคนไทยที่ใช้สมาร์ทโฟน รวมจำนวน 2,000 คน เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานะปัจจุบันของการใช้บริการในการชำระค่าสินค้าและบริการแบบดิจิตอล และสะท้อนให้เห็นว่ามือถือได้ส่งผลต่อวิถีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างไร
ข้อมูลหลักๆ ที่ได้จากผลสำรวจ แสดงให้เห็นว่า
50% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีการใช้งาน Mobile Payments รูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว Mobile Banking และ Mobile Shopping เป็นสองรูปแบบที่มีการใช้งานมากที่สุดด้วยจำนวนผู้ใช้มือถือกว่าครึ่งหนึ่งที่ใช้สองรูปแบบนี้ โดย Mobile Banking มีการใช้งานบ่อยครั้งกว่า เฉลี่ยใช้งานกว่า 6 ครั้งต่อเดือน และ Mobile Shopping ใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 ครั้งต่อเดือนมีเพียง 17% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ใช้ Mobile Wallet อยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโต พิจารณาจากจำนวนครั้งต่อเดือนที่ใช้ Mobile Wallet เฉลี่ยสูงถึง 5 ครั้ง ซึ่งใช้งานบ่อยครั้งกว่าธุรกรรมการชำระเงินในรูปแบบอื่นๆ ยกเว้น Mobile Banking มีการใช้งาน TrueMoney สูงสุดอยู่ที่ 51% ของกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟน รองลงมาคือ Line Pay ด้วยอัตราการใช้งานอยู่ที่30% และ mPay อยู่ที่ 28% ตามลำดับ ในขณะที่ Mobile Wallet ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สำหรับผู้ที่เคยใช้แล้ว ส่วนใหญ่สูงถึง 96% พบว่าใช้งานง่ายมากและยิ่งง่ายดายมากยิ่งขึ้นหากมี:
จุดให้บริการที่มากขึ้นและครอบคลุมทุกแห่ง – แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ยอมรับ โดยมีจุดให้บริการในหลายพื้นที่ ระบบการออกใบเสร็จที่ดีขึ้น – ไม่จำเป็นต้องมีใบเสร็จแบบกระดาษ แค่ใบเสร็จบนระบบก็เพียงพอ การใช้งานหน้าจอที่มีประสิทธิภาพ – เช่น การทำธุรกรรมแบบแตะและจ่าย (tap and go) รวดเร็วทันใจ สำหรับผู้ใช้ Mobile Payments จำนวน 2 ใน 3 กล่าวว่า พวกเขาจะใช้ Mobile Payments ในปริมาณเดียวกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ครั้งต่อเดือน และอีก 1 ใน 3 กล่าวว่า พวกเขาจะใช้ในปริมาณที่บ่อยครั้งมากขึ้น
ผู้บริโภคที่เคยใช้ Mobile Payments เกือบทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า อุปสรรคในการใช้ Mobile Payments จะลดลง ถ้าMobile Payments ทำให้การชำระค่าสินค้าและบริการมีความสะดวกง่ายดายมากขึ้น มีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น สามารถชำระเงินได้ทุกที่ทุกเวลา และรวดเร็วกว่าการชำระเงินรูปแบบอื่น ถึงแม้จะยังมีข้อกังวลอยู่บ้างในเรื่องของระดับความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม 55% ของผู้ใช้ยังเชื่อว่าระดับความปลอดภัยยังอยู่ในระดับสูง
ปัจจัยหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำ Cashless Society ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ FinTech ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึง TrueMoney ก็ถือเป็น FinTech ในด้าน e-Payment รายหนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น บริการ TrueMoney Wallet
โดยล่าสุดพบว่า ตัวเลขล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ใช้งานสูงสุดกว่า 8 แสนราย เพิ่มขึ้นจากปลายปี 2558 ที่มียอดการใช้งาน 6 แสนราย โดยล่าสุดกับแคมเปญอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา โดยพบว่ามีการใช้ WeCard ในการซื้อแอพพลิเคชั่นในแอพสโตร์ และเพลย์สโตร์ และอีกส่วนหนึ่งมาจากบริการโอนเงิน เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า คนไทยใช้งาน e-Wallet ทั้งสำหรับซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงโอนเงิน รับเงินในกลุ่มเพื่อน รวมถึงโอนเงินให้พ่อค้าออนไลน์แทนการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ยิ่งสามารถโอนเงินไปค่ายอื่นๆ เช่น mPay ทำให้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นี่คือตัวอย่างที่สะท้อนการพัฒนานวัตกรรมบริการด้าน FinTech เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปจากเดิม
ดังนั้น ยิ่งการใช้งาน e-Commerce แพร่หลายมากขึ้นเท่าไร บริการทางการเงินจะได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย จากวันนี้ไป จับตาดูกระแส Cashless Society ให้ดี เชื่อมั่นว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในสังคมไทยแน่นอน และไม่แน่ Cashless Society อาจจะเกิดขึ้นในห้องสมุดของเราในเร็วๆนี้ก็เป็นได้
Cr. techsauce, marketingoops