Movie Critical

 

The Founder : กำเนิดแมคโดนัลด์

 

Year 2017
Running Time
115 minutes
Directed by
John Lee Hancock
Cast: Michael Keaton, Nick Offerman, John Carroll Lynch

 

“บนโลกนี้มีคนโง่ที่มีการศึกษาอยู่เต็มไปหมด”

John Lee Hancock ผู้กำกับหนัง The Blind Side และ Saving Mr. Banks นำเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของ Ray Kroc ผู้ก่อตั้งแมคโดนัลด์มาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มขนาดยาวครั้งแรก โดยได้นักแสดงผู้เข้าชิงออสการ์และเจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำ Michael Keaton จาก Birdman และ Spotlight มาสวมบทบาทเป็น Ray Kroc

 

วันหนึ่งเซลล์ขายเครื่องปั่น Ray Kroc (Michael Keaton) ได้รับแจ้งจาก June Martino เลขาฯ ของเขา (Kate Kneeland) ว่ามีร้านอาหารที่ San Bernadino, California ชื่อว่า McDonald’s ต้องการสั่งเครื่องทำมิลค์เชค 6 เครื่อง ซึ่งตอนนั้นเป็นจำนวนที่เยอะมาก Ray Kroc จึงขับรถทางไกลไปดูด้วยตัวเองว่าร้านอะไรกันที่ต้องการทำมิลค์เชคทีละ 30 แก้ว

สองพี่น้อง Mac (John Carroll Lynch) กับ Dick (Nick Offerman) พา Ray Kroc ทัวร์ร้าน ชม “Speedy System” หรือระบบทำฟาสต์ฟู้ด และแชร์สตอรี่ของพวกเขา ทำให้ Ray Kroc อยากเป็นเจ้าของ McDonald’s เอง พวกเขาตกลงทำสัญญาขยายแฟรนไชส์ โดยสาขาแรกของ Ray Kroc คือที่ Illinois แถวละแวกบ้านเขาเอง ก่อนที่จะพยายามหาพาร์ทเนอร์ก็ร่วมกันทำแฟรนไชส์สาขาอื่น ๆ ต่อไป

การทำงานหนักทำให้ Ray Kroc เริ่มห่างเหินกับภรรยาของเขา Ethel (Laura Dern จาก Jurassic Park) ประจวบเหมาะกับเขาได้พบกับ Joan Smith (Linda Cardellini จาก Avengers) หญิงสาวแสนสวย ฉลาด ขยัน และมีหัวธุรกิจ แต่เป็นภรรยาของ Rollie Smith หนึ่งในพาร์ทเนอร์ของเขา (Patrick Wilson จาก The Conjuring)

 

The Founder เป็นหนัง biopic บอกเล่าเรื่องราวของผู้ก่อตั้งแมคโดนัลด์โดยผิวเผิน การนำเสนอเรื่อย ๆ แบบทั่วไป ไม่มีชั้นเชิงหวือหวาน่าติดตาม ตัวละครไม่ได้มีมิติอะไรเท่าไหร่ และหนังเองก็ไม่ได้เน้นเล่าลงลึกด้านหนึ่งด้านใดโดยเฉพาะ มิหนำซ้ำด้านความรักของ Ray Kroc นั้นแทบไม่มีน้ำหนักเลยเสียด้วยซ้ำ The Founder จึงทำได้แค่ทำให้เรา “พอรู้จัก” ต้นกำเนิดของแมคโดนัลด์ก็เท่านั้น

ถ้าให้ประเมิน The Founder ก็คงพอ ๆ กับหนังเรื่อง Jobs (2013) เวอร์ชั่น Ashton Kutcher ซึ่งอยู่แค่ระดับพอดูได้ และต้องรอเวอร์ชั่นที่ล้ำลึกกว่าอย่าง Steve Jobs (2015) เวอร์ชั่น Michael Fassbender มาแทนที่

 

 

แต่ยังดีที่เรื่องราวการได้มาซึ่งแมคโดนัลด์ของนักธุรกิจ Ray Kroc มันมีความน่าสนใจในตัวของมันเอง มันจึงยังมีประเด็นที่คนทำธุรกิจหรือคนที่เป็นเซลล์แมน รวมถึงคนที่จะเป็นคู่ชีวิตของบุคคลจำพวกนี้ ควรเข้าไปดูไว้เป็นวิทยาทานเบา ๆ

อย่าง Ray Kroc เนี่ยพอรู้ว่าพวกเศรษฐีที่หวังแต่จะเกษียณไม่เหมาะจะให้เขามาทำแฟรนไชส์ด้วยแน่ ๆ เพราะพวกนี้เป็นแต่ลงทุน คือเอาเงินลงทิ้งไว้อย่างเดียว ไม่เข้าไปดูแลร้านหรอก เอาเวลาไปตีกอล์ฟอย่างเดียว ดังนั้นเขาต้องหาคนที่เหมาะกับร้านที่ต้องคุมคุณภาพได้ นั่นคือพวก hardworking นั่นเอง

นอกจากนี้ภรรยาก็มีส่วนสำคัญในการซัพพอร์ตธุรกิจเขา คนอย่าง Ray Kroc ย่อมชอบภรรยาที่มาช่วยทำงานหน้าร้านได้มากกว่าภรรยาที่อยู่บ้านเฉย ๆ หรือรอแต่ออกงานสังคมอย่างเดียว ถึงแม้ภรรยาจะเชื่อว่าตัวเองก็ซัพพอร์ตสามีแล้วในแบบที่เธอทำได้ แต่คำว่า support ของคนเรามันไม่เท่ากัน เช่นเดียวกันกับ demand หรือความต้องการของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน

 

คล้าย ๆ กับเคส Steve Jobs นั่นคือ Ray Kroc ไม่ใช่คนที่เพอร์เฟ็กต์ เขาฉลาด เขาทะเยอทะยาน ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่พร้อมจะตัดหรือข้ามทุกสิ่งที่ขวางหรือถ่วงความเจริญก้าวหน้าของเขาอย่างไม่ประนีประนอม เขายินดีทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จของเขาโดยไม่สนว่าราคานั้นจะแสนแพงสักแค่ไหน

แน่นอนว่าเจ้าของร้านแมคโดนัลด์แต่ดั้งเดิมไม่ใช่ Ray Kroc หากแต่คือสองพี่น้องสกุล McDonald ผู้มีความคิด เป็นคนดี เพียงแต่ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ได้อยากขยายแฟรนไชส์เยอะ เพราะต้องการคุมคุณภาพ เขายอมมีร้านเดียวที่ดี ดีกว่ามีหลายร้านที่ทำให้ชื่อของเขาเสีย

สุดท้าย ด้วยอุดมการณ์ที่ต่างกัน และความทะเยอะทะยานที่ไม่เท่ากัน (Ray Kroc เขาทะเยอทะยานระดับ international ส่วนสองพี่น้องนั่นแค่ระดับ local) Ray Kroc อาศัยสกิลในการพูดการขาย ความเจ้าเล่ห์เพทุบาย และคอนเนคชั่น หาช่องว่างในสัญญาฮุบร้านแมคโดนัลด์มาเป็นของตัวเองโดยสมบูรณ์

Michael Keaton อาจไม่ได้เป็น Ray Kroc ที่ดีเท่าที่ John Carroll Lynch กับ Nick Offerman เป็นสองพี่น้อง Mac & Dick ผู้น่าสงสาร แต่ Michael Keaton ผู้เล่นใหญ่ไฟกะพริบเป็นส่วนที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูสดใสซาบซ่านและมีชีวิตชีวาในสไตล์ของ Birdman

ถ้าถามว่า I’m loving in it หรือเปล่า สำหรับหนัง The Founder เรื่องนี้ก็คงตอบว่า… เช่นเดียวกับรสชาติของเบอร์เกอร์ของเขา นั่นคือ “เฉย ๆ” … แล้วถ้าถามว่าจะแนะนำหนังเรื่องนี้หรือเปล่า คำตอบก็คงแล้วแต่คน

ถ้าเป็นคนที่สนใจทำธุรกิจหรือเป็นเซลล์ขายของก็แนะนำนะ ให้แรงบันดาลใจลุกโชนดี จะได้เอาข้อดีของตานี่ไปทำตาม (แต่ส่วนที่ไม่ดี เช่น ฉีกสัญญาพาร์ทเนอร์ ก็แล้วแต่วิจารณญาณเนอะ) แต่ถ้าหากเป็นคนดูทั่วไป เราก็คงบอกว่า เหมือนตอนหาร้านอาหารกินนั่นแหละ แมคโดนัลด์ไม่ใช่ช้อยส์แรก ๆ นัก แต่ก็ไม่ได้เป็นช้อยส์ที่เลวร้ายอะไร ก็กินได้ และอิ่มระดับหนึ่ง

แต่บางคนดูแล้ว อาจจะเกลียดที่มาของแมคโดนัลด์ทุกวันนี้ จนอยากเลิกกินมันไปเลยก็ได้…

cr : kwanmanie.com