นับเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ควรอ่าน สำหรับหนังสือ “เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ” ที่จัดทำขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มิวเซียมสยาม จัดพิมพ์เพื่อเป็นหนังสือวิชาการว่าด้วยพระราชพิธีพระบรมศพ และพระเมรุมาศ ในมุมของประวัติศาสตร์ ศิลปะโบราณคดี และคติความเชื่อที่ว่าด้วยความตาย เขียนโดยคณาจารย์ นักวิชาการ นักเขียน ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มานุษยวิทยา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นบรรณาธิการ
โดยหนังสือเล่มนี้มีความหนา 402 หน้า ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านบทความต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ ไม่จำเป็นต้องอ่านเรียงลำดับบทความ และในแต่ละบทความจะมีภาพประกอบที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องราวได้มากขึ้น ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สังคมของไทย และประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เมียนมา และอินเดีย ไปจนถึงวัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของคนไทย
หากมองในภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ สามารถแบ่งพระราชพิธีพระบรมศพออกได้เป็น 4 ส่วนหลัก คือ
- ส่วนแรก การจัดการเกี่ยวกับพระบรมศพนับจากการสรงน้ำจนถึงบรรจุลงในพระโกศ
การชำระร่างกายให้บริสุทธิ์เพื่อเดินทางไปสู่ภพหน้าถือเป็นขั้นตอนแรกในการปฏิบัติต่อศพในหลายวัฒนธรรม ในกรณีของไทย การสรงน้ำพระบรมศพ (อาบน้ำศพ) จะปฏิบัติภายหลังเมื่อกษัตริย์พระองค์นั้นเสด็จสู่สวรรคาลัย บ้างเชื่อว่าการอาบน้ำศพเป็นการชำระพระวรกายให้สะอาดก่อนเดินไปยังภพหน้าหรือเตรียมตัวสำหรับไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์ การอาบน้ำศพจะใช้น้ำร้อนก่อนแล้วตามด้วยน้ำเย็น และใช้ขมิ้นชันสดกับผิวมะกรูดขัดสีให้ทั่วร่างกายอีกที จากนั้นจึงถวายพระสุคนธ์ (เครื่องหอม) แล้วพระมหากษัตริย์นำพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารสรงน้ำลงบนพระบาท หลังจากนั้นจึงทำการถวายสางพระเกศา (ผม) โดยใช้พระสางไม้ เสร็จแล้วจึงหักพระสางนั้น นัยว่าเป็นปริศนาธรรมว่าไม่ต้องการความสวยงามอีกแล้ว สำหรับในปัจจุบัน สถานที่สรงน้ำพระบรมศพใช้พระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งเชื่อมต่อกับมุขกระสันพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
อนึ่ง แผ่นทองจำหลักลายปิดที่พระพักตร์มีชื่ออีกอย่างว่า “พระสุพรรณจำหลักปริมณฑลฉลองพระพักตร์” มีหน้าที่ปิดใบหน้าของศพเพื่อป้องกันมิให้เห็นสิ่งมิบังควร (เช่น เพื่อไม่ให้เห็นใบหน้าของศพที่อาจเริ่มเสื่อมสภาพ) ธรรมเนียมการบรรจุพระบรมศพลงในพระโกศของเจ้านายชั้นสูงนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นการบรรจุลงหีบศพในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อ พ.ศ. 2538 ส่งผลทำให้ขั้นตอนการสุกำแบบดั้งเดิมลดทอนความซับซ้อนลงไป แต่ยังคงไว้ซึ่งธรรมเนียมอื่น ได้แก่ การถวายซองพระศรี การถวายแผ่นทองจำหลักปิดที่พระพักตร์ ในขณะที่พระชฎาได้เปลี่ยนมาวางไว้ที่ข้างพระเศียรแทนการสวม สำหรับพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ประดิษฐานอยู่เบื้องหลังพระแท่นสุวรรณเบญจดลในหีบพระบรมศพโดยตั้งอยู่บนพระแท่นแว่นฟ้าขนาดย่อม
- ส่วนที่สอง พิธีกรรมต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งพระบรมศพ และการปฏิบัติตนของผู้ที่มีชีวิต
ในระหว่างงานพระบรมศพ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และราษฎรจะต้องทำการไว้ทุกข์ ในอดีชุดไว้ทุกข์จะเป็นชุดสีขาว ต่อมาเมื่อรับอิทธิพลจากตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มจัดระเบียบใหม่ด้วยโดยสีดำใช้สำหรับผู้ใหญ่ สีขาวใช้สำหรับผู้เยาว์ และสีม่วงแก่หรือสีน้ำเงินสำหรับผู้ที่มิได้เป็นญาติกับผู้ตาย อย่างไรก็ดี แบบแผนที่ยุ่งยากในการแต่งกายไว้ทุกข์ได้เปลี่ยนมาใช้สีดำเป็นหลักในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ภายใต้อิทธิพลของพระพุทธศาสนา ระหว่างการตั้งพระบรมศพจะมีพิธีสงฆ์ด้วยการสวดสดับปกรณ์ หรือสวดอภิธรรมทำนองหลวง 7 คัมภีร์ เพื่อเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่ดวงพระวิญญาณ สำหรับพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่สวดพระอภิธรรมทำนองหลวงนี้ มีสมณศักดิ์เฉพาะเรียกว่าพระพิธีธรรม ท่วงทำนองการสวดนี้ว่ากันว่าสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันมีพระเพียง 9 วัดที่สวดทำนองนี้ได้
ตลอดพระราชพิธีพระบรมศพ จะมีการใช้ดนตรีในงานพระบรมศพที่สำคัญคือ การประโคมย่ำยาม และวงปี่พาทย์นางหงส์ สำหรับการประโคมย่ำยามเล่นโดยวงสังข์แตรและวงปี่ไฉนกลองชนะ ซึ่งจะประโคมสลับต่อเนื่องกัน การประโคมนี้จะกระทำทุก 3 ชั่วโมงเริ่มจาก 6 นาฬิกาไปจบที่ 24 นาฬิกา เครื่องดนตรีสำคัญในแง่ของพิธีกรรม คือ กลองมโหระทึก 2 ใบ ใช้เฉพาะงานพระบรมศพเท่านั้น แสดงว่าเป็นของสำคัญยิ่งสำหรับผู้นำ
- ส่วนที่สาม กระบวนแห่พระบรมศพและงานพระเมรุ
เมื่อตั้งพระโกศครบตามกำหนดและพระเมรุสร้างเสร็จจะมีการอัญเชิญพระบรมศพสู่พระเมรุ ก่อนหน้าการพระราชทานเพลิงพระบรมศพ มีพระราชพิธีที่ปฏิบัติเป็นการภายใน คือการเผาพระบุพโพหรือการเผาน้ำเหลือง โดยจะมีกระบวนอัญเชิญเช่นเดียวกับพระบรมศพ การเผาพระบุพโพนี้จะกระทำในพระเมรุเฉพาะเรียกว่า เมรุพระบุพโพ โดยสำหรับพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงจะกระทำที่วัดมหาธาตุ โดยที่พระบุพโพจะนำใส่กระทะปนกับน้ำมันเผาไปพร้อมกัน จากนั้นเมื่อเผาเสร็จจะนำพระบุพโพไปลอยพระอังคาร ยกเว้นกรณีพระบุพโพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ฝังพระอังคารใต้ฐานพระพุทธชินราช ซึ่งภายหลังทั้งธรรมเนียมการลอยพระอังคารและฝังพระบุพโพนี้ได้ยกเลิกไป
เริ่มแรกก่อนหน้าวันงานจะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุหรือพระบรมธาตุแห่มาสมโภชที่พระเมรุ ในวันรุ่งขึ้นจะเป็นการเชิญพระบรมอัฐิของพระราชวงศ์ออกมาสมโภชที่พระเมรุ หลังจากนี้จึงเป็นการอัญเชิญพระบรมศพจากพระบรมมหาราชวังตามเส้นทางที่กำหนด สำหรับขั้นตอนการเคลื่อนพระบรมศพจะมีการจัดริ้วกระบวนแห่อย่างสมพระเกียรติ
พระเมรุสร้างขึ้นภายใต้คติเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและภพภูมิทั้งสาม ลักษณะทางกายภาพเชิงอุดมคติของเขาพระสุเมรุ ประกอบด้วย เขาพระสุเมรุเป็นจอมเขากึ่งกลางสูงที่สุด ล้อมรอบด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ 7 ทิว สลับด้วยมหานทีสีทันดร อีกทั้งมีทวีปทั้งสี่และมหาสมุทรทั้งสี่ประจำตามทิศ เชิงเขาพระสุเมรุเป็นป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์นานาพันธุ์ ยอดเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีพระอินทร์เป็นกษัตริย์ผู้ปกครอง ประทับในไพชยนต์มหาปราสาท พระองค์ยังทำหน้าที่เป็นเทวราชผู้อภิบาลโลก และคอยช่วยเหลือพระพุทธเจ้า ดังนั้น พระเมรุ คือ ปราสาทไพชยนต์อันตั้งอยู่บนเขาพระสุเมรุนั่นเอง นอกจากนี้ ด้วยความต้องการให้เทพเจ้าฮินดูกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลแบบพุทธ ทำให้มีการประดับตกแต่งพระเมรุด้วยเทวดาท้าวจตุโลกบาล และตรีมูรติทั้งสามองค์คือ พระนารายณ์ พระศิวะ และพระพรหมอีกด้วย
- ส่วนที่สี่ การถวายพระเพลิงและพิธีกรรมที่เกิดขึ้นภายหลัง
ในส่วนของขั้นตอนการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบรมศพในพระโกศหรือในหีบพระบรมศพจะถูกอัญเชิญไปประดิษฐานบนพระจิตกาธาน หรือเรียกอย่างสามัญชนว่า เชิงตะกอนสำหรับส่วนประกอบของจิตกาธานมี 2 ส่วนคือ ฐานเผา และตารางเผาศพ โดยแท่นจิตกาธานนี้จะได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดาร พร้อมทั้งมีไม้จันทน์และไม้หอมอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้แล้ว ในคราวงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีธรรมเนียมโบราณบางอย่างด้วยคือ การทิ้งเบี้ย 33 เบี้ย เพื่อเป็นค่าจ้างเผาต่อตากลียายกลา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจ้าของป่าช้า และมีมะพร้าวแก้วอีกอย่างที่ใช้สำหรับล้างพระพักตร์พระบรมศพหรือที่ฐานพระโกศ เพื่อเอาน้ำบริสุทธิ์ที่เปรียบกับกุศลกรรมนั้นล้างอกุศลกรรม
หลังจากขั้นตอนข้างต้นนี้จะเป็นพิธีการเก็บรักษาพระบรมอัฐิ การลอยพระอังคาร และการบรรจุพระสรีรางคาร (พระอังคาร) ที่สุสานหลวงตามลำดับ ซึ่งโดยรวมแล้วเป็นการผสมผสานกันระหว่างพิธีพุทธกับความเชื่อดั้งเดิมของคนในภูมิภาคนี้ เดิมทีในสมัยอยุธยา สถานที่ฌาปนกิจของผู้มีบรรดาศักดิ์สูงเช่นพระเจ้าแผ่นดินจะทำการสร้างพระเจดีย์ครอบทั้งอัฐิและอังคารธาตุ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าในงานพระบรมศพและพระเมรุนั้นเต็มไปด้วยความรู้มากมาย โดยรายละเอียดของประเด็นต่าง ๆ จะถูกนำเสนอผ่านการวิเคราะห์ในบทความ 19 เรื่องในหนังสือเล่มนี้
ทั้งนี้ หนังสือ “เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ” จำนวน 20,000 เล่ม จะส่งไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อจัดสรรไปยังโรงเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือแบบ PDF ได้ที่ https://goo.gl/7drtqf
ขอบคุณข้อมูลจาก: หนังสือ เสด็จสู่แดนสรวง : ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ ; MarketingOoops.com