The Intern : โก๋เก๋ากับบอสเก๋ไก๋
Year 2015
Running Time 121 minutes
Directed by Nancy Meyers
Cast: Robert De Niro, Anne Hathaway, Rene Russo
“Gray is the new green!”
The Intern (2015) เป็นหนังที่เล่าเรื่องของคนอเมริกันร่วมสมัยในยุคที่รวยได้ด้วยธุรกิจทางอินเตอร์เน็ตประเภท Startup ได้สนุกมาก ๆ และที่ทำให้หนังดูแตกต่างไปจากหนังที่พูดถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ของเจ้านาย – ลูกน้อง แบบที่เคยดู ตรงที่ว่า The Intern สร้างเงื่อนไขของเรื่องเล่าที่ทำให้เห็นภาพที่กลับกันในองค์กรทั่วไปที่เราจะเห็นคนในยุค “เบบี้บูม” (คนที่เกิดในยุคหลังสงครามโลกใหม่ ๆ) ซึ่งในปี 2015 ปีนี้ น่าจะเป็นกลุ่มคนที่เกษียณอายุทำงานไปแล้ว หรือไม่ก็เป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์ แต่ในหนัง Ben Whittaker (Robert De Niro) ชายแก่อายุ 70 ปี กลับกลายเป็น “เด็กฝึกงาน” ของJules Ostin (Anne Hathaway) ผู้บริหาร “Gen Y” (คนกลุ่มในช่วงอายุระหว่าง 18 – 35 ปี) ที่ก่อตั้งบริษัทขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่มีชื่อว่า About the Fit โดยเบนสมัครเข้ามาเป็นเด็กฝึกงานในโปรเจ็กต์ CSR ของบริษัท
เรามาดูกันว่าหนังมีกี่ส่วนกันบ้าง
Startup
ถึงแม้ในหนัง The Intern ไม่ได้เล่าหรือแสดงให้คนดูเห็นว่า Jules Ostin สร้างบริษัทจากตัวคนเดียวมาบูมชั่วข้ามปีได้อย่างไร แต่ในหนังจะมาเล่าถึงปัญหาของเธอที่เกิดขึ้นหลังจากการประสบความสำเร็จก้าวแรกอย่างก้าวกระโดดนั้นให้เราดู บรรยากาศออฟฟิศของ About the Fit ที่ให้ฟีลชิลๆ ไม่เครียด เป็นกันเอง แต่งตัวอะไรก็ได้มาทำงาน เหมือนเป็น community หนึ่งที่มีแต่เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ทุกคนทำงานอยู่ชั้นเดียวกัน ไม่มีใครมีห้องทำงานส่วนตัว เพราะผู้นำให้ความสำคัญกับการสื่อสารและความเป็นทีมเวิร์คในทีม แต่กว่าจะมีอะไรขนาดนี้ได้นั้น เราเชื่อว่า Jules Ostin ต้องผ่านอะไรมาเยอะ ทั้งแบบที่ยากและแบบที่ง่าย
ใน Digital Era นี้ การทำธุรกิจออนไลน์ ไม่ว่าจะแบบ dot com หรือแบบขายของบน Instagram นั้นกำลังอินเทรนด์อย่างมาก ถ้าจับถูกจุด หรือไม่ก็บังเอิญฟลุ้ค จะพบว่าการสร้างตัวตนและการทำ Startup บนโลกไซเบอร์นี้ไม่ยากเลย ลงทุนก็ไม่เยอะ ทำตัวคนเดียวก็ได้ (เช่น Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook เป็นต้น) แต่ปัญหาคือ บางครั้งอะไรๆ บนโลกออนไลน์มันก็เติบโตขึ้นเร็วเกินไป พอโตแล้ว มันก็จำเป็นที่จะต้องเป็นระบบมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และจ้างคนมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเราก็อาจจะรับมือไม่ทัน อย่างที่รู้กัน ลูกค้าก็เยอะขึ้น ลูกจ้างก็เยอะขึ้น แน่นอน…มากหมอมากความ
Generation Gap
หนังไม่ได้เน้นนำเสนอเรื่องช่องว่างหรือความแตกต่างระหว่างวัย (Generation Gap) อย่างที่เราเห็นในหน้าหนัง มีพูดถึงนิดๆ หน่อยๆ ว่านางเอกไม่ค่อยลงรอยกับแม่เท่าไหร่ ได้คุยกับแม่บ้างทางโทรศัพท์ แต่ก็เพียงฉาบฉวย เราไม่รู้สาเหตุว่าทำไมสองแม่ลูกถึงไม่ค่อยโอเคกัน แต่เท่าที่เห็นปัญหาไม่ได้ร้ายแรงมาก น่าจะมีแค่คุณแม่วัย 70 ไม่เข้าใจว่าในงานหรือสิ่งที่ลูกสาวทำ เพราะ Jules Ostin ค่อนข้างเป็นคนหัวใหม่ เป็นสาวทันสมัย เป็นหญิงแกร่งแห่งยุค 2015 ที่แตกต่างจากผู้หญิงทั่วๆ ไปแม้แต่คนใน generation เดียวกัน
Ben Whittaker ก็เป็นชายวัย 70 ปีที่ดูไม่ได้มีปัญหากับเทคโนโลยีล้ำสมัยหรือสไตล์ใหม่ๆ ของชีวิตหนุ่มสาวสมัยนี้เท่าไหร่ ตรงกันข้าม เขาพยายามปรับตัว เรียนรู้ และฝึกใช้อะไรใหม่ๆ เหล่านั้น เช่น การอัดวิดีโอแทนจดหมายเรซูเม่ ฯลฯ โดยไม่ละทิ้งความเป็นตัวเองและข้าวของเครื่องใช้สุดวินเทจ (แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะมองว่าล้าสมัยเฉิ่มเชยแล้วก็ตาม) เช่น เครื่องคิดเลขตั้งโต๊ะอันโต จนถึงสูทกับเนคไทที่เวรี่ formal ผิดที่ผิดทาง Ben Whittaker เคยทำงานในตำแหน่งใหญ่โตของบริษัทตีพิมพ์ “สมุดหน้าเหลือง” ซึ่งไม่มีค่าอีกแล้วในยุคปัจจุบันที่ประชากรแทบทุกคนต่างมี Google อยู่ในมือ (โคตรจริงเลยนะ คือนร.วัยม.ต้นของเรา เขาก็ไม่รู้จักสมุดหน้าเหลืองเลยจริงๆ อะ) Ben มีประสบการณ์ทำงานด้านธุรกิจมากว่า 40 ปี แต่เขาไม่เคยทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วหรือทำตัวประหนึ่งว่าเหนือกว่าเด็กๆ ในที่ทำงาน ตรงกันข้ามเขากลับวางตัวเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี ทั้งเรียนรู้และสอนงานคนอื่นๆ ไปด้วยกัน
ณ จุดนี้ หนังทำได้ดีในพาร์ทของ Ben Whittaker ที่ดู enjoy กับการปรับตัวกลมกลืนเข้ากับโลกโมเดิร์น แต่แอบเสียดายที่ไม่มีการเอาประโยชน์ของข้าวของเครื่องใช้สุดวินเทจนั้นมาเล่นด้วย และพาร์ทกุ๊กกิ๊กของเขากับ Fiona (Rene Russo จาก Thor) ก็ยังดูขาดๆ เกินๆ และไม่มีความจำเป็นต่อเส้นเรื่องสักเท่าไหร่
Sexist Stereotyping
ดูเหมือน Nancy Meyers ผู้กำกับและคนเขียนบท The Intern พยายามทำหนังรอมคอมนำเสนอปัญหาของชนชั้นกลางจนถึงชนชั้นสูงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ What Women Want , Something’s Gotta Give , The Holiday, และ It’s Complicated พอมาถึง The Intern เธอก็เลือกตีแผ่ประเด็น Sexism ซึ่งกำลังอินเทรนด์อย่างมากในสังคมปัจจุบัน และดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่เป็นแก่นสาระสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ จนอดคิดไม่ได้ว่า Jules Ostin นางเอกของเรื่องได้ชื่อล้อมาจาก Jane Austen นักเขียน Feminist คนดังในอดีต เราจะเห็นว่า Jules Ostin เป็นบอสสาวเก๋ไก๋ ทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อตจนแทบไม่มีเวลากินข้าวเป็นมื้อเป็นจาน ทุกนาทีของเธอมีค่าและทุ่มให้กับงาน ดังนั้น สามีของเธอต้องลาออกจากงานประจำทั้งที่ก็กำลังไปได้สวยในหน้าที่การงาน เพื่อมาเป็นพ่อบ้านฟูลไทม์ (stay-home husband) ดูแลงานบ้านงานเรือนและลูกสาววัยอนุบาลตัวน้อย ไม่แปลกใจเลย ถ้าเวลาที่กองทัพผู้ปกครองไปรับส่งลูกที่โรงเรียนหรือไปอีเวนต์หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับลูก Matt จะเป็นมนุษย์พ่อเพียงหนึ่งเดียวในกลุ่มชมรมแม่บ้าน แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์แม่ (หรือควรจะเรียกว่ามนุษย์ป้าดึกดำบรรพ์) ของเด็กคนอื่นจะมองว่าครอบครัวนี้แปลก และชอบแซะกระแนะกระแหน Jules อย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ Jules เก่งและหาเงินได้เยอะกว่าสามีของพวกหล่อนรวมกันซะอีก นี่มันยุค 2015 แล้ว นี่ไม่ใช่ยุคปิตุลาธิปไตยแล้ว ดังนั้นมันไม่จำเป็นว่าผู้หญิงต้องลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านแล้วให้ผู้ชายเป็นฝ่ายทำมาหากินฝ่ายเดียวเสมอไป ผู้หญิงก็ทำธุรกิจได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย ผู้ชายก็เป็นพ่อบ้านได้ดีไม่แพ้ผู้หญิง ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันโดยเท่าเทียม เราไม่ควรมีข้อจำกัดเรื่องเพศมาเป็นตัวแบ่งว่าอันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ เพศไม่ควรเอามาเป็นปัจจัยในการกำหนดภาระหน้าที่ของมนุษยชาติ แม้แต่ในระดับครัวเรือน การเป็นผู้นำขององค์กรก็เช่นกัน เราไม่รู้หรอกนะว่า Cameron (Andrew Rannells) เขาจะบีบคั้นให้ Jules ยอมจ้าง CEO มาทำไม เพราะอยากหาคนมาแบ่งเบาภาระ Jules จริงๆ หรอ หรือเห็นว่า Jules ไม่มีประสบการณ์การทำธุรกิจ ไม่จบบริหาร (ซึ่งจริงๆ ให้ไปเทคคอร์สสักคอร์สก็จบ) หรือเพราะเห็นว่า Jules เป็น “แค่ผู้หญิง” กันแน่
Leadership
Cameron ก็หวังดีเขาจัดแจงจ้างผู้อาวุโสเก๋าประสบการณ์อย่าง Ben Whittaker มาเป็นผู้ช่วยส่วนตัวฝึกหัดของ Jules เพราะอยากให้ “ภาพลักษณ์” ของ Jules ดีขึ้น ทั้งในส่วนที่ Cameron ให้หา CEO มาช่วยการบริหาร และจัด Senior Assistance Intern มาช่วยเสริมอิมเมจให้ บ่งบอกให้เห็นว่า ถึงแม้ Cameron จะเชื่อใจในฝีมือและรสนิยมด้านแฟชั่นของ Jules แค่ไหน แต่สุดท้ายก็ยังมีความไม่มั่นใจในความสามารถการบริหารและการจัดการทางอารมณ์ของ Jules อยู่ดี เราไม่ได้บอกว่า Cameron ทำไม่ถูกไม่ควร เพราะเรารู้ว่าทุกคนต่างก็หวังดีต่อองค์กรและพยายามแก้ไขในวิธีของตนเอง แต่เราก็เข้าใจและเห็นด้วยกับ Jules ว่า เธอสร้างบริษัทนี้มาเองกับมือ ตัวคนเดียว ทุกๆ อย่างในแบรนด์นี้มันเป็น “ตัวเธอ” แบรนด์เป็นส่วนหนึ่งของเธอ เธอเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ และแน่นอน เธอไม่ชินกับการเป็นลูกน้องใคร ในเบื้องต้น Jules อาจจะไม่ใช่ผู้นำที่เพอร์เฟ็คต์ ใครๆ ก็บอกว่าเธอเข้าใจยากและทำงานด้วยยาก และไม่ค่อยแสดงความ appreciate ในสิ่งที่ลูกน้อง โดยเฉพาะ Becky เลขาฯ ทำให้ อย่างไรก็ดี Jules ก็เป็นผู้นำที่ดีในแบบของเธอ อย่างน้อยเธอก็มีความรักในสิ่งที่เธอทำมากกว่าคนอื่น ใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โดยธรรมชาติของเธอเอง ไม่ต้องให้ใครสั่งใครสอน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ตำราแพงๆ หรือหลักสูตรใดใดของมหาวิทยาลัยอาจจะสอนนักบริหารทั่วไปไม่ได้เสียด้วยซ้ำบางทีเราอาจจะต้องยอมรับว่า องค์กรนี้ได้ดีเพราะเธอบริหารในแบบของเธอ แบรนด์คือเธอ เธอคือแบรนด์ และที่สำคัญ เราเชื่อว่า แต่ละองค์กรสามารถประสบความสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินตามสูตรสำเร็จเก่าๆ ทุกขั้นตอน ดังนั้น เรื่องเพศไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติของคนในสังคม ถ้าให้โอกาสหรือให้เวลาเธอได้เรียนรู้ ปรับตัว และเข้าใจเธอ รับประกันได้เลยว่า วันนึง Jules จะเป็นทั้งผู้นำที่เพอร์เฟ็คต์ รวมถึงเป็นแม่และเมียที่เพอร์เฟ็คต์ของครอบครัวที่เธอรักได้
Work–Life Balance
ปัญหาของ Jules อาจจะเป็น Work-life balance อย่างที่เราเห็นกันในหนัง เพราะบริษัท About the Fit เติบโตอย่างก้าวกระโดดเหนือความคาดหมายชนิดที่เธอเองก็ตั้งตัวแทบไม่ทัน ทั้งชีวิต Jules ก็คงเป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่สังคมหล่อหลอมแบบบ้านๆ ให้เรียนหนังสือควบคู่กับงานบ้านงานครัว เรียนจบไปก็ทำงานพอหอมปากหอมคอ หาแฟนแต่งงานมีลูกแล้วก็ออกจากงานมาอยู่บ้าน บลาๆๆ คือเธอคงไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมมาให้โตมาเป็นทั้งผู้นำหญิงขององค์กรและผู้นำหญิงของบ้านไปพร้อมๆ กันแบบนี้ ดังนั้นอะไรๆ มันก็เลยต้องมีการติดขัดกันบ้าง ถึงแม้จะแต่งงานมีลูกมีสามี และมีบริษัทเป็นของตัวเองแล้วก็ตาม Jules เองก็ยังเป็นคนคนหนึ่ง เหมือนเรา เหมือนคุณ ที่ยังคงละเอียดอ่อนและหวาดกลัวกับ insecurities ในอนาคต (ตามธรรมชาติมนุษย์ ไม่เกี่ยวกับเพศภาวะ) แต่แน่นอน ด้วยอะไรๆ ที่ค้ำบ่าเธออยู่ เธอก็เลยจำเป็นต้องพยายามเป็นคนเข้มแข็ง ไม่ร้องไห้หรืออ่อนแอให้ลูกน้องเห็นโดยเด็ดขาด เหนื่อยแค่ไหน คิดดู โชคดีที่ Ben เข้ามาในชีวิตของเธอพอดี ถึงแม้ตอนแรกเธอจะไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ เพราะเธอคงชินกับการทำงานคนเดียว และไม่ค่อยคุ้นที่จะอยู่กับผู้ใหญ่ แต่สุดท้ายแล้ว ในที่สุด Ben ก็กลายมาเป็นทั้งลูกจ้าง เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนสนิทที่ดีที่สุดของเธอ ซึ่งประสบการณ์ของ Ben ไม่ใช่แค่ให้คำปรึกษาในเรื่องงานบริษัทได้เท่านั้น แต่ยังช่วยได้มากในเรื่องชีวิตครอบครัวและความสุขส่วนตัวของ Jules อย่างน้อย Ben ก็ทำให้ Jules อุ่นใจว่า ในชีวิตอันไม่แน่ไม่นอน ทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัวนั้น ถึงวันที่เธอตายไป เธอก็จะไม่ได้ถูกฝังอยู่คนเดียวอยู่คนเดียว
วิเคราะห์ตัวบทหนัง
คือแทนที่ว่า Ben จะเป็นเจ้านายของ Jules ตามชั่วโมงบินของอายุงาน แต่หนังทำให้ Ben เป็นลูกน้อง Jules ซึ่งเป็นประเด็นที่ชวนขบคิดอย่างมาก เพราะทุกวันนี้ โลกของการทำธุรกิจมันเปลี่ยนไปมาก โอกาสของการเกิดขึ้นของ “วัยรุ่นพันล้าน” เปิดกว้างขึ้นกว่ายุคเก่าก่อนที่เคยเป็นมา จูลส์ จึงเป็นเหมือนภาพตัวแทนของ “อเมริกันดรีม” ในยุคใหม่ ที่ใช้เวลาไม่นานกับการปลุกปั้นบริษัท Startup จนร่ำรวยนอกจากความ “เยอะ” ของเธอในการบริหารงานลูกน้องแล้ว ชีวิตของเธอ “ดูเหมือน” เกือบจะ perfectionist ทั้งการงานที่รุ่งโรจน์และครอบครัวที่อบอุ่น สามีของเธอลาออกจากงานมาเป็นพ่อบ้านดูแลลูกเพื่อคอยสนับสนุนความก้าวหน้าของบริษัทที่ภรรยาสร้างขึ้น (หากมองแบบอนุรักษ์นิยมบนฐานคิดผู้ชายเป็นใหญ่ บทบาทในครอบครัวนี้กลับกันอย่างมีนัยยะที่น่าสนใจมาก จากภรรยา ที่เป็นแม่บ้าน กลายเป็นคนหาเงิน จากสามีที่เป็น “ช้างเท้าหน้า” ต้องทำหน้าที่สนับสนุนหลังบ้าน ซึ่งดูเหมือนจะมีบทบาทที่กลับกันไม่ต่างจากการที่ Ben เป็นลูกน้อง Jules)
ความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจของ Ben และ Jules ในฐานะ เด็กฝึกงาน – ผู้บริหาร (ลูกน้อง – เจ้านาย) จึงดูน่าสนใจ เพราะ The Intern ได้เล่าถึงความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ผ่านการมองภาพเหมารวม(Stereotype) ของคนต่างรุ่นกัน คนในยุค “Baby Boomers” ที่ถูกเข้าใจว่า เป็นคนที่โตมากับยุคที่ต้องก่อร่างสร้างสังคมใหม่จากสิ่งที่พังลงไปหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีบุคลิกแบบทุ่มเทให้กับองค์กร รอบคอบ และประหยัด (บุคลิกนี้ สะท้อนผ่านBen อย่างชัดเจน ตั้งแต่การแต่งตัวใส่สูทเนี้ยบ ๆ, บ้านที่ดูเป็นระเบียบ ไปจนถึงวิธีการจัดการเรื่องราวในออฟฟิศ) ส่วนคน “Gen Y” จะสนใจด้านไอที, สนใจเรื่องคุณค่าของงานและการใช้ชีวิตทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวมากพอกัน จนถูกคนรุ่นก่อนหน้ามองว่า ขาดความอดทน (ซึ่งก็สะท้อนผ่านบุคลิกที่จดจ่ออยู่กับการใช้สมาร์ทโฟนในการดีลงานของ Jules เช่นกัน)
หนังได้ปูความเป็นมาของ Ben ซึ่งทำให้เห็นภาพ Contrast ระหว่างโลก “Analog” ที่เขาเคยอยู่ กับโลก “Digital” ในบริษัทของ Jules ที่มีวัฒนธรรมองค์กรในแบบ คน “Gen Y” (เจ้าของบริษัทปั่นจักรยานทั่วออฟฟิศเพื่อเช็คงาน หรือการเคาะกระดิ่งประกาศความดีของพนักงาน) ได้อย่างสุดทางมาก ฉากที่ทำให้เห็นว่า Ben ต้องการรู้จักกับคนยุคใหม่ ผ่านการที่ Jules สอนให้เล่น Facebook จึงดูเป็นฉากที่น่ารักมาก ๆ
อีกฉากหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพ stereotype ของคนสองรุ่น ในบางมุมคือมายาคติ คือตอนคุยกันว่า Ben และ Jules สนใจในเรื่องไหน? Ben บอกว่า ศิลปินในดวงใจเขาคือ Miles Davis, Sam Cooke และ Billie Holiday ซึ่งเป็นศิลปินในยุคของเขาเอง แต่ Jules บอกว่า นี่เป็นศิลปินที่เธอชอบเหมือนกัน และ Ben บอกว่า ชอบอ่าน Harry Potter แน่นอนว่า นี่คือวรรณกรรมของคนยุคนี้ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคน Gen ไหน ก็พร้อมจะเปิดใจเรียนรู้เรื่องราวของคนรุ่นอื่นเช่นกัน
สิ่งที่น่าสนใจที่ได้เห็นจากหนังคือวัฒนธรรมองค์กรของคนรุ่นใหม่ที่จะยกย่องชมเชยให้เกียรติ (Recognition) เพื่อนร่วมงานในทันทีที่ใครคนใดคนหนึ่งมีผลงานดีหรือทำอะไรดีๆให้องค์กรซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทุกคนก็ให้ความสำคัญกับการชมเชย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี