ในโลกของเรานั้น ทุกสิ่งล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ปัญหาของอะไรบางสิ่งบางอย่าง
เราจึง คิด วิธีการที่จะแก้ปัญหาเพื่อมุ่งไปข้างหน้าสู่อนาคตโดย สร้าง เส้นทางในการก้าวไปข้างหน้า และต่อให้คิดและสร้างแล้ว ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จหากพวกเรายังไม่ได้ “ออกแบบ” เส้นทางดังกล่าวนั้นอย่างถูกต้อง ซึ่งการออกแบบในที่นี้ไม่ใช่แค่การออกแบบในเชิงรูปธรรม หรือออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่หมายถึงการออกแบบในเชิงโครงสร้าง ออกแบบวิธีคิด และวิธีการทำงาน ด้วยเหตุนี้ต่อให้เจอปัญหาก็สามารถใช้กระบวนการคิดและออกแบบวิธีแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์
อะไรเอย รูปทรงกลมกลึงคล้ายคลึงกับแมลงเต่าทับ ให้ความรู้สึกน่ารักและเป็นกันเอง ?
ทราบคำตอบกันมั้ยครับ
วันนี้ Unexpected Design เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ
Beetle ยานยนต์ข้ามกาลเวลาของฝ่ายอักษะในยุคสงครามโลก
“Volkswagen” (ฟ็อลคส์วาเกิน) ชื่อนี้มีที่มาจากภาษาเยอรมันที่แปลตรงตัวได้ว่า “รถยนต์ของประชาชน” (People’s Car)
โดยมีรากศัพท์มาจาก
- Volk แปลว่า “ประชาชน” หรือ “คนธรรมดา”
- Wagen แปลว่า “รถยนต์”
ชื่อนี้สะท้อนวิสัยทัศน์ที่ผู้ก่อตั้ง Adolf Hitler (อดอล์ฟ ฮิตเลอร์) นายกรัฐมนตรีเยอรมันในขณะนั้น ต้องการให้บริษัทผลิตรถยนต์ราคาประหยัดขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้
จุดเริ่มต้นของโครงการผลิต “Volkswagen” เกิดขึ้นในปี 1934 หลังจากเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเยอรมันตกอยู่สภาพยากจนเพราะวิกฤติเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้สะดวกสบายเท่ากับชาติยุโรปอื่นๆเนื่องจากอยู่ในสภาพผู้แพ้สงคราม ฮิตเลอร์จึงมอบหมายให้ เฟอร์ดินานด์ พอร์ชเช่ นักออกแบบรถยนต์ระดับตำนานชาวเยอรมัน เป็นผู้ออกแบบรุ่นต้นแบบของ “รถยนต์ราคาประหยัดสำหรับประชาชน” พรรคนาซีมองการณ์ไกลว่าการที่ชนชาติเยอรมันจะยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกได้ ชาวเยอรมันจะต้องมี “รถยนต์”
เป้าหมายคือต้องราคาไม่เกิน 1,000 ไรช์มาร์ก หรือประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐในขณะนั้น (ราคาที่เท่ากับค่าแรงงานของคนงาน 6 เดือน) โดยรถจะต้องบรรทุกได้ 4 คน มีความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม.และใช้น้ำมันเบนซิน 7 ลิตรต่อระยะทาง 100 กม.
“พอร์ชเช่เบียตเล้” หรือ Beetle จึงกลายเป็นรถยนต์ต้นแบบที่ถูกคิดค้นและผลิตขึ้นมาภายใต้แนวคิด “Volkswagen” เพื่อเป็นรถราคาประหยัด ใช้งานง่าย สำหรับประชาชนชาวเยอรมัน ตามวิสัยทัศน์ของฮิตเลอร์นั่นเอง
แนวคิดในการออกแบบ Volkswagen Beetle นั้นต้องประหยัดและเข้าถึงได้ง่าย (Economical and Accessible) เฟอร์ดินานด์ พอร์ชเช่ ออกแบบ Beetle ด้วยแนวคิดที่จะผลิตเป็นรถราคาประหยัด จึงต้องใช้วัสดุประหยัด และกระบวนการผลิตที่ไม่สลับซับซ้อน ทนทานและใช้งานง่าย (Durable and User-friendly) พอร์ชเช่ตั้งใจออกแบบให้ Beetle เป็นรถที่แข็งแรง ทนทาน สามารถแล่นได้บนถนนขรุขระ เนื่องจากเป็นรถสำหรับประชาชน จึงต้องดูแลรักษาง่าย ซ่อมแซมไม่ยุ่งยาก ด้วยฟอร์มรูปทรงเรขาคณิตและหน้าตาน่ารัก (Geometric Form and Cute Look)
รูปทรงเรขาคณิตคล้ายรูปไข่หรือทรงกลมกลึงของ Beetle นั้น นอกจากจะทำให้ดูน่ารักและเป็นกันเองแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ภายในตัวรถได้อีกด้วย เนื่องจากไม่มีมุมเหลี่ยมคมที่จะทำให้เสียพื้นที่และยังประหยัดเชื้อเพลิง (Fuel Efficiency) รูปร่างทรงกลมกลึงและมีน้ำหนักเบาช่วยให้ Beetle มีประสิทธิภาพเรื่องการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงดีกว่ารถรุ่นอื่นๆ ในสมัยนั้น เป็นดีไซน์อนุรักษ์นิยม (Conservative Design) พอร์ชเช่เลือกออกแบบ Beetle ในสไตล์ที่ค่อนข้างเรียบง่าย เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ล้าสมัยง่าย
แนวคิดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า Beetle ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนธรรมดาทั่วไป ให้มีรถราคาไม่แพง ขับขี่สะดวก ดูแลรักษาง่าย ประหยัดพลังงานในยุคสงครามโลกที่ 2 และยังคงเอกลักษณ์โดดเด่นจนถึงทุกวันนี้
ฮิตเลอร์มอบทุนและงบประมาณก้อนยักษ์ใหญ่ให้กับพอร์ชเช่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งผลงานของพอร์ชเช่นั้นก็เป็นที่ถูกอกถูกใจของพลพรรคนาซีทั้งปวง ทั้งดีไซน์ที่สวยงามดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน และด้วยระบบการระบายความร้อนโดยอากาศ ทำให้รถมีค่าซ่อมบำรุงรักษาที่ต่ำมาก
ใครที่ขับมี Beetle อยู่ในครอบครอง ก็ดีใจได้ว่าออกแบบโดยพอร์ชเช่ในยุคแรกๆเชียวนะครับ
โรงงานโฟล์คแห่งแรกกำเนิดขึ้นที่เมืองวูล์ฟเบิร์ก แต่ยังไม่ทันจะผลิตรถออกมาให้ชาวเยอรมันได้ใช้ สงครามโลกครั้งที่สองก็อุบัติขึ้นเสียก่อน โปรเจคท์รถโฟล์คสำหรับประชาชนเยอรมันจึงหยุดชะงักไปเสียเฉยๆ แต่ยังดีที่ฮิตเลอร์ก็ยังทันได้นั่งรถรุ่นแรกๆ ที่เป็นรุ่นเปิดประทุน
จนกระทั่งเมื่อเยอรมันของฮิตเลอร์พ่ายแพ้สงคราม ชาติผู้ชนะสงครามทั้งอเมริกา อังกฤษ รัสเซียและอื่นๆ ก็ต่างเข้ามาแย่งชิงเทคโนโลยีและจับเอานักวิทยาศาสตร์ชั้นหัวกะทิของเยอรมันเอาไปเป็นสมบัติของตัวเอง เพราะทั้งโลกรู้ดีว่าเทคโนโลยีต่างๆ ของเยอรมันนั้นก้าวไปไกลกว่าชาติใดในโลก โดยเฉพาะในเรื่องวิศวกรรม
“อังกฤษ” ก็มาหยิบเอาพิมพ์เขียวของ Beetle นี้ตั้งใจจะเอาไปผลิตเอง แต่ก็ประสบปัญหาว่าไม่มีบริษัทรถยนต์อังกฤษเจ้าใดอยากจะผลิตให้ โดยอ้างว่าเป็นรถคุณภาพต่ำและไม่ดึงดูดลูกค้าทั่วไปอย่างแน่นอน
คำที่อังกฤษเขาใช้วิจารณ์คือ “The vehicle does not meet the fundamental technical requirement of a motor-car. It is quite unattractive to the average buyer.”
อังกฤษจึงส่งคืนกลับมาให้เยอรมันตามเดิม และเยอรมันก็เริ่มผลิตทันทีที่โรงงานแห่งแรกที่สร้างเอาไว้เมื่อก่อนสงคราม บรรดาช่างยนต์ช่างกลชาวเยอรมันถูกระดมมาเพื่ออุตสาหกรรมใหม่
และนั่นคือจุดที่งานฝีมือของช่างเยอรมันได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าคุณภาพเหนือผู้ใด คำว่า German engineering และ Made in Germany ได้ปรากฏออกมาให้เห็นในคุณภาพของรถ Beetle คันนี้
10 ปีหลังจากเยอรมันแพ้สงคราม Beetle ถูกส่งออกไปขายทั่วโลกมากกว่าที่ผลิตใช้ในประเทศ ซึ่งลูกค้าหลักก็คือชาวอเมริกันนั่นเอง Beetle เป็นสินค้าหลักชิ้นสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันฟื้นตัวอย่างรวดเร็วถ้านับจนถึงปัจจุบันแล้ว Beetle ขายได้ทั้งหมดถึง 23 ล้านคัน เรียกว่าเป็นหนึ่งในรถยนต์รุ่นที่ผลิตมากที่สุดในโลกก็ว่าได้
นอกจากรถฟ็อลคส์วาเกินแล้ว เยอรมันก็เรียนรู้เทคโนโลยียานยนต์มากมายจากสงครามโลก รถยนต์ยี่ห้อดังๆเช่น พอร์ชเช่, ออดี้, โฟล์ค, เมอร์เซดีส, BMW หรือ เดมเลอร์ ก็เป็นฝีมือชาวเยอรมันทั้งนั้น
ก่อนจะจบเรื่องนี้ ขอเล่าแทรกสักนิดหนึ่งว่า เยอรมันยุคก่อนอุตสาหกรรมนั้นเขามีชื่อเสียงในเรื่องฝีมือช่างโลหะมาแต่ดั้งเดิมแล้วครับ ซึ่งระบบที่เขาใช้ควบคุมก็คือเป็นระบบสมาคมช่าง (Guild) ซึ่งเข้มงวดและคัดเลือกคนอย่างเข้มข้นเพื่อให้เข้ามาเรียนรู้การเป็นช่างฝีมือในแขนงต่างๆ ทั้งช่างทอง ช่างเงิน ช่างเหล็ก ช่างเพชร ช่างนาฬิกา ฯลฯ ช่างแต่ละสาขาเขาก็จะมีสมาคมเป็นของตนเอง ซึ่งแหล่งรวมสมาคมเหล่านี้ก็อยู่ที่เมืองนูเรมเบิร์กและแคว้นบาวาเรีย ช่างหนึ่งคนจะต้องฝึกหัดทำงานกับอาจารย์ (Master) ของตนเองอยู่หลายปีก่อนที่จะถูกทดสอบฝีมือเพื่อเลื่อนฐานะขึ้นมาเป็น Master ด้วยตัวเอง
ตัวอย่างเช่น การจะเป็น Master ของช่างทองได้ จะต้องสร้างผลงานขึ้นมาสามชิ้น คือ ตราอาร์มทองคำ, ชุดแหวนทองคำฝังเพชร และถ้วยทรงสูงทองคำสลักลวดลาย และผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากอาจารย์ของตนเองก่อนที่จะปล่อยออกมาทำงานเดี่ยวได้เป็นระบบควบคุมคุณภาพ German Metal Craftman ที่มีมายาวนาน ระบบนี้ทำให้เยอรมันนั้นมีชื่อเสียงในเรื่องคุณภาพของชิ้นงานที่แม่นยำและเที่ยงตรง และเชื่อมั้ยครับว่านาฬิกานกกุ๊กกู้ ที่มีนกพุ่งออกมาบอกเวลาชั่วโมงนั้น เป็นผลงานการคิดค้นของช่างนาฬิกาเยอรมันครับ ไม่ใช่ชาวสวิสแต่อย่างใด
ก่อนจะจบเรื่องนี้ขอสรุปว่า….ถ้าจะหาคำพูดใดที่บ่งบอกถึงชนชาติเยอรมันได้ดีที่สุด ให้ไปดูที่สโลแกนสองข้อของรถยนต์ออดี้ (Audi) ครับ คือ “Vorsprung durch Technik” (Progress through Technology) “ก้าวไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยี”
และ “Truth is Engineering” คือ “วิศวกรรมคือสิ่งที่จริงแท้”
เอ่า พูดเรื่องรถ จบเรื่องวิศวกรรมเฉย แต่มันก็คือสิ่งเดียวกันเรื่องเดียวกัน ที่ถูกออกแบบ เพื่อรับใช้ปัญหาของมนุษยชาติเราๆ นี่แหละครับ แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า ขอบคุณครับ
ข้อมูลที่กล่าวมาจากแหล่งต่างๆ ดังนี้
- เว็บไซต์ Volkswagen https://www.volkswagen.co.uk/about-us/history
- วิกิพีเดีย บทความเรื่อง Volkswagen Beetle https://en.wikipedia.org/wiki/Volkswagen_Beetle
- วิกิพีเดีย บทความเรื่อง Volkswagen https://en.wikipedia.org/wiki/Volkswagen
- บทความ “The People’s Car: A Global History of the Volkswagen Beetle” โดย Bernhard Rieger https://www.hup.harvard.edu/catalog.php?isbn=9780674050914
- บทความ “Volkswagen: The Incredible History” จาก Car Magazine https://www.carmagazine.co.uk/features/car-culture/volkswagen-the-incredible-history
- บทความ “The Origins of Volkswagen: Beetle Birth and History” จาก Car Gurus https://www.cargurus.com/Cars/Articles/the-origins-of-volkswagen-beetle-birth-and-history
- หนังสือ “Small Wonder: The Amazing Story of the Volkswagen” โดย Walter Henry Nelson
ได้รวบรวมข้อมูลจากทั้งเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Volkswagen เว็บไซต์อ้างอิงทั่วไปอย่าง Wikipedia บทความวิชาการ และบทความจากนิตยสารยานยนต์ เพื่อให้ได้มุมมองที่ครอบคลุมและน่าเชื่อถือ