ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา  “อัครศิลปิน”

“ดนตรีทุกชนิดเป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่ง มนุษย์เกือบทั้งหมดชอบและรู้จักดนตรี ตั้งแต่เยาว์วัยคนเริ่มรู้จักดนตรีบ้างแล้ว ความรอบรู้ทางดนตรีอย่างกว้างขวางย่อมขึ้นกับเชาวน์ และสามารถในการแสดงของแต่ละคน อาศัยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ในระหว่างศิลปะนานาชนิด ดนตรีเป็นศิลปะที่แพร่หลายกว่าศิลปะอื่น ๆ และมีความสำคัญในด้านการศึกษาของประชาชนทุกประเทศด้วย”

กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายหลังที่สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรเกียรติคุณชั้นสูง ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2507 โดยเป็นพระราชดำรัสตอบในภาษาเยอรมัน (ม.ล.เดช สนิทวงศ์ แปลและถ่ายทอดเป็นภาษาไทย)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา ขณะประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงเรียนกับนายเวย์เบรชท์ (Weybrecht) ชาวอัลซาส (Alsace) เรื่องการเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่าง ๆ ในแนวดนตรีคลาสสิกเป็นเบื้องต้น ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนจนชำนาญ ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน, คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโนและกีตาร์ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลังเพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลงและเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์

แนวดนตรีที่พระองค์โปรดคือแจ๊สดิ๊กซีแลนด์ (Dixieland Jazz) ซึ่งมีที่มาจากชื่อวงดนตรีแจ๊สนักดนตรีผิวขาว The Original Dixieland Jazz Band เป็นสไตล์ของวงดนตรีจากเมืองนิวออร์ลีนส์ เป็นแจ๊สที่มีจังหวะและความสนุกเร้าใจ ตื่นเต้น ครึกครื้น สนุกสนานเร้าใจ The Preservation Hall Jazz Band วงดนตรีแจ๊สจากนิวออร์ลีนส์คือวงโปรดของพระองค์ ซึ่งเล่นดนตรีกันสด ๆ ไม่มีโน้ต ทำให้นักดนตรีต้องใช้ความสามารถมาก

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จนิวัตประเทศไทย ได้ทรงรวบรวมพระประยูรญาติที่เป็นนักดนตรีมาจัดตั้งวงดนตรีลายคราม เป็นวงดนตรีส่วนพระองค์ ร่วมเล่นดนตรี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ทุกเย็นวันศุกร์ กระทั่งในปี พ.ศ. 2495 กรมประชาสัมพันธ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องส่งวิทยุกำลังส่ง 100 วัตต์ พระองค์จึงทรงจัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ ตลอดจนข่าวสารต่างๆ แก่ประชาชน โดยวงดนตรีลายครามได้มีโอกาสบรรเลงเพลงผ่านทางสถานีวิทยุ อ.ส. วันศุกร์ หรืออัมพรสถานวันศุกร์

ขณะมีพระชนมายุได้ 18 พรรษา ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลง และในปี พ.ศ. 2489 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “แสงเทียน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก จนถึงปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง แต่ละเพลงมีท่วงทำนองที่ไพเราะประทับใจผู้ฟัง สอดคล้องกับเนื้อหาเพลงซึ่งมีความหมายดีงาม ทั้งในแง่ของภาษาและการสื่อถึงเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง พระองค์ทรงประพันธ์ทำนองเองทั้งหมด แต่ละเพลงล้วนมีความไพเราะอย่างน่าทึ่ง ทั้งยังมีเอกลักษณ์ในการประพันธ์ทำนองของพระองค์เอง เวลาที่ศิลปินแต่งเพลง เรามักจะรู้สึกได้ว่าเขามีแรงบันดาลใจจากใคร อาจเป็นศิลปินไทยด้วยกันหรือศิลปินต่างประเทศ

แต่สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์นั้นมีท่วงทำนองเฉพาะตัวมาก และหากนักดนตรีท่านใดเคยแกะตามเพลงพระราชนิพนธ์ จะพบว่าภายใต้ความงดงามของเมโลดี้นั้น มีการใช้ทฤษฎีดนตรีขั้นสูงที่แม้แต่นักดนตรีอาชีพยังคิดไม่ถึง อย่างเช่นการใช้โน้ตที่อยู่นอกทางคอร์ดปกติแล้วไปลงกับเมโลดี้โดยไม่ผิดทฤษฎี ทำให้บางครั้งนักดนตรีที่ได้เล่นหรืออัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาเรียบเรียงใหม่จะรู้สึกว่าเล่นแล้วไม่เหมือนในบางท่อนหากไม่ได้ค้นพบความลึกซึ้งของการประพันธ์ที่ซ่อนอยู่ในเพลงนั้น ๆ

นอกจากพระอัจฉริยภาพในการประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงเพลงแล้ว ในบทเพลงพระราชนิพนธ์ก็มีเพลงที่ทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษในเพลง “Still on My Mind”, “Old-Fashioned Melody”, “No Moon”, “Dream Island”, “ECHO” ซึ่งล้วนแล้วแต่มีภาษางดงามดั่งกวี นอกจากนั้นบทเพลงพระราชนิพนธ์ยังได้รับการอัญเชิญจากศิลปินชื่อดังและวงออร์เคสตราระดับโลกไปบรรเลงในงานคอนเสิร์ตซึ่งจัดขึ้นในวาระสำคัญต่าง ๆ ทั้งพระองค์ท่านได้ทรงดนตรีกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย อาทิ Benny Goodman, Louis Armstrong, Jack Teagarden, Stan Getz นักดนตรีระดับโลกเหล่านี้ต่างให้การยกย่องในพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์เป็นอย่างมาก

หนึ่งในเพลงพระราชนิพนธ์ที่ชื่อว่า “Alexandra” มีประวัติย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2502 เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนเมืองไทยอย่างเป็นทางการ โดยพระองค์เสด็จฯ ไปรับด้วยพระองค์เองที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างที่รอเครื่องบินลงจอดราว 10 นาทีเท่านั้น พระองค์ทรงประพันธ์ทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ “Alexandra” ขึ้นเพื่อต้อนรับเจ้าหญิง จากนั้นทรงส่งโน้ตเพลงให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์เนื้อร้อง บทเพลงพระราชนิพนธ์นี้ได้รับการอัญเชิญไปบรรเลงเฉพาะพระพักตร์ของเจ้าหญิงอเล็กซานดราและคณะผู้ติดตามในงานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นทางการ สร้างความประทับใจให้พระราชอาคันตุกะเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ และร่วมทรงดนตรีกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายครั้งระหว่างการเสด็จเยือนต่างประเทศ

ด้วยพระอัจฉริยภาพอันสูงส่งด้านดนตรีของพระองค์นั้น สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (Academy for Music and Performing Arts) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรเกียรติคุณชั้นสูงแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ ลำดับที่ 23 พร้อมทั้งจารึกพระปรมาภิไธยลงบนแผ่นศิลาของสถาบัน ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นชาวเอเชียเพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงมุมหนึ่งในพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ท่าน และเชื่อว่าทุกคนย่อมมีดนตรีในหัวใจไม่มากก็น้อย ดังพระราชดำรัสแก่นักข่าวอเมริกันในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ความตอนหนึ่งว่า

“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างกันออกไป”


Did You Know?
     – พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ คือผู้ถวายงานด้านการประพันธ์เนื้อร้องประกอบทำนองเพลงพระราชนิพนธ์อันดับแรก “แสงเทียน” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และได้ทรงเริ่มประพันธ์คำร้องถวายตั้งแต่ครั้งนั้น และยังทรงประพันธ์คำร้องถวายอีก 28 เพลง เช่น “ยามเย็น”, “สายฝน”, “เทวาพาคู่ฝัน”, “แก้วตาขวัญใจ”, “ลมหนาว”, “แสงเดือน”, “พรปีใหม่” ฯลฯ

     – พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นวันและเดือนเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต

ขอบคุณข้อมูลจาก GQ Thailand ; kingramamusic.org ; หนังสือพระเจ้าอยู่หัว โดย กรมวิชาการ