Lion : จนกว่าจะพบกัน
Year: 2016
Running Time: 118 minutes
Director: Garth Davis
Writers: Saroo Brierley (adapted from the book “The Long Way Home” by), Luke Davies (screenplay)
Cast: Dev Patel, Rooney Mara, David Wenham, Nicole Kidman, Sunny Pawar, Abhishek Bharate
เป็นที่น่าตกใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่แปลกใจ ที่พบว่าในแต่ละปีมีเด็กหายในประเทศอินเดียกว่า 80,000 คน Saroo Brierley เป็นหนึ่งในนั้น แต่เขาโชคดีที่มีผู้ปกครองใจบุญชาวออสเตรเลียรับไปอุปการะ เขาบันทึกเรื่องราวของเขาเป็นหนังสือ A Long Way Home: A Memoir
ผู้กำกับ Garth Davis หยิบเรื่องราวของ Saroo Brierley มาโลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม ชื่อเรื่องว่า Lion (คำว่า Saroo คล้องกับคำที่มีความหมายว่า สิงโต) ซึ่งล่าสุดได้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globes) ครั้งที่ 74 ถึง 4 สาขาและแน่นอนว่า Lion มีสิทธิลุ้นเข้าชิง
ออสการ์สาขาใหญ่ ๆ ด้วยอย่างน้อย 1 สาขาอย่างแน่นอน
หนัง Lion สร้างจากเรื่องจริงของ Saroo Brierley โดยเริ่มเรื่องที่ปี 1986 ในเมือง Khandwa ประเทศอินเดีย ตอนนั้น Saroo อายุ 5 ขวบ เขาพลัดหลงกับพี่ชาย
ของเขา Guddu (Abhishek Bharate) ที่สถานีรถไฟ เขาถูกรถไฟพาไปเมือง Calcutta ซึ่งห่างจากบ้านเขาไปกว่า 1,600 กิโลเมตร
Saroo กลายเป็นเด็กไร้บ้าน (Homeless) อยู่อย่างอดอยากปากแห้งและยังต้องหลบหนีจากพวกแก๊งลักเด็กไปขาย ต่อมาเขาถูกส่งไปอยู่ที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าก่อนที่ Sue & John Brierley (Nicole Kidman & David Wenham จาก The Lord of the Rings) สองสามีภรรยาชาวออสเตรเลียจะมารับเขาไปเป็นลูกบุญธรรม
Saroo จากบ้านไกลมาอยู่ Tasmania ประเทศออสเตรเลีย Sue กับ John เลี้ยงดูเขาอย่างดี เขาเรียนต่อการจัดการโรงแรมที่ Melbourne และได้พบรักกับสาวนิวยอร์ก Lucy (Rooney Mara ผู้เข้าชิงออสการ์จาก Carol) เพื่อนร่วมคลาสของ Saroo แนะนำให้เขาตามหาบ้านเกิดของเขาโดยใช้เทคโนโลยี Google Earth เพื่อที่วันนึงเขาจะได้กลับไปหาแม่ (Priyanka Bose) และพี่น้องแท้ ๆ ของเขา
หลายช็อตที่หนังถ่ายทอดเรื่องราวได้โดยที่ตัวละครไม่ต้องพูดอะไรเลยสักคำ เราก็เข้าถึงอารมณ์และความรู้สึก ณ ขณะนั้นได้ อีกทั้งทำให้เราเห็นความ contrast ของโลกคู่ขนานทั้งสองประเทศ ระหว่างอินเดียกับออสเตรเลีย เห็นความยากลำบากของคนยากคนจน รู้สึกตัวเองโชคดีแค่ไหนแล้วที่เกิดมามีบ้านอยู่และมีครอบครัวอยู่ใกล้ ๆ
การถ่ายภาพในหนังของ Greig Fraser (ช่างถ่ายภาพจาก Rogue One, Foxcatcher, Zero Dark Thirty ฯลฯ) ก็งดงามและอัจฉริยะอย่างยิ่ง ดูแล้วชวนให้เข้าถึงอารมณ์ตลอดการเดินทางของ Saroo โดยเฉพาะการถ่ายภาพ landscape จากมุม Bird’s-eye view ที่เข้าคอนเซ็ปต์กับการหาบ้านของตัวละครเอกโดยใช้ Google Earth
นอกจากงานภาพที่โดดเด่น จุดแข็งของเรื่องนี้คือการแสดงอันทรงพลังของเหล่านักแสดง ตั้งแต่สองหนุ่มที่รับบทเป็น Saroo Brierley นั่นก็คือ Dev Patel กับ Sunny Pawar ทั้งสองทำหน้าที่ในพาร์ทของตนเองได้อย่างยอดเยี่ยม
ตอนแรกเราก็สงสัยว่าทำไม Dev Patel ได้เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชาย ไม่ใช่สาขานักแสดงนำชาย เพราะเขาเองก็รับบทเป็นตัว Saroo Brierley ซึ่งเป็นตัวละครหลักของเรื่องเลย แต่พอได้ดูหนังจริงจึงเข้าใจ Dev Patel ไม่ได้แบกหนังทั้งเรื่องไว้เพียงคนเดียว นักแสดงอีกคนหนึ่งที่แบกเรื่องราวไว้พอ ๆ กับเขาคือนักแสดงเด็กหน้าใหม่ Sunny Pawar ที่รับบทเป็น Saroo ในวัยเด็ก
กล่าวคือ Sunny Pawar แสดงให้เห็นว่าความยากลำบากของ Saroo วัยเด็กที่อินเดียเป็นอย่างไร ความเคว้งคว้างของการอยู่อย่างโดดเดี่ยวและหลงทางในเมืองที่ไม่มีใครคุยภาษาเดียวกับเขานั้นเป็นอย่างไร (Saroo พูดภาษาท้องถิ่นคือภาษาฮินดี ในขณะที่คนในเมือง Calcutta พูดภาษาเบงกาลี)
ส่วน Dev Patel ถ่ายทอดความเจ็บปวดและความซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละครได้อย่างดีเยี่ยมจนเกือบจะร้องไห้ตาม หวังว่าเรื่องนี้จะส่งให้เขาไปถึงเวทีออสการ์ได้ เพราะต้นปีเขาก็เล่น The Man Who Knew Infinity เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียได้อย่างน่าประทับใจ แต่ข้อติงคือ Dev Patel เป็นคนผิวสีน้ำตาลที่หล่อมากและหุ่นดีมาก ทั้งรูปร่าง หน้าตา และผิวพรรณต่างจาก Saroo ตัวจริงอยู่โข แถมยังดูเชื่อได้ยาก ว่าเขาเป็นคนอินเดียที่เกิดในสลัม
อย่างไรก็ดี เนื่องจากในตอนต้นเรื่องหนังพาเราไปสัมผัสประสบการณ์ชีวิตอันแร้นแค้นของ Saroo มาแล้ว ช่วงที่เขาโตมาเป็น Dev Patel มันจึงมีหลายช็อตที่เราอินไปกับมัน เพราะเรามีความทรงจำวัยเด็กและมีประสบการณ์ร่วมไปกับ Saroo ช่วงแรกหนังอาจจะเล่าเรื่องช่วงวัยเด็กยาวนาน คนดูอาจจะอยากดูตอนโตแล้ว แต่พอดูไปเรื่อย ๆ ก็เข้าใจแล้วว่าทำไมต้องให้แบคกราวนด์เยอะขนาดนี้
เราจึงเข้าใจเวลาที่เขานึกถึงช่วงวัยเด็กที่เขาเคยอยากกินอะไรแต่ไม่ได้กินแล้ววันนี้เขาสามารถกินขนมนั้นกี่ชิ้นก็ได้ และเราก็เข้าใจเขา หากเขาจะรู้สึก uncomfortable กับชีวิตอัน comfortable ในปัจจุบัน เพราะครอบครัวของเขาอีกทวีปหนึ่งกำลังอยู่ยากลำบากและอาจเป็นห่วงว่าเขาจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร
แต่คนที่น่าลุ้นออสการ์แน่นอนกว่าคือ Nicole Kidman ผู้รับบทเป็นแม่เลี้ยงของ Saroo ช็อตที่น่าสนใจมีอยู่สองซีน ซีนแรกคือซีนที่เธอมอง Saroo เปิดตู้เย็นในบ้านของเธอครั้งแรก ตู้เย็นที่เต็มไปด้วยของกินมากมายต่างจากชีวิตก่อนหน้านี้ของเขาที่แทบไม่มีอันจะกิน ซีนนี้แสดงถึงฟีลลิ่งโดยภาพรวมเป็นภาพที่ไม่ต้องพูดอะไรแต่มีความหมายเป็นร้อยล้านคำ
อีกซีนหนึ่งคือที่การแสดงของ Nicole Kidman และไดอะล็อกของ Sue ล้วน ๆ คือตอนที่เธอบอกเหตุผลที่เธอรับ Saroo กับ Mantosh มาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมแทนที่จะมีลูกแท้ ๆ ที่ให้กำเนิดด้วยตัวเองเอง
Sue กับ John Brierley ไม่สนว่าเด็กที่รับเลี้ยงมาจะเป็นอย่างไร ถึงแม้ Mantosh จะโตมาไม่ได้ดั่งใจ พวกเขาก็ไม่เสียใจที่ตัดสินใจรับเลี้ยง พวกเขามองว่าการผลิตจำนวนประชากรเพิ่มไม่ได้การันตีว่าผลผลิตนั้นจะเป็นผลผลิตที่ดีและช่วยให้สังคมดีขึ้น แต่การช่วยเหลือเด็กกำพร้ามันช่วยให้โลกดีขึ้นมาแน่ ๆ ไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ซาบซึ้งกับทัศนคติของพวกเขา แต่แนวคิดนี้ยังทำให้เรานึกย้อนไปถึงสังคมอินเดีย ซึ่งมีประชากรล้นหลาม ประชากรส่วนใหญ่ยากจน ประเทศยังห่างไกลจากการพัฒนา
Lion ไม่ได้เป็นหนังจุดประกายความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ไม่ใช่หนังที่โชว์ให้เห็นว่าพระเอกของเราอยู่รอดได้ด้วยโชคช่วยหรือปาฏิหาริย์ ในทางกลับกัน พระเอกของเรามีสติปัญญา ความอุตสาหะ และหัวใจยิ่งใหญ่ดุจราชสีห์นอกจากนี้ ดู Lion จบแล้ว เรายังตระหนักได้ถึงสิ่งที่ทำให้โลกของเราและชีวิตของคนคนหนึ่ง “ดีขึ้น” ได้อยู่ 2 อย่าง ได้แก่ เทคโนโลยีและการศึกษา ในขณะเดียวกันก็มีอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้โลกของเรา “น่าอยู่ขึ้น” ด้วย นั่นก็คือ ความดีและความรัก
นี่คือความจริงแท้ที่เราได้จากหนังเรื่องนี้ และความงดงามของเรื่องราวนี้ทำให้เราเสียน้ำตา
cr : kwanmanie.com