“หนังสือของในหลวง” พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอย่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักอักษรศาสตร์ ทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับเรื่องศัพท์ ที่มาของศัพท์ และรากศัพท์ อีกทั้งยังสนพระราชหฤทัยและค้นคว้าเกี่ยวกับศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะทรงเข้าพระราชหฤทัยว่า หากเข้าใจศัพท์และที่มาของศัพท์แล้วจะช่วยให้เข้าใจความหมายของธรรมะได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น แม้ว่าพระองค์จะทรงเจริญพระชันษาในตางประเทศ แต่ก็ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยอย่างยอดเยี่ยม

พระเกียรติคุณด้านวรรณศิลป์ เป็นที่ประจักษ์ชัดจากภาษาและถ้อยคำที่ปรากฏในวรรณกรรม หรือในพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ ล้วนแสดงให้เห็นถึงถึงพระปรีชาญาณเป็นอย่างยิ่ง

พระอัจฉริยภาพด้านภาษาของพระองค์นั้น ปรากฏแก่สายตาชาวไทยในพระราชนิพนธ์หลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีพุทธศักราช 2539 นั้นถือเป็นพระราชนิพนธ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับคนไทย ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า

“…หนังสือนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้า หนังสือนี้ไม่มีที่เปรียบและจะเป็นที่ร่าเริงใจของผู้อ่าน

ต้องการให้เห็นว่า สำคัญที่สุดคนเราทำอะไรต้องมีความเพียร

ของจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาเฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์…”

ที่มาของพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก คือเมื่อปีพุทธศักราช 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสดับพระธรรมเทศนาเรื่อง “พระมหาชนก” ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธัมมสาโร) วัดราชผาติการาม ตอนที่ “พระมหาชนกเสด็จประพาสอุทยานในกรุงมิถิลา ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วง 2 ต้น ต้นหนึ่งมีผล พระองค์ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา และเสด็จฯ เยี่ยมอุทยาน เมื่อเสด็จกลับ ทอดพระเนตรเป็นต้นมะม่วงที่มีผล ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นล้ม ส่วนต้นที่ไม่มีผล ยังคงตั้งตระหง่านสง่างาม พระมหาชนกจึงทรงบังเกิดธรรมสังเวช และดำริจะเสด็จออกผนวช”

พระองค์จึงทรงบังเกิดความสนพระราชหฤทัย และทรงศึกษาค้นคว้าเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตันตปิฎก) ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ 5 ภาคที่ 2 และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในการสอดแทรกสัจธรรมในตัวละครพระมหาชนกที่ได้มี
ความเพียรพยายามอุตสาหะอดทนในการว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ในมหาสมุทรกว้างใหญ่ที่มองไม่เห็นฝั่ง ผู้อ่านจะได้แง่คิดและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้ทรงฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการตลอดระยะเวลา 50 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้อยู่เย็นเป็นสุข ตลอดจนได้ทรงแนะทิศทางที่ปวงชนสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยความพากเพียรโดยไม่ท้อแท้

ผลงานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีอีกมากมายที่ทำให้ชาวไทยรู้สึกภาคภูมิใจในพระปรีชาขององค์พระประมุข อีกทั้งเนื้อหายังมีคติสอนใจแก่ผู้อ่าน เช่น เรื่อง “ทองแดง” หรือ “The Story of Thongdaeng” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ทรงเปิดตัวในปีพุทธศักราช 2545 ทรงกล่าวถึงความฉลาดแสนรู้ของ ทองแดง ที่คนไทยยกให้เป็นสุนัขประจำรัชกาล

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีผลงานแปลหนังสืออีก 2 เรื่อง คือ นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ (A Man Called Intrepid), ติโต (Tito) และ เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา บทที่ 4 เล็กดีรสโต จาก Small is Beautiful

เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกวรรณกรรมต่างๆ เหล่านี้มาแปล เพราะทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี โดยมีกระแสรับสั่งถึงวรรณกรรมทั้งสองเรื่องว่า

“อยากให้คนไทยเห็นว่าถ้าเราทำดี เราจะไม่เป็นเหมือนเขา”

โดยเฉพาะเรื่อง ติโต ของ ฟิลลิส ออตี (Phyllis Auty) เรื่องราวชีวประวัติของอดีตประธานาธิบดีแห่งยูโกสลาเวีย ติโต หรือ โยซิป โบรซ ผู้ที่ต่อสู้เพื่อชาติซึ่งถูกคุกคามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

พระราชนิพนธ์เรื่อง นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ และ ติโต นอกจากจะแสดงให้ประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพในการแปลแล้ว ยังจะเข้าใจถึงพระราชประสงค์ที่จะให้ึคนไทยได้รู้จักเรื่องราวของมหาบุรุษโลกอีกด้วย

วิธีการแปลของพระองค์จะทรงอ่านรวดเดียวจนจบว่า ผู้เขียนนั้นต้องการสื่อความคิดใด และจึงทรงอ่านรายละเอียดทีละตอน เพื่อถ่ายทอดความคิด ทรงแปลวันละเล็กละน้อย โดยทรงกำกับด้วยว่าวันใดแปลจากตอนใดถึงตอนใด ทรงใช้เวลามาก เป็นการแปลที่ละเอียดและมีข้อความที่เป็นพระราชวินิจฉัยที่ทรงแทรกเอาไว้ในหลายๆ ตอน เพื่ออธิบายเพิ่มเติมให้คนอ่านไทยได้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

 

พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญสำหรับบรรดากวีหรือนักเขียนชาวไทย ที่ยึดเอาพระองค์เป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าแก่สังคมไทยจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.dek-d.com/writer/43243/page/1/

ขอบคุณข้อมูลจาก : เอกกษัตริย์อัจฉริยะ พรจากพ่อ ผู้เปี่ยมพระอัจฉริยภาพ การอภิปราย “ในหลวงของเรา”
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน Thaicoon ฉบับเดือนมกราคม 2550