Movie Critical

Split : จิตหลุดโลก

Year 2017
Running Time  117 minutes
Written and directed by M. Night Shyamalan
Cast: James McAvoy, Anya Taylor-Joy, and Betty Buckley

ใครที่ชอบหนังทริลเลอร์แนว 10 Cloverfield Lane (2016) หรือเคยเป็นแฟนหนังของผู้กำกับ-มือเขียนบทจอมหักมุม (หรือ Plot Twist) M. Night Shyamalan ตั้งแต่สมัย The Sixth Sense หรือ Unbreakable แต่รู้สึกว่าช่วงหลังฝืมือแกดร็อปลงไปบ้าง วันนี้เราขอแนะนำ Split ผลงานคืนฟอร์มเรื่องล่าสุดของ M. Night (แต่เราว่าพี่แกก็เริ่มกลับมาโอเคตั้งแต่เรื่อง The Visit ก่อนหน้านี้ละล่ะ)

ชายคนหนึ่ง (James McAvoy จาก X-Men) จับเด็กหญิงสามคนจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาขังในห้องใต้ดิน ในขณะที่สองสาว Claire (Haley Lu Richardson จาก The Edge of Seventeen) กับ Marcia (Jessica Sula) พยายามหาทางต่อสู้และหลบหนีด้วยความหวาดกลัว หนึ่งสาว Casey (Anya Taylor-Joy จาก The Witch) กลับนิ่งเฉย และพยายามหาทางเอาตัวรอดในวิธีที่แตกต่างจากเพื่อน

Casey เริ่มเรียนรู้ว่าชายที่จับพวกเธอมานั้นไม่เหมือนคนอื่นทั่วไป บางครั้งเขาก็เป็น Dennis ชายจอมบงการวางอำนาจ บางครั้งก็เป็นผู้หญิงชื่อ Patricia บางครั้งก็เป็น Hedwig เด็กชายเก้าขวบที่ดูอ่อนแอใสซื่อ บางครั้งก็เป็นดีไซน์เนอร์หรือแฟชั่นนิสต้า Barry ฯลฯ

(พวก)เขามีจิตแพทย์ประจำตัวชื่อ Dr. Karen Fletcher (Betty Buckley จาก The Happening) ผู้เชื่อว่าสิ่งที่คนไข้ของเธอเป็นอยู่นั้นไม่ใช่ความบกพร่อง แต่เป็นความสามารถพิเศษที่สมองตอบสนองกับสิ่งสิ่งหนึ่งเพื่อป้องกันตัวเองจากความกลัวหรือภัยอันตราย

ในขณะที่ Casey ติดอยู่ในชั้นใต้ดิน ก็จะมีถึงเรื่องราวในสมัยที่ Casey ห้าขวบ (Izzie Leigh Coffey) ครั้งที่เธอไปเข้าป่าล่าสัตว์กับพ่อ (Sebastian Arcelu) และอาของเธอ (Brad William Henke) เป็นแฟลชแบ็กมาเรื่อย ๆ

คำเตือนก็คือ ก่อนจะไปดู Split (หรือหนังใดใดของM. Night Shyamalan) เราไม่ควรรู้เรื่องราวหรือดีเทลของหนังมากไปกว่าที่เทรลเลอร์หนังอนุญาต (หรือเข้าไปดูโดยรู้น้อยที่สุด… ไม่ต้องอ่านเรื่องย่อหรือดูเทรลเลอร์เลยอาจดีที่สุด) เพราะตอนจบที่หักมุมนั้นถือเป็น signature ประจำตัวของผู้กำกับ-นักเขียนบท M. Night Shyamalan คนนี้เลยก็ว่าได้

สำหรับ Split อาจจะไม่ได้เซอร์ไพรส์หรือหักมุมซะเหวอเท่า The Sixth Sense ที่เคยทำไว้ดีมากเมื่อปี 1999 หรือกระทั่ง The Visit เมื่อปีที่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า Split คือการทวงบัลลังก์ของเขาหลังจากตุปัดตุเป๋ไปหลายปี ถึงแม้คนดูในยุคปัจจุบันหลายคนจะเริ่มคุ้นเคยกับการ “ถูกหนังหักมุมใส่” มาประมาณนึงแล้ว แต่ Split ก็ยังเซอร์ไพรส์ได้ดี เชื่อว่าคนดูเกือบร้อยทั้งร้อยต้องคาดไม่ถึงว่ามันจะไปจบอย่างนั้น ใครที่เคยดูงานมาสเตอร์พีซของเขามาก่อนอย่าง The Sixth Sense หรือ Unbreakable ต้องร้องแน่นอน

 

การเล่าเรื่องถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ หลังจากที่ James McAvoy จับสาว ๆ มาขังไว้ที่ห้องใต้ดินแล้ว เราก็ดูได้เรื่อย ๆ ไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันน่ากลัวหรือกดดันอะไรแบบ 10 Cloverfield Lane แต่เราก็ชอบที่ M. Night เลือกคงสไตล์ของตัวเขาไว้ นั่นคือการสร้างสถานการณ์ให้คนดูสงสัยหรือหวาดกลัวไปเรื่อย ๆ ว่า ตัวละครตัวนี้มันจะมาไม้ไหนอะไรอีก บวกกับเรื่องนี้ได้ Mike Gioulakis ซึ่งเป็น cinematographer ของเรื่อง It Follows มาอีก เรื่องสถานการณ์ชวนระแวงหรือความหลอนโผล่มาไม่มีเวล่ำเวลานี่ วางใจพี่แกได้เลย

James McAvoy อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกนักแสดงที่ดีที่สุดสำหรับบทนี้ เพราะบางจุดเราก็รู้สึกว่ามันน่าจะเล่นสุดได้กว่านั้นอีก และบางซีนเราก็แยกไม่ค่อยออกว่า ณ จุดจุดนั้น James McAvoy กำลังอยู่ในแสงของคนบุคลิกไหนจากทั้งหมด 23 บุคลิก (นี่ขนาดเขาก็ไม่ได้โชว์คนดูหมดทั้ง 23 บุคลิกหรอกนะ) ซึ่งเรากำลังพยายามคิดนะว่า บางทีเราอาจจะโง่ของเราเองที่ตามเรื่องเขาไม่ทัน

อย่างไรก็ดี เราไม่ได้บอกว่า James McAvoy แสดงไม่ดี ตรงกันข้าม เราคิดว่าเขาเอาอยู่ทุกบุคลิกเลยแหละ ดูแล้วเชื่อสนิทว่าเขา “จิตได้ใจ” จริง ๆ และเราก็เข้าใจด้วยแหละว่า บทบาทของคนหลายบุคลิก (โดยเฉพาะเคสนี้ก็สองโหลบุคลิก) แบบนี้ เป็นโจทย์ที่หินและท้าทายขนาดไหน

แต่ที่จริงแท้แน่นอนคือนักแสดงสาวหน้าใหม่ Anya Taylor-Joy ที่เล่นเป็น Casey เด็กคนนี้สวย หน้ามีเอกลักษณ์ เหมาะกับบทอะไรแบบนี้ และที่สำคัญนางดูมีของมาตั้งแต่เรื่อง The Witch ละ ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในนักแสดงดาวรุ่งแห่งปีได้เลย


ยอมรับว่าตอนฟังพล็อตครั้งแรก แอบคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าดูตรงที่มีความแฟนตาซี จินตนาการชาย 23 บุคลิกเหมือนตอนจินตนาการชายที่เปลี่ยนหน้ากากหน้าคนได้ตลอดเวลาแบบในหนัง Face/Off เพียงแต่เรื่องนี้ไม่ได้เปลี่ยนหน้า… หน้าเดิมแต่หลายบุคลิก… อะไรประมาณนั้น หรือบางทีก็แอบพ่วงไปถึงมนุษย์กลายพันธ์ุหรือเด็กพิเศษแบบ X-Men ด้วยภาพจำของพระเอกในบทบาทของ Professor Charles Xavier

แต่พอได้ดู มันทำให้เราตระหนักว่า นี่ไม่ใช่เรื่องมโนชอบที่ผู้กำกับพยายามนำเสนอประเด็นให้คนดูได้ลองมองคนที่สังคมบอกว่าเขาเป็นบ้า โรคจิต หรือป่วยทางจิตในแง่มุมที่ไม่เคยมอง โดยเขาเขียนบทจากจินตนาการที่เป็นไปได้บนพื้นฐานตามหลักข้อเท็จจริงของวิทยาศาสตร์และการแพทย์

คนหลายบุคลิกมีอยู่จริงในสังคม ทางการแพทย์เรียกว่า Dissociative identity disorder (DID) หรือ Multiple Personality Disorder (MPD) แต่เท่าที่เราเข้าใจคือ ไม่จำเป็นต้องแค่ MPD แต่รวมถึงพวก disorders ต่าง ๆ หลายอย่างส่วนใหญ่มันไม่ใช่โรคหรืออาการที่เกิดจากยีน พันธุกรรม หรือธรรมชาติกำหนดมา (Nature) หากแต่เป็นผลผลิต ผลลัพธ์ หรือผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ จากสังคม สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูทั้งสิ้น (Nurture) อย่าง MPD ก็เป็นเพียงหนึ่งในการตอบสนองของสมองต่อสิ่งที่คนคนนั้นกลัว ก็เท่านั้น

นอกจากนี้ เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ประเด็น “ความแตกต่าง” มันชวนให้ฉุกคิดตั้งแต่วินาทีแรก (ตั้งแต่ยังไม่ตรัสรู้ว่ามีอาการ MPD อยู่แบบจริง ๆ จัง ๆ) ว่า มันเป็นไปได้หรือที่คนคนนึงจะมีหลายบุคลิก อย่างเต็มที่ก็คุ้นเคยแค่อาการไบโพอาร์หรือคนอารมณ์สองขั้ว

แต่พอมาคิดดูดี ๆ แล้ว เอาจริงมันก็ควรจะเป็นเรื่องปกติที่คนคนนึงจะมีหลายบุคลิก ตามอารมณ์และสถานการณ์ มันคงไม่มีหรอกคนใจดีที่ใจดีตลอดเวลา ใจดีเสมอต้นเสมอปลายและเสมอไปกับทุกคนทุกเรื่องทุกเวลา (ถ้าใครรู้จักคนใจดีขนาดนี้ แนะนำให้หน่อย อยากคบเป็นเพื่อน) เพียงแต่ไอ้คำว่า “หลายบุคลิก” หรือ “ความแตกต่าง” หรืออาการใดใดก็แล้วแต่ มันมีขอบเขตที่ “สังคมยอมรับได้” กับ “สังคมยอมรับไม่ได้” กั้นแบ่ง

ถ้าคุณมีอาการใดใดในขอบเขตที่สังคมยอมรับได้ คุณก็ยังถูกจัดว่าเป็น “คนปกติ” แต่ถ้าวันนึงอาการของคุณไม่ได้รับการยับยั้งหรือควบคุมจนไปไกลเกินกว่าขอบเขตที่สังคมยอมรับ วันนั้นคุณอาจถูกจัดกลุ่มเป็น “คนแปลก” หรือ “คนป่วย” หรือ “คนบ้า” หรือ “โรคจิต” ทันที

เพราะอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่… ธรรมชาติของมนุษย์ต่างกลัวสิ่งที่ “แตกต่าง” หรือสิ่งที่ “คอนโทรลไม่ได้” มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว มันจึงเกิดการ Labelization หรืออะไรประมาณนี้ขึ้น เพื่อป้องกันตัวเองจากสิ่งนั้น ๆ ที่มนุษย์เหล่านั้นต่างกลัว…

cr : kwanmanie.com