Movie Critical


Inside Out : อะไรอยู่ในหัว

Year 2015
Running Time  102 minutes
Written and directed by Pete Docter, Ronnie del Carmen
Cast: Amy Poehler, Phyllis Smith, Mindy Kaling, Lewis Black

เพิ่งเชียร์การ์ตูนแอนิเมชันของ Disney เรื่อง Big Hero 6 จนได้รางวัล OSCARS สาขา Best Animated Feature ไปไม่ทันข้ามปีดีนัก ล่าสุดบริษัทลูกรักของ Disney อย่าง PIXAR ก็ปล่อย Inside Out หนังแอนิเมชันมาสเตอร์พีซ กำกับฯ และเขียนบทโดย Pete Docter (จากแอนิเมชันออสการ์ UP: ปู่ซ่าบ้าพลัง) ออกมาให้แฟนๆ ได้ชมกันอย่างต่อเนื่องซึ่งหลายคนดู Inside Out แล้ว ถึงกับออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า นี่เป็นหนึ่งในหนัง coming-of-age ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในรอบปี และปีนี้ Disney กับ Pete Docter มีสิทธิจะได้เข้าชิง (หรือไม่ก็อาจจะได้รับ) OSCARS สาขา Best Animated Feature อีกปีเป็นอย่างแน่แท้…

“Do you ever look at someone and wonder what is going on inside their head?”

ทุกคนล้วนมี Joy, Sadness, Anger, Fear, และ Disgust คอยควบคุมสั่งการอารมณ์ความรู้สึกของเราอยู่ในหัว สำหรับ Riley Anderson สาวน้อยวัย 11 ขวบนั้นก็มี Joy, Sadness, Anger, Fear, และ Disgust ทั้ง 5 ตัวอยู่ในหัวเช่นเดียวกับคนอื่นๆ โดยมี Joy เป็นหัวหน้าทีม Riley จึงเป็นสาวน้อยโลกสวยที่เต็มไปด้วยความสุขและความสดใสร่าเริงตามประสาเด็กจนกระทั่งวันหนึ่ง จู่ๆ Joy กับ Sadness ก็บังเอิญถูกดูดและ eject ตัวเองเด้งออกจาก Headquarters ทิ้งให้ Anger, Fear, และ Disgust คอยจัดการอารมณ์ความรู้สึกของ Riley ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ Riley ต้องปรับตัวกับชีวิตใหม่ บ้านใหม่ โรงเรียน และเพื่อนใหม่พอดี หลังจากที่ครอบครัวของเธอต้องย้ายบ้านจาก Minnesota มาอยู่ San Francisco

ต้องยอมรับว่าหนังแอนิเมชันสมัยนี้ไม่ใช่หนังการ์ตูนสำหรับเด็กน้อยเท่านั้นอีกต่อไป เราอยู่ในยุคที่หนังแอนิเมชันทั้งสนุกและดีกว่าหนังปกติทั่วไปหลายๆ เรื่องเสียอีก อย่างในหนังเรื่อง Inside Out นี้ก็เป็นอีกหนึ่งแอนิเมชันที่ดีงามทั้งในแง่เนื้อหาและความบันเทิง โดยเฉพาะในด้านเนื้อหานั้น เราคอนเฟิร์มเลยว่า สนุก บทเขาดีจริงๆ เราดูแล้วได้คิดตามตลอดเรื่อง ไอเดียเขาเจ๋งมาก สดใหม่ และสร้างสรรค์เว่อร์ๆ การดู Inside Out เหมือนได้ทัศนศึกษาสมอง หนังถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวคน ทั้งอารมณ์ ความคิด และความรู้สึก ซึ่งสุดแสนลึกล้ำซับซ้อนเหลือกำหนด ออกมาให้เข้าใจได้ง่าย สร้างสรรค์ สวยงาม และดูเพลินสุดๆ ดูแล้วรู้เลยว่าคนทำหนังเขาทำการรีเซิชและศึกษามาอย่างดี มันจึงทำให้เราได้เห็นความใส่ใจในการรังสรรค์ ไม่ใช่แค่งานภาพ (Visual) หากแต่ยังรวมถึงคาแรกเตอร์และตัวบทด้วย

ที่เราชอบคือหนังทำให้คนดูอย่างเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหนังตลอดเวลา เช่น เวลาเราดูเจ้า Emotions ทั้งห้าตัวห้าสี (Joy, Sadness, Anger, Fear, และ Disgust) พูดหรือทำอะไรต่างๆ เราจะมองตัวเองไปด้วยว่า เราเหมือนอีตัวไหนในห้าตัวนี้มากกว่ากันนะ หรือ ในหัวเราจะมี Emotion ตัวไหนเป็น Leader กันนะ (ซึ่งเราได้คำตอบว่า ของเราคงน่าจะเป็น Anger แหละ ฮ่าๆๆ) แล้วมันเพลินมากๆ เลยนะเวลาที่ได้ดูเจ้าห้าตัวนี้มัน react กับเรื่องเดียวกันในรูปแบบที่แตกต่างกันตามลักษณะนิสัย คือมันเหมือนกำลังดูพฤติกรรมคนจริงๆ อยู่เลยยังไงยังงั้น นอกจากนี้ ฉากที่หนังถ่ายทอดในส่วนที่เกี่ยวกับความทรงจำในวัยเด็กของ Riley นั้น น่าจะเป็นพาร์ทที่เข้าถึงคนดู… โดยเฉพาะผู้ใหญ่… ได้มากที่สุด เพราะเราเชื่อว่าคนทุกคนก็ย่อมมีความทรงจำในวัยเด็กด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น favourite memories ที่เราหยิบขึ้นมาดูบ่อยๆ หรือ fading memories ที่เราอาจจะกำลังหลงลืมหรือละเลยไปแล้วโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น หนังเรื่องนี้จึงเป็นหนังที่เด็กดูได้ แต่ถ้ายิ่งผู้ใหญ่ได้ดูก็ยิ่งดีอิน

ขอบคุณรูปและข้อมูลจาก http://disney.wikia.com/

จากหนังเรื่อง Inside Out มาดูกันว่ามี “อะไรในหัว” ของเรากันบ้าง
1. อารมณ์
จากหนัง เราจะเห็นว่าคนเราจะมีอารมณ์หลักๆ อยู่ 5 อย่าง ได้แก่ Joy, Sadness, Anger, Fear, และ Disgust (จริงๆ เจ๊เขียวตัวหลังสุดนี้แอบคล้ายๆ ตัว Envy อย่างบอกไม่ถูก -.-) โดยการแสดงออกทางอารมณ์ของตัวละครในหนังถูกควบคุมสั่งการโดย Emotions’ Headquarters ที่คอยกดปุ่มบนแป้นคีย์บอร์ดให้ตัวละคร react กับสิ่งต่างๆ ที่เขาพบเห็น (ซึ่งทำให้เรานึกถึงมนุษย์ยุคอินเทอร์เน็ต… ที่เดี๋ยวนี้มักแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองผ่านแป้นคีย์บอร์ดกัน…) อารมณ์ทั้งห้านี้จะคละเคล้าปะปนมากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่คน อย่างหัวหน้าแก๊ง “Head” Quarters ของหนูน้อย Riley คือ Joy ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมหนูน้อย Riley จึงเป็นเด็กที่สดใสร่าเริง ส่วนผู้ทรงอิทธิพลใน “Head” Quarters ของพ่อกับแม่จะเป็น Anger กับ Sadness ตามลำดับ (คือไม่ใช่ว่าทุกหัวจะมี Joy เป็นใหญ่เหนืออารมณ์อื่นๆ เสมอ) ซึ่งตรงนี้เองที่มีส่วนมีผลต่อพฤติกรรม การแสดงออก หรือกระทั่งการตัดสินใจของแต่ละคนต่างๆ กันไปในแต่ละโมเมนต์

อย่างไรก็ดี พอคนเราโตขึ้น อารมณ์ความรู้สึกของเราก็ย่อมซับซ้อน (หรือเข้าใจยาก) มากขึ้น กับสิ่งแต่ละสิ่ง หรือกับความทรงจำแต่ละเรื่อง เราไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกเดียวเสมอไป เราอาจจะสุขเศร้าโกรธกลัวหรือรังเกียจมันไปพร้อมๆ กันก็ได้ นอกจากนี้ ถึงแม้การมองโลกในแง่ดี หรือพยายามเอ็นจอยกับทุกอย่างบนโลกจะเป็นเรื่องที่ดี แต่เราไม่จำเป็นต้องฝืนหรือพยายามเป็นคนที่แฮปปี้ตลอดเวลาก็ได้ ความรู้สึกบางอย่าง แม้แต่ความเศร้าเอง ก็มีคุณค่าในตัวของมันในเวลาของมัน และเป็นความทรงจำที่ดีได้ไม่น้อยไปกว่าความทรงจำที่มีแต่ความสุข ทุกอารมณ์มีความหมาย ที่สำคัญ…คนเราทุกคนมีสิทธิที่จะโกรธ เศร้า หรือกลัวในบางเวลา แต่เราแค่ต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ทั้งห้านั้นให้แสดงออกมาให้ถูกที่ ถูกเวลา และในปริมาณที่เหมาะสม แต่เออ… เราก็เห็นเหมือนกันนะว่า… การมีความสุขมันสำคัญมากจริงๆ

2. ความทรงจำ

ความทรงจำแต่ละเรื่องๆ จะถูกเก็บไว้ใน Memory Orbs หรือลูกแก้วกลมๆ สีต่างๆ ตามอารมณ์ ณ ขณะนั้น (ยกเว้น factual information) ซึ่งลูกแก้วความทรงจำทั้งหลายจะเก็บอยู่ใน Long Term Memory ที่เป็นเชลฟ์ๆ เป็นไลบรารี่ เรียงรายคดเคี้ยวเป็นเขาวงกตเหมือนรอยหยักในสมองคน (หรือจะเปรียบเทียบกับการที่คนสมัยนี้เลือกเก็บรูปถ่ายแห่งความทรงจำต่างๆ ไว้ใน drive ต่างๆ ก็ไม่ผิดนัก) ความทรงจำหลักๆ จะถูกเก็บเป็น Core Memory ซึ่งเป็นตัวกำหนด Personality ของคนคนนั้น (Personality Islands) โดย Riley มี Personality Islands จากความทรงจำหลักในวัยเยาว์ทั้งสิ้น 5 เกาะด้วยกัน ได้แก่ Goofball Island, Friendship Island, Hockey Island, Honesty Island, และ Family Island

ความทรงจำหลักหรือ Core Memory นั้น อาจเปลี่ยนแปลง ต่อเติม หรือพังทลายลงได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างในแต่ละช่วงเวลา อย่างไรก็ตามคนคนนึงอาจจะมี Personality Islands มากกว่า 1 เกาะ จนไปถึงกี่เกาะก็ได้ โดยเห็นได้ชัดว่า ยิ่งโตขึ้น บุคลิกภาพของคนเราก็ยิ่งพัฒนามากขึ้นหรือซับซ้อนยิ่งขึ้น ก็คงต้องมีเกาะใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ (ในขณะที่เกาะบางเกาะอันเก่าก็อาจจะสึกหรอหรือพังครืนลงได้ด้วยเช่นกัน) เช่นเดียวกับ control board ใน “Head” Quarters ที่พอคนโตขึ้น Emotions ก็ยิ่งมีเยอะปุ่มขึ้นเยอะแยะละลานตา ความทรงจำบางอย่าง เมื่อถึงเวลา มันก็ต้องถูกหลงลืมเลือนแล้วสิ้น สมองของเราจึงมีฝ่ายหนึ่งไว้คอยเช็ค faded memories หรือความทรงจำที่ไร้ค่าแล้ว (เช่น เบอร์โทรศัพท์ที่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีช่วยจำแทนแล้ว) โยนทิ้งลงไปในเหว Memory Dump อันมืดมนตลอดกาล

3. ความคิด
Train of Thought จะวิ่งฉึกกะฉักก็ต่อเมื่อเราตื่นนอนเท่านั้น และจะหยุดวิ่งก็ต่อเมื่อเรานอนหลับ รถไฟความคิดวิ่งไปเรื่อยๆ ในหัวเราอย่างไม่มีทิศทางแน่นอน และโดยปกติจะมี route มุ่งไปสู่  “Head” Quarters ด้วย แสดงให้เห็นว่า อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เราแสดงออกนั้น โดยส่วนใหญ่ก็ล้วนมีพื้นฐานมาจากความคิด ความรู้ ความทรงจำ หรือประสบการณ์ชีวิตของเราด้วยนั่นเอง ส่วนความคิดนามธรรม (Abstract Thought) นั้น ในหนังมี 4 stages แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม Abstract Thought ไม่ใช่สิ่งที่คนเราจะมีมันมาตั้งแต่เกิด โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นตอนเราอายุประมาณ 10 ขวบขึ้นไป และความคิดที่ไม่ได้เป็นรูปธรรมอย่างพวกนี้นี่แหละ…น่ากลัว…อืม ก็คงจะจริงที่เขาว่า ยิ่งโต อะไรๆ ก็ยิ่งซับซ้อน…

4. จินตนาการ
Imagination Land ของ Riley สวยงาม สดใส และน่ารักน่าชังตามประสาเด็กน้อยโลกสวย ในโลกแห่งจินตนาการของเธอมี Bing Bong เพื่อนในจินตนาการที่หน้าตาเหมือนสัตว์สามสปีชีส์ผสมพันธุ์กัน จนไปถึง “แฟนในฝัน” ที่หล่อสมาร์ท และพร้อมจะตายเพื่อเธอ เราว่า Imagination Land ในวัยเด็กของทุกคนก็คงสวยงาม กว้างใหญ่ไพศาล กันทั้งนั้น แต่ปัญหาคือ ยิ่งเราโตขึ้น Imagination Land ของเราก็ยิ่งเล็กลง… แปรรูป… หรืออาจสูญหายไปเลยก็ได้… แล้วแต่คน

5. ความฝัน
Dream Productions จะทำงานก็ต่อเมื่อเรานอนหลับ และหยุดทำงานก็ต่อเมื่อเราตื่น (ตรงกันข้ามกับ Train of Thought) โดยวัตถุดิบที่ทีมผลิตฝันเอามาเมคความฝันขึ้นมาแต่ละคืนนั้น ก็มีมูลมาจากความทรงจำ ประสบการณ์ หรือจินตนาการของเราทั้งสิ้น โดยทั่วไป เวลาเราฝันดีอย่างมีความสุข เราจะไม่อยากตื่น แต่ถ้าความฝันนั้นเป็นเรื่องราวที่น่าเกลียดน่ากลัว เราจะสะดุ้งตื่นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นกลไกของสมองทั้งสิ้นเช่นกัน

6. จิตใต้สำนึก
จิตใต้สำนึก (Subconcious) เป็นส่วนที่ถูกเก็บไว้ลึกสุดในก้นบึ้งจิตใจของมนุษย์ ในนั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่เรากลัวที่สุดหรือเกลียดที่สุด ซึ่งก็มักจะเป็นอะไรสักอย่างที่เรามีความทรงจำที่โคตรเลวร้ายชนิดจำฝังใจกับมันมาแต่ชาติปางก่อน

แน่นอนว่าในสมองของเราคงไม่ได้มีแค่ Emotions’ Headquarters ไว้ผลิตอารมณ์หรือสั่งการความรู้สึกอย่างเดียว หากแต่ต้องมีส่วนที่เป็นความทรงจำ (Memory Orbs), ความคิด (Train of Thought), ความคิดนามธรรม (Abstract Thought), จินตนาการ (Imagination Land), ความฝัน (Dream Productions), และจิตใต้สำนึก (Subconcious) ด้วย ตามที่กล่าวมาข้างต้น

ทั้งหมดนี้คือกลไกที่อยู่ในสมองของเรา ซึ่ง Inside Out เขาจำลองสมองใหม่ออกมาได้เป๊ะทุกดีเทล  และพาพวกเราไป explore ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ดูง่าย ดูเพลิน สนุกจนไม่อยากให้ทัวร์นี้จบลงเลย


โดยสรุป Inside Out เป็นหนังแอนิเมชันเรื่องเยี่ยมแห่งปีที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี แนะนำมากๆ คือดูแล้วจะเข้าใจมนุษย์มากขึ้น และหวนคิดถึงความทรงจำที่หายไปของตนเอง ไปดูเถอะ หนังเปี่ยมไปด้วยความคิดที่บรรเจิดสุดๆ และจินตนาการที่สร้างสรรค์สุดๆ สนุกครบรส ทั้งสาระและความบันเทิง ถ้าคุณไปดูแล้ว จะ “อิน” ไม่มี “เอ้าต์”
cr : kwanmanie.com