ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดา ที่ทำงานที่โรงเรียนจิตรลดามานานเกือบ 6 ทศวรรษแล้วและท่านยังคงยึดมั่นในพระบรมราโชบายด้านการศึกษาที่ได้พระราชทานไว้เป็นแนวทาง
“ดิฉันภาคภูมิใจที่ได้เคยถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งก่อตั้งมาครบ 60 ปี แล้ว โดยมีท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งโรงเรียนจิตรลดาเริ่มมีชั้นอนุบาลที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯทรงเป็นนักเรียนจิตรลดาพระองค์แรก ต่อมาใน พ.ศ. 2500 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้าศึกษาในชั้นอนุบาล ท่านผู้หญิงทัศนีย์ได้เรียกให้ดิฉันเข้ามาช่วยถวายการสอนและเป็นครูประจำชั้น”
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและละเอียดอ่อนทางด้านการศึกษา พระองค์ทรงวางรากฐานเริ่มแรกว่า เด็กเพิ่งมาจากบ้าน อย่าบังคับ ครูควรทำให้เด็กรู้สึกว่าที่โรงเรียนเหมือนบ้านหลังที่สอง และดูแลเขาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งหัดให้เด็กดูแลตัวเองได้รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและรู้จักระเบียบวินัย ถ้าหัดได้อย่างดี เด็กก็จะจำและนำไปใช้จนเป็นผู้ใหญ่ และจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป นักเรียนในชั้นสูงขึ้น ทรงเน้นว่าไม่ควรเรียนเฉพาะในหนังสือ แต่ควรมีความรู้รอบตัวด้วย พระองค์ท่านจะเสด็จฯมาทอดพระเนตรการสอน การตรวจสมุดแบบฝึกหัดของครู พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายและพระราชดำริอย่างใกล้ชิด”
“พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรส พระราชธิดาได้เข้าพระทัยสภาพแวดล้อมภายนอกและปัญหาของผู้อื่น ฉะนั้นเด็กที่เข้ามาเรียนร่วมในชั้นเดียวกันจะมีหลายสถานภาพ ในชั้นเรียนของทูลกระหม่อมหญิงมีพระสหายร่วมชั้นเรียน ซึ่งมาจากครอบครัวต่างสถานภาพ และในชั้นเรียนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯก็เช่นเดียวกันทรงมีพระบรมราโชบายไม่ให้ครูถวายสิทธิพิเศษแด่พระราชโอรสพระราชธิดา เพื่อจะได้ทรงวางพระองค์อย่างถูกต้อง มีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบ”
“พระราชวิสัยทัศน์อีกประการหนึ่งคือ มีรับสั่งอยู่เสมอว่า คนเรามีความรู้ความสามารถไม่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องดูความถนัดของแต่ละบุคคลหาสิ่งที่เขาถนัดมาให้ศึกษา”
ที่มา: http://www.praew.com/42584/people/9-the-genius-of-inspiration/