พระราชอารมณ์ขันของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“ยิ้มของฉัน”

เมื่อ พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เป็นที่สนใจต่อสื่อมวลชนของอเมริกาเป็นอย่างมาก จึงได้มีพระราชทานสัมภาษณ์ นักข่าวหนุ่มคนหนึ่งได้ทูลถามว่า “ทำไมพระองค์จึงทรงเคร่งขรึมนัก… ไม่ทรงยิ้มเลย?”
ทรงหันพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระนางเจ้าฯ พลางรับสั่งว่า “นั่นไง… ยิ้มของฉัน”

“ชื่อเดียวกันเลย”

เรื่องการใช้ราชาศัพท์กับในหลวงดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครต่อใครเกร็งกันทั้งแผ่นดิน เพราะเรียนมาตั้งแต่เล็กแต่ไม่เคยได้ใช้ เมื่อออกงานใหญ่จึงตื่นเต้นประหม่า ซึ่งเป็นธรรมดาของคนทั่วไป และไม่เว้นแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงาน หรือกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระราชานุกิจต่างๆนานัปการ

ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ เคยเล่าให้ฟังว่า ด้วยพระบุญญาธิการและพระบารมีในพระองค์นั้นมีมากล้น จนบางคนถึงกับไม่อาจระงับอาการกิริยาประหม่ายามกราบบังคมทูลฯ จึงมีผิดพลาดเสมอ แม้จะซักซ้อมมาเป็นอย่างดีก็ตาม

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งกราบบังคมทูลรายงานว่า “ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า “พลตรีภูมิพลอดุลยเดช” ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลรายงาน…” เมื่อคำกราบบังคมทูล ในหลวงทรงแย้มพระสรวลอย่างมีพระอารมณ์ดีและไม่ถือสาว่า “เออ ดี เราชื่อเดียวกัน…” ข่าวว่าวันนั้นผู้เข้าเฝ้าฯต้องซ่อนหัวเราะขำขันกันทั้งศาลาดุสิดาลัย เพราะผู้กราบบังคมทูลรายงานตื่นเต้นจนกระทั่งจำชื่อตนเองไม่ได้

“คล่องราชาศัพท์”

อีกครั้งหนึ่งที่ภาคอีสาน เมื่อเสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมบนบ้านของราษฎรผู้หนึ่ง คณะผู้ตามเสด็จทั้งหลายต่างก็แปลกใจในการกราบบังคมทูลที่คล่องแคล่ว และใช้ราชาศัพท์ได้ดีอย่างน่าฉงนของราษฎรผู้นั้น เมื่อในหลวงมีพระราชปฏิสันถารถึงการใช้ราชาศัพท์ได้ดีนี้ จึงมีคำกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเป็นโต้โผลิเกเก่า บัดนี้มีอายุมากจึงเลิกรามาทำนาทำสวน พระพุทธเจ้าข้า..”

มาถึงตอนสำคัญที่ทรงพบนกในกรงที่เลี้ยงไว้ที่ชานเรือน ก็ทรงตรัสถามว่า เป็นนกอะไรและมีกี่ตัว.. พ่อลิเกเก่ากราบบังคมทูลว่า “มีทั้งหมดสามตัว พระมเหสีมันบินหนีไป ทิ้งพระโอรสไว้สองตัว ตัวหนึ่งที่ยังเล็ก ตรัสอ้อแอ้อยู่เลย และทิ้งให้พระบิดาเลี้ยงดูแต่ผู้เดียว” เรื่องนี้ ดร.สุเมธเล่าว่าเป็นที่ต้องสะกดกลั้นหัวเราะกันทั้งคณะ ไม่ยกเว้นแม้แต่ในหลวง…

“ซุ้มสำหรับในหลวง”

ระยะแรกราวปี พ.ศ.2498 เป็นต้นมา คราใดที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวลนั้น จะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท้องที่ห่างไกลทุรกันดารย่านหัวหิน หนองพลับ แก่งกระจาน ด้วยพระองค์เอง ทำนองเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ห้า โดยที่ราษฎรไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าทรงมาถึงแล้ว

วันหนึ่งทรงขับรถยนต์พระที่นั่งผ่านไปถึงยังบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านหมู่บ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน ซึ่งราษฎรกำลังช่วยกันตบแต่งประดับซุ้มรับเสด็จกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง และไม่คาดคิดว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ จึงไม่ยอมให้รถผ่าน …

ต้องให้ในหลวงเสด็จฯก่อนแล้วพรุ่งนี้ถึงจะลอดผ่านซุ้มได้… วันนี้ห้ามลอดผ่านซุ้มนี้ เพราะขอให้ในหลวงผ่านก่อน พระองค์จึงทรงขับรถพระที่นั่งเบี่ยงออกข้างทางไม่ลอดซุ้มดังกล่าว….  วันรุ่งขึ้นเมื่อทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านนี้อย่างเป็นทางการพร้อมคณะข้าราชบริพารผู้ติดตาม และทรงมีพระดำรัสทักทายกับชายผู้นั้นที่เฝ้าอยู่หน้าซุ้มเมื่อวันวานว่า “วันนี้ฉันเป็นในหลวง..คงผ่านซุ้มนี้ได้แล้วนะ..”

ปริญญาบัตรหนัก 230 กิโลกรัม

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เคยเล่าให้นายวิลาศฟังว่า ปีหนึ่งที่วิทยาลัยประสานมิตร (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานปริญญาบัตรเสร็จ ก็มีพระราชปุจฉากับหม่อมหลวงปิ่นว่า

“วันนี้ฉันได้ให้ปริญญาบัตรไปกี่กิโล?”

เมื่อได้ยินเช่นนั้น หม่อมหลวงปิ่นก็อึกอัก เพราะไม่ได้ให้ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีชั่งน้ำหนักปริญญาบัตรไว้ก่อนล่วงหน้า

แต่ในปีต่อมา อธิบดีของวิทยาลัยได้เตรียมพร้อมชั่งน้ำหนักปริญญาบัตรทั้งหมดไว้ล่วงหน้าก่อนเป็นที่เรียบร้อย หม่อมหลวงปิ่นจึงกราบบังคมทูลพระองค์ว่า

“วันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานปริญญาบัตรไปจำนวนทั้งหมด 230 กิโลกรัม”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงพระราชปุจฉากับหม่อมหลวงปิ่นว่า

“ฉันจะต้องได้อาหารสักกี่แคลอรี จึงจะพอชดเชยกับแรงงานที่ได้เสียไป?”

“…เราจับได้แล้ว…”
ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ…ครั้งหนึ่งในงานนิทรรศการ “ก้าวไกลไทยทำ” วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 The BOI Fair 1995 Commemorates the 50th Anniversary of His Majesty King Bhumibol Adulyadej’s Reign” (Board of Investment Fair 1995 BOI)

หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามศาลาการแสดงต่างๆ ก็มาถึงศาลาโซนี่ (อิเล็กทรอนิกส์) ภายในศาลาแต่งเป็น “พิภพใต้ทะเล” โดยใช้เทคนิคใหม่ล่าสุด “Magic Vision” น้ำลึก 20,000 Leagues จะมีช่วงให้เห็นสัตว์ทะเลว่ายผ่านไปมา ปลาตัวเล็กๆสีสวยจะว่ายเข้ามาอยู่ตรงหน้า ข้อสำคัญเขาเขียนป้ายไว้ว่า…ถ้าใครจับปลาได้ เขาจะให้เครื่องรับโทรทัศน์ พวกเราไขว่คว้าเท่าไหร่ก็จับไม่ได้ เพราะเป็นเพียงแสงเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า “เราจับได้แล้ว” พร้อมทั้งทรงยกกล้องถ่ายรูปชูให้ผู้บรรยายดู แล้วรับสั่งต่อ “อยู่ในนี้” ต่อจากนั้นคงไม่ต้องเล่า เพราะเมื่ออัดรูปออกมาก็จะเป็นภาพปลาและจับต้องได้ บริษัทโซนี่จึงต้องน้อมเกล้าฯถวายเครื่องรับโทรทัศน์ตามที่ประกาศไว้…

“ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้น เชื้อโรคตายหมด”
เรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านให้เพื่อนๆฟังตั้งหลายเรื่อง วันนี้เริ่มเรื่องนี้ก่อนแล้วกันนะ เรื่องมีอยู่ว่า เหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2513 วันนั้นท่านเสด็จฯไปหมู่บ้านท้ายดอยจอมหด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ใหญ่บ้านลีซอกราบทูลชวนให้ไปแอ่วบ้านเฮา ท่านก็เสด็จฯตามเขาเข้าไปในบ้านซึ่งทำด้วยไม้ไผ่และมุงหญ้าแห้ง เขาเอาที่นอนมาปูสำหรับประทับ แล้วรินเหล้าทำเองใส่ถ้วยที่ไม่ค่อยจะได้ล้าง จนมีคราบดำๆจับ ทางผู้ติดตามรู้สึกเป็นห่วง เพราะปกติไม่ทรงใช้ถ้วยมีคราบ จึงกระซิบทูลว่า ควรจะทรงทำท่าเสวย แล้วส่งถ้วยพระราชทานผู้ติดตามจัดการ  แต่ท่านก็ทรงดื่มเองจนหมด ตอนหลังรับสั่งว่า “ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้น เชื้อโรคตายหมด”

“เพื่อน 63 คนของฉัน”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงคุ้นเคยกับ ‘บ็อบ โฮป’ (Bob Hope) ดาราฮอลลีวูดชื่อดังในอดีตเป็นอย่างดี นับตั้งแต่ที่ดาราผู้นี้เคยแวะมาที่กรุงเทพฯ ก่อนไปเปิดการแสดงกล่อมขวัญทหารอเมริกันในเวียดนาม เพราะมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ที่วังสวนจิตรลดา โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงดินเนอร์

บ็อบได้กราบบังคมทูลพระองค์ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพาเพื่อนไปด้วย”

พระองค์รับสั่งตอบว่า “ได้เลย ไม่ขัดข้อง พาเพื่อนของคุณมาได้เลย”

เมื่อบ็อบได้ยินดังนั้นจึงกราบบังคมทูลว่า “ต้องขอบพระราชหฤทัยแทนเพื่อน 63 คนของข้าพระพุทธเจ้าด้วย”

คืนนั้นดาราชายได้นำวงดนตรีของตนเข้าไปเล่นถวายในวังสวนจิตรลดาจนดึก จึงกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ที่บ้านพักของตัวเอง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงรับสั่งว่า “ยินดี ฉันพาเพื่อน 63 คนของฉันไปด้วยนะ?”

บ็อบกราบบังคมทูลด้วยเสียงอ่อยๆ ว่า “คิดด้วยเกล้าฯ ว่าตกลงพ่ะย่ะค่ะ”

“ไม่ขึ้นเงินเดือน” 

ด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดการถ่ายภาพ และทรงถ่ายภาพต่างๆอยู่เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ไปปรากฏอยู่ในนิตยสาร “สแตนดาร์ด” ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงมีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันแก่ผู้ใกล้ชิดผู้หนึ่งถึงการเป็นช่างภาพอาชีพของพระองค์ว่า…
“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ด ได้เงินเดือนละ ๑๐๐ บาท ตั้งหลายปีมาแล้วจนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายเดือนละ ๑๐๐ บาทอยู่เรื่อยมา”

มะขามป้อมกับภูเขา

ครั้งหนึ่งหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปีนขึ้นไปบนสันเขาลูกใหญ่ลูกหนึ่ง มีผู้กราบบังคมทูลถามพระองค์ว่า ภูเขาลูกใหญ่ที่ปีนเมื่อวานซืนกับภูเขาลูกนี้ ลูกใดสูงกว่ากัน?

พระองค์จึงตรัสตอบว่า “ลูกวานซืนนี้สูงกว่า เพราะฉันเคี้ยวมะขามป้อมถึง 5 ลูกกว่าจะถึงยอด แต่วันนี้เคี้ยวมะขามป้อมไปเพียงแค่ 3 ลูกเท่านั้น”

ที่มา