ประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง) กำเนิดและความเชื่อ

ประเพณีลอยกระทง เชื่อต่อๆ กันมานานว่าเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่หลักฐานที่จะใช้เชื่อมโยงกลับไปถึงสมัยนั้นกลับเบาบางไม่น่าเชื่อถืออย่าง ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ถูกอ้างมากที่สุด นักประวัติศาสตร์โดยมากก็เชื่อว่า เป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในยุครัตนโกสินทร์นี่เองดังนั้น ประเพณี “ยี่เป็ง” ของเชียงใหม่ ที่บางตำราอ้างว่าเป็นประเพณีโบราณที่รับต่อมาจากยุคสุโขทัยเป็นราชธานี ก็ยากที่จะเชื่อถือได้

การสันนิษฐานว่า คนในยุครัตนโกสินทร์เป็นผู้นำประเพณีนี้ไปเผยแพร่จึงมีความเป็นไปได้มากกว่า ดังที่ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เสนอว่า เจ้าดารารัศมีน่าจะเป็นคนแรกที่นำประเพณีนี้ลอยกระทงมายังเชียงใหม่

“…เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตามแบบประเพณีของกรุงเทพฯ ผู้ที่เริ่มการลอยกระทงในเชียงใหม่เป็นคนแรกน่าจะเป็นพระราชชายา เจ้าดารารัศมีในช่วงประมาณ พ.ศ. 2460-2470 โดยจุดเทียนบนกาบมะพร้าวทำเป็นรูปเรือเล็ก หรือรูปหงส์ และใช้ท่อนไม้ปอทำเป็นรูปเรือ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมทั่วไปเพราะชาวล้านนายังนิยมการประดับประทีปโคมไฟตามบ้านเรือน และมักจัด ตั้ง ธัมม์หลวง หรือเทศน์มหาชาติในวัน ‘เพ็ญเดือนยี่’ ตามประเพณีอยู่…”

หรือบ้างก็ว่า ข้าราชการกรุงเทพฯ ที่ขึ้นไปรับราชการที่เชียงใหม่แล้วได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำปิงในยุคพระเจ้าอินทวิชยานนท์น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่นำประเพณีลอยกระทงไปเผยแพร่ ภายหลังเจ้าแก้วนวรัฐฯ เมื่อย้ายคุ้มไปอยู่ริมน้ำปิง คงจะเป็นผู้นำชาวเชียงใหม่ลอยกระทงกับข้าราชการสยาม แล้วก็ค่อยๆ เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านตามลำดับ

แล้วเคยสงสัยหรือไม่ ว่าทำไมลอยกระทงของเชียงใหม่มี 2 วัน

“ลอยกระทง” เป็นงานรื่นเริงอย่างหนึ่งของคนไทย มีกำหนดจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี ซึ่งในช่วงเวลานี้น้ำจะหลากเอ่อล้นไปทั่วฝั่งแม่น้ำลำคลอง ดังคำโบราณว่า “เดือน 11 น้ำนอง เดือน 12 น้ำทรง” แต่ทางภาคเหนือของไทยซึ่งเดิมเรียกว่าภาคพายัพนั้นกลับจัดประเพณีลอยกระทงกันในวันเพ็ญเดือนยี่ หรือที่เรียกกันว่า วันยี่เป็ง คำว่า “เป็ง” ในภาษาเหนือนั้นตรงกับคำว่า “เพ็ญ” ในภาษาภาคกลาง ส่วน “ยี่” นั้น คือ เดือนยี่หรือเดือนที่ 2 ของปี สาเหตุที่การลอยกระทงในภาคเหนือต้องมาตกอยู่ในเดือนยี่เป็นเพราะ “…เมืองลาวเฉียง… ไม่ได้ใส่อธิกมาศสักสองปี…” จึงทำให้เดือนของภาคเหนือนั้นเคลื่อนไปจากภาคกลางถึง 2 เดือน

แม้จะเรียกชื่อวันและเดือนต่างกัน แต่คนไทยในภาคเหนือก็ยังคงจัดงานลอยกระทงในวันเดียวกันกับคนไทยภาคอื่นๆ จะมีที่ต่างอยู่บ้างก็ประเพณีลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่ที่จัดกันถึง 2 วัน คือ ในวันเพ็ญและวันแรม 1 ค่ำเดือนยี่เหนือ

ความเชื่อในวันยี่เป็ง

1. ประตูป่า

ถ้าใครมาเที่ยวเชียงใหม่ช่วงก่อนเทศกาลลอยกระทงสักประมาณ 1-2 วัน จะเห็นหน้าบ้าน วัด บริษัท หรือบางสถานที่ มีซุ้มประตูที่ทำจากต้นกล้วยหรือต้นอ้อย ประดับด้วยโคมไฟพื้นเมืองหรือโคมยี่เป็ง อาทิ โคมรังมดส้ม โคมไห โคมกระจัง โคมดาว โคมกระบอก โคมเงี้ยว โคมแอว โคมญี่ปุ่น และดอกไม้ไทย เช่น ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก นั่นคือประตูป่า ซึ่งตามความเชื่อของคนล้านนา ประตูป่าคือเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง เนื่องจากชาวล้านนาส่วนใหญ่นิยมฟังมหาเวสสันดรชาดก และว่ากันว่าหากใครฟังครบ 13 กัณฑ์ จะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและบ้านเมือง หากตัดเรื่องความเชื่อดังกล่าวแล้ว ประตูป่าเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจของคนในบ้าน ในบริษัท หรือในชุมชน ที่มาช่วยกันทำและประดับตกแต่งซุ้มประตูให้สวยงาม ในบางพื้นที่มีการประกวดประตูป่าด้วย

2. ผางประทีป

นอกจากลอยกระทงแล้ว กิจกรรมที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับชาวล้านนาในคืนยี่เป็ง นั่นคือการจุดผางประทีป คำว่า ผาง คือภาชนะดินเผาที่มีลักษณะคล้ายถ้วยเล็กๆ สำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมัน และเส้นฝ้ายสำหรับจุดไฟ ส่วนประทีป คือแสงสว่าง การจุดผางประทีปเกิดจากตำนานแม่กาเผือก เพื่อเป็นพุทธบูชาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) และพระศรีอริยะเมตไตร โดยเชื่อกันว่าเป็นการจุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณให้แก่ผู้มีพระคุณ ซึ่งชาวล้านนายึดถือสิบต่อกันมาว่าการจุดผางประทีปเป็นการสักการะต่อสรรพสิ่งที่เราได้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ประตูบ้าน กำแพง หน้าต่าง บันได อีกทั้งเชื่อว่าแสงสว่างของประทีปจะช่วยให้เกิดสติปัญญา มีแต่ความเฉลียวฉลาด มีแสงนำทางชีวิตให้มีแต่ความเจริญก้าวหน้า พอถึงช่วงเทศกาลยี่เป็งทุกบ้านทุกหลังคาเรือนในภาคเหนือ จึงเต็มไปด้วยแสงสว่างของผางประทีป นอกจากนี้บางแห่งยังมีการสาธิตและให้นักท่องเที่ยวได้ลองทำผางประทีป เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวช่วงลอยกระทงอีกอย่างหนึ่งด้วย

3. บอกไฟ

ตามธรรมเนียมของชาวล้านนา เมื่อถึงประเพณียี่เป็ง ตามวัดวาอารามต่างๆ จะเตรียมกันทำดอกไม้ไฟหรือบอกไฟ เพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี จุดบูชาประกอบพิธีเทศน์มหาชาติหรือตั้งธรรมหลวง และให้เด็กๆ ได้เล่นสนุกสนานกัน ซึ่งดอกไม้ไฟที่นิยมเล่นกันในช่วงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ไฟที่มีประกายแสงสวยงาม เช่น บอกไฟยิง บอกไฟลูกหนู บอกไฟข้าวต้ม และที่ขาดไม่ได้เลยคือพลุโอ่งหรือที่คนเมืองเรียกกันว่า ‘บอกไฟน้ำต้น’ ด้วยความที่มีพลุโอ่งมีประกายไฟออกมาเป็นพุ่มสวยงามคล้ายฝนห่าแก้วที่ปรากฏในธรรมมหาชาตินครกัณฑ์ บางคนเชื่อว่าจะเมื่อจุดในช่วงยี่เป็ง ช่วยให้ชีวิตรุ่งโรจน์โชติช่วงเหมือนกับประกายไฟของดอกไม้ไฟ

4. โคมลอย

ด้วยความเชื่อที่ว่าการสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี (พระธาตุประจำปีเส็ด หรือปีหมา) ที่ประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ คือการปล่อยว่าวไฟหรือโคมลอย ทำให้เกิดธรรมเนียมการปล่อยโคมขึ้น ต่อมายังเชื่อกันว่าการปล่อยโคมลอยเปรียบเสมือนการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก ปล่อยเรื่องที่ไม่ดีออกไปจากชีวิต โดยนิยมนำประทัดผูกติดกับแกนลวดและจุดชนวน หรือผูกสวยดอกไม้ติดไปกับโคมลอยด้วย อีกทั้งยังเคยเชื่อกันว่าหากโคมลอยตกที่บ้านใคร บ้านหลังนั้นจะเกิดเรื่องไม่ดีหรือมีแต่โชคร้าย

SONY DSC

5. ลอยกระทง

ตามประวัติศาสตร์ ว่ากันว่าบุคคลคนแรกที่ริเริ่มการลอยกระทงที่เชียงใหม่ คือพระราชชายาเจ้าดารารัศมี โดยใช้วิธีการจุดเทียนบนกาบมะพร้าวที่ทำเป็นรูปเรือหรือรูปหงส์ และใช้ไม้ปอทำเป็นเรือ ซึ่งหลังจากที่การลอยกระทงกลายเป็นประเพณีที่คนไทยทั่วทุกภูมิภาคนิยมปฏิบัติกัน ความเชื่อบางอย่างก็สืบทอดกันต่อมาด้วยเช่นกัน เช่น การตัดผมและเล็บใส่ในกระทง เพื่อเป็นการลอยเคราะห์โศกโชคร้ายต่างๆ ไปกับกระแสน้ำ บางคนก็นิยมใส่เหรียญหรือเงินลงไปในกระทง เพราะเชื่อว่าการให้ทานจะช่วยให้คำอธิษฐานสมหวัง ซึ่งหนุ่มๆ สาวๆ ส่วนใหญ่จะเชื่อเรื่องการขอพรด้านความรัก ในขณะที่ธัมม์อานิสงส์เดือนยี่เป็งลอยประทีสโคมไฟของพระพุทธเจ้าในตอนท้ายกล่าวไว้ว่า ในเดือนยี่เป็งใครทำประทีปโคมไฟไปลอยแม่น้ำ จะได้เป็นคนใหญ่คนโต เป็นที่เกรงขาม มีผิวพรรณงดงามดั่งดวงจันทร์วันเพ็ญ มีสติปัญญาเฉียบแหลม และเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติต่างๆ ทำให้ชาวล้านนาส่วนใหญ่นิยมไปลอยกระทงตามแม่น้ำในบริเวณชุมชนที่ตนอาศัย

กำหนดการงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ 2 พ.ย.- 4 พ.ย. 2560

สถานที่จัดงาน

ข่วงประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่

รายละเอียด

กิจกรรม : สืบสานวัฒนธรรม“งานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2560 ทั่วเมืองเชียงใหม่ โดยมีกิจกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนา ในงานมีกิจกรรม ได้แก่
– ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ต๋ามผางประทีปบูชาพระเจดีย์ ในวัดสำคัญต่างๆ
– การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง ในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2560 ณ ข่วงประตูท่าแพ
– กิจกรรมต๋ามผางปะติ๊ดถวายเป็นพุทธบูชา การสาธิตทำกระทงใบตอง การทำโคม การหยอดผางปะติ๊ด และการทำสะเปา ในวันที่ 2-5 พฤศจิกายน 2560 ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
– การประกวดเทพี-เทพบุตรยี่เป็ง ประจำปี 2560 ณ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
– การปล่อยกระทงสายสืบสานล้านนา ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ณ บริเวณลำน้ำปิง
– การประกวดขบวนแห่กระทงใหญ่ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ณ ข่วงประตูท่าแพ
– การจุดพลุเฉลิมพระเกียรติฯ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560
– การปล่อยโคมไฟบริเวณสะพานนวรัฐ ในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2560

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

สำนักงานท่องเที่ยวเทศบาลนครเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5325 9001, 0 5325 255

ที่มา