BOOK : ผักของโครงการหลวง (Royal Project Vegetables)

ย้อนไปในอดีตเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา

          หากได้มีโอกาสเดินทางมาสัมผัสพื้นที่หุบเขาทางภาคเหนือ จะได้พบเห็นปัญหาการทำลายพื้นที่สีเขียวบนภูเขาเพื่อทำการปลูกฝิ่น ชาวเขาจำนวนมากดำรงชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอย เพราะไม่มีความรู้ในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ไม้อื่นๆ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นปัญหาและจัดตั้ง โครงการหลวง เพื่อให้ความรู้ในการเพาะปลูกและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ตลอดจนฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง

          จากวันนั้นจวบจนวันนี้ มูลนิธิโครงการหลวงมุ่งศึกษาวิจัยสารพันพืชเมืองหนาวประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผัก ไม้ผล ไม้ดอก ฯลฯ เพื่อขยายผลไปสู่การส่งเสริมรายได้ให้กับชาวเขาทดแทนการปลูกฝิ่น โดยมีพื้นที่ดำเนินงานทั้งสถานีวิจัยและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงรวม 38 แห่งใน 5 จังหวัดทางภาคเหนือ รับหน้าที่ดูแลเกษตรกรกว่า 38,000 ครอบครัว ร่วม 180,000 ชีวิต

            หลักการดำเนินงานของโครงการหลวงนั้นเรียบง่ายและจริงใจที่สุด คือ มุ่งเน้นให้เกษตรกรดำเนินงานบนพื้นฐานของความพอเพียง ปลูกพืชชนิดต่างๆอย่างตั้งใจ เพื่อสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และป่าไม้ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ความยั่งยืนของธรรมชาติ คือคำตอบของการใช้ชีวิตของผู้คน

มาตรฐานการผลิตผักของโครงการหลวง

โครงการหลวงผลิตผักและสมุนไพรต่างประเทศกว่า 150 ชนิด ภายใต้มาตรฐานการเพาะปลูกที่ส่งเสริมเกษตรกร 2 รูปแบบ คือ การผลิตผักที่ได้รับการรับรองภายใต้มาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

            GAP (Good Agriculture Practice)  หรือ ระบบการเพาะปลูกที่ดี นั้นคือการพิจารณา 8 หัวข้อ คือ พื้นที่ปลูก แหล่งน้ำ การใช้สารกำจัดศัตรูพืช การปฏิบัติดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว สุขลักษณะส่วนบุคคล และการบันทึกกิจกรรมการเพาะปลูก ทั้ง 8 ข้อนี้ ต้องถูกต้องและเหมาะสมจึงจะได้มาตรฐาน GAP เพื่อการผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับเข้าสู่มาตรฐานสากล EUREPGAP และ GLOBAL G.A.P.

         นอกจาก GAP แล้ว ยังมีการทำการเพาะปลูกภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (IFOAM Accredited) และ ATP,NTUC Fair Price ประเทศสิงคโปร์ ทั้งการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน  ดำเนินการโดยปราศจากสารเคมี และเน้นความบริสุทธิ์ของธรรมชาติอย่างแท้จริง

ผักของโครงการหลวงในเล่ม แบ่งเป็น 9 ประเภท ได้แก่

1) วงศ์กะหล่ำ (FAMILY BRASSICACEAE) เช่น กะหล่ำดอกโรมาเนสโก้ สวีทแรดิช เทอร์นิพ วอเตอร์เครส

2) วงศ์ผักกาดหอม (FAMILY COMPOSITAE) เช่น คอสสลัด บัตเตอร์เฮดสลัด ฟิลเล่ย์ไอซ์เบิร์ก

3) วงศ์ VALERRIANACEAE (FAMILY VALERRIANACEAE) เช่น คอร์นสลัด

4) วงศ์แตง (FAMILY CUCURBITACEAE) เช่น ซุกินีเหลือง ฟักสปาเก็ตตี้ มะระหัวใจ

5) วงศ์พริก/มะเขือ (FAMILY SOLANACEAE) เช่น พริกหวานม่วง พริกหวานขาว มันฝรั่ง

6) วงศ์แครอท (FAMILY UMBELLIFERAE) เช่น เฟนเนล พาร์สเล่ย์

7) วงศ์ถั่ว (FAMILY LEGUMINOSAE) เช่น ถั่วลันเตาหวาน มันเทศญี่ปุ่น

8) วงศ์อื่น ๆ เช่น สวีสชาร์ด อาร์ติโช้ค

9) กลุ่มสมุนไพรต่างประเทศ (HERBS) เช่น ดิล ตังกุย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายชนิด ทั้งที่อาจจะเคยเห็นกันมาบ้างและที่ยังไม่เคยเห็นจากโครงการหลวงก็มีอีกมาก ว่าแล้วก็ไปหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านกัน
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ของเราก็ได้มีส่วนร่วมถวายงานในโครงการพระราชดำริ ในหลายโครงการ ลองติดตามกันได้ที่ www.royal.mju.ac.th

 

 

เนื้อหาและภาพประกอบบางส่วนจากหนังสือ

ผักของโครงการหลวง
(Royal Project Vegetables)
ตรวจสอบสถานะของหนังสือ https://goo.gl/Ou8TY9

หากสนใจผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวง สามารถดูรายละเอียดร้านค้าใกล้บ้านได้ที่ www.thairoyalprojecttour.com/?p=1170

Website : www.thairoyalprojecttour.com  | www.royalprojectmarket.com  |  www.royalprojectthailand.com
Facebook : thairoyalprojecttour

ROYAL PROJECT SHOP