ผลงานการประดิษฐ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

1. เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนซ้ำแบบทุ่นลอย (กังหันน้ำชัยพัฒนา)

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 3127 ยื่นคำขอวันที่ 2 มิ.ย. 2535 ประกาศวันที่ 1 ส.ค. 2535
กังหันน้ำชัยพัฒนา คือ กังหันบำบัดน้ำเสียซึ่งทำงานด้วยการหมุนปั่นเพื่อเติมอากาศ (ออกซิเจน) เพื่อให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี โดยสามารถลอยขึ้นลงได้เองตามระดับน้ำ โดยสามารถใช้ได้กับน้ำเพื่อการอุปโภค น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร ถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำแก่ปวงชนอย่างยั่งยืน

2. เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 10304 ยื่นคำขอวันที่ 16ม.ค.2544 ประกาศวันที่ 19 ม.ค.2544

เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำเป็นเครื่องกลเติมอากาศซึ่งต่อยอดจากแบบทุ่นลอย ใช้ในการเติมออกซิเจนลงไปใต้ผิวน้ำจนถึงด้านล่างของแหล่งน้ำ โดยในปี พ.ศ. 2533 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริให้มีการจัดสร้างเครื่องกลเติมอากาศ RX-5 โดยพระราชทานภาพลายฝีพระหัตถ์เครื่องกลเติมอากาศทางโทรสารให้กรมชลประทานจัดสร้างและได้มีการพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นเครื่องกลเติมกาศ RX-5C ในปี พ.ศ. 2542

3. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล (น้ำมันไบโอดีเซล)

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 10764 ยื่นคำขอวันที่ 9 เม.ย. 2544 ประกาศวันที่ 18 เม.ย.2544

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงคุณประโยชน์ของน้ำมันปาล์ม  ด้วยแนวโน้มราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทรงโปรดให้ทำการวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น ‘ปาล์มดีเซล’ ซึ่งใช้กันทั้งในภาครัฐและเอกชน สามารถใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเป็นการใช้พลังงานทดแทนจากพืชโดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นๆ หรืออาจใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลได้ตั้งแต่ 0.01% ไปจนถึง 99.99%

4. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ 2 จังหวะ

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 841 ยื่นคำขอวันที่ 23 ส.ค. 2545 ประกาศวันที่ 11 ต.ค.2545

เป็นการใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ทดแทนน้ำมันหล่อลื่นที่ได้จากน้ำมันปิโตรเลียม สำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ เช่น เครื่องรถมอเตอร์ไซค์ เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ปาล์มเป็นพืชที่ให้ปริมาณน้ำมันต่อพื้นที่ปลูกสูงและสามารถผลิตใช้เองได้ภายในประเทศ

5. การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน (ฝนหลวง)

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 13898 ยื่นคำขอวันที่ 28 ส.ค. 2545 ประกาศวันที่ 30 ส.ค. 2545 เป็น

“ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี”  คือขั้นตอนการทำฝนหลวงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงคิดค้นขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งบริเวณพื้นที่นอกเขตชลประทาน เนื่องจากประชาชนไม่มีน้ำเพื่ออุปโภคและใช้ในการเกษตร โดยกรรมวิธีก็คือการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ด้วยการส่งเครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า ซึ่งขึ้นอยู่กับความชื้นของเมฆและสภาพทิศทางลมประกอบกัน หากความร้อนชื้นปะทะความเย็น ฝนก็จะตกลงมาในที่สุด

6. ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย

สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 14859 ยื่นคำขอวันที่ 16 ม.ค. 2546 ประกาศวันที่ 20 ก.พ. 2546

พระองค์ทรงออกแบบขณะทรงพระประชวร เป็นภาชนะที่ทรงออกแบบไว้เฉพาะสำหรับรองรับปัสสาวะของผู้ป่วย และราคาประหยัดกว่าอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

7. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว (ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง)

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 16100 ยื่นคำขอวันที่ 27 ธ.ค. 2545 ประกาศวันที่ 29 ก.ค. 2546

เป็นเครื่องยนต์ที่ขับดันน้ำเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเรือ ช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์น้ำท่วม โดยการผลักดันระบายน้ำในแม่น้ำและคูคลองต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้ไหลออกสู่ทะเลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8. กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน)

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 22637 ยื่นคำขอวันที่ 21 มิ.ย.2550 ประกาศวันที่ 5 ก.ค.2550

ใช้วิธีการเลียนแบบธรรมชาติเพื่อแกล้งให้ดินมีสภาพเปรี้ยวจัดก่อน แล้วทำการชะล้างความเปรี้ยวของดินและฟื้นฟูหน้าดินด้วยปูนขาว เป็นการช่วยเหลือเกษตกรเพื่อให้กลับมาเพาะปลูกพืชผลในผืนดินเดิมได้อีกครั้ง

9. ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 2909 ยื่นคำขอวันที่ 15 ก.ค. 2553 ประกาศวันที่ 29 ก.ค. 2553

เป็นการนำต้นพืชบางชนิดที่สามารถดูดซึมสารปนเปื้อนมาเป็นอาหารในการเจริญเติบโต เช่น ต้นกก ต้นเตย ต้นพุทธรักษา ทำให้สาหร่ายไม่มีอาหารในการเจริญเติบโต เพราะการเติมอากาศแม้เป็นการเพิ่มศักยภาพของสิ่งมีชีวิตให้ดำรงชีวิตและเติบโต แต่การเติมอากาศเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำเขียวอันเกิดจากสาหร่ายออกได้ จึงจำเป็นต้องนำพืชมาช่วยลดปริมาณแร่ธาตุสารอาหารในน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของน้ำเสีย

10. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 29162 ยื่นคำขอวันที่ 4 พ.ค. 2553 ประกาศวันที่ 11 ส.ค. 2553

เป็นเครื่องกลที่ประกอบด้วยใบพัด ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานจากความเร็วของกระแสน้ำให้เป็นพลังงานกล โดยพระราชทานชื่อโครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์และชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ว่า “อุทกพลวัต” ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการมวลน้ำให้ออกสู่ทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อบริเวณที่อยู่อาศัยและพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นวิธีการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง

11. โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์และชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ “อุทกพลวัต”

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 29163 ยื่นคำขอวันที่ 4 พ.ค. 2553 ประกาศวันที่ 11 ส.ค. 2553

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์และชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์  ว่า “อุทกพลวัต” หมายถึง กังหันผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำไหล โดยสิ่งประดิษฐ์นี้นำไปติดตั้งที่บริเวณคลองลัดโพธิ์ให้มีหน้าที่บริหารจัดการมวลน้ำ ให้ออกสู่ทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยของราษฎร และพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้เมื่อน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ทำให้น้ำไม่ท่วมในบริเวณนั้น ทั้งที่เกือบทุกปีก่อนหน้านี้น้ำท่วมตลอดมา

 

ส่วนสิ่งประดิษฐ์ที่กำลังอยู่ในระหว่างยื่นคำขอ มี 2 ชิ้น ได้แก่

1.น้ำลายเทียมชนิดเจลสำหรับผู้ที่มีภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย (วุ้นชุ่มปาก) รสมิ้นท์-มะนาว

2.น้ำลายเทียมชนิดเจลสำหรับผู้ที่มีภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย (วุ้นชุ่มปาก) รสสตรอเบอร์รี

เพราะภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย ทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและได้รับความทุกข์ทรมานในการดำรงชีวิต มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงดำเนิน “โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจล” ขึ้น จนได้ผลิตภัณฑ์ชื่อว่า “วุ้นชุ่มปาก (Oral Moisturizing Jelly)” มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำลายที่หลั่งออกมาตามธรรมชาติมาก สามารถปรับสมดุลของสิ่งแวดล้อมในช่องปากให้เป็นกลางโดยไม่ก่อให้เกิดการละลายของผิวฟัน และไม่ดึงเอาแร่ธาตุออกจากฟัน ทั้งยังมีความปลอดภัย กลืนเพื่อให้ความชุ่มชื้นในลำคอได้ ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นในช่องปากทั่วไปที่มีวัตถุกันเสียจึงไม่สามารถกลืนลงคอได้

ด้วยพระอัจฉริยภาพทางด้านการประดิษฐ์ ทำให้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล WIPO Global Leaders Award หรือ รางวัลผู้นำทรัพย์สินทางปัญญาโลก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนับเป็นรางวัลแรกของ WIPO ที่จัดทำขึ้นและถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นลำดับแรก นอกจากนี้ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาจากองค์กรการประดิษฐ์นานาชาติว่าเป็น “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก” ทุกนวัตกรรมจากพระราชดำริของพ่อหลวง ล้วนเกิดมาเพื่อบำบัดทุกข์ สร้างประโยชน์สุขแก่พสกนิกรทรงเป็นทั้งนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ และพ่อที่อยู่ในดวงใจของชาวไทยตลอดกาล

ที่มา