Unexpected Design ep.01

Unexpected Design

ในโลกของเรานั้น ทุกสิ่งล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ปัญหาของอะไรบางสิ่งบางอย่าง
เราจึง "คิด" วิธีการที่จะแก้ปัญหาเพื่อมุ่งไปข้างหน้าสู่อนาคตโดย "สร้าง" เส้นทางในการก้าวไปข้างหน้า และต่อให้คิดและสร้างแล้ว ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จหากพวกเรายังไม่ได้ "ออกแบบ" เส้นทางดังกล่าวนั้นอย่างถูกต้อง ซึ่งการออกแบบในที่นี้ไม่ใช่แค่การออกแบบในเชิงรูปธรรม หรือออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่หมายถึงการออกแบบในเชิงโครงสร้าง ออกแบบวิธีคิด และวิธีการทำงาน ด้วยเหตุนี้ต่อให้เจอปัญหาก็สามารถใช้กระบวนการคิดและออกแบบวิธีแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์

วันนี้เราจะพูดถึงเรื่องของ รางวัลออสการ์กันครับ
หากพูดถึงรางวัลอันทรงเกียรติและเป็นที่ต้องการของเหล่าผู้กำกับ นักแสดง ในแวดวงภาพยนตร์ เราก็จะนึกถึง “รางวัลออสการ์”
ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องที่ได้รางวัลออสการ์นั้น บางเรื่องก็กลายเป็นตำนานในวงการภาพยนตร์ เช่น ฟอร์เรสท์ กัมพ์ อัจฉริยะปัญญานิ่ม ที่กวาดรางวัลออสการ์ไปได้แทบทุกสาขา The Shawshank Redemption, Pulp Fiction, The Green Mile ฯลฯ และภาพยนตร์อีกหลายๆเรื่อง แล้วทราบหรือไม่ครับว่า รางวัลออสการ์ นั้นมีที่มาอย่างไร วันนี้เราจะมาไขปริศนา รางวัลออสการ์กันครับ
Photo by logos-world.net/mgm-logo/

ก่อนอื่นเลย ทุกสิ่งล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาใช่มั้ยครับ รางวัลออสการ์ก็เช่นกัน โดยในปี 2467 Louis B.Mayer ผู้ร่วมก่อตั้งของเมโทรโกลด์วินเมเยอร์สตูดิโอ Metro-Goldwyn-Mayer (MGM) เขากล่าวว่าต้องการสร้างองค์กรที่จะไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานโดยไม่มีสหภาพแรงงานและปรับปรุงภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เขาได้พบกับเพื่อนนักแสดง Conrad Nagel ผู้กำกับ Fred Niblo และ Fred Beetson หัวหน้าสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
Photo by General Photographic Agency/Getty Images
มีการพูดถึงแนวคิดของการจัดตั้งสโมสรที่มีการจัดเลี้ยงประจำปี แต่ไม่มีการพูดถึงรางวัลในเวลานั้น พวกเขายังระบุด้วยว่าการเป็นสมาชิกในองค์กรจะเปิดให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนึ่งในห้าสาขาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ได้แก่ นักแสดง ผู้กำกับ นักเขียน ช่างเทคนิค และโปรดิวเซอร์ หลังจากการประชุมสั้น ๆ ของพวกเขา เมเยอร์ รวบรวมกลุ่มได้ 36 คนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และนำเสนอสิ่งที่เขาเรียกว่า International Academy of Motion Picture Arts and Sciences และก่อตั้งเป็นสถาบัน Academy ขึ้นมา ปัญหาเรื่องข้อพิพาทแรงงานก็ถูกแก้ไปได้ด้วยการจัดตั้ง Academy เพื่อสร้างมาตรฐานแรงงานและการกำหนดค่าตอบแทนแรงงานจะได้มีสถาบันเป็นหลักแหล่งในการทำงาน
Photo by International Academy of Motion Picture Arts and Sciences Issue
หลังจากนั้นไม่นาน เพื่อกำหนดเป้าหมายของ Academy หัวข้อที่พูดคุยกันต่อ ก็คือ วิธีที่จะยกย่องความสำเร็จด้านการสร้างภาพยนตร์ที่โดดเด่นให้ดียิ่งขึ้นและมีมาตรฐานจึงจะมอบรางวัลประจำปี แล้วสมาชิก Academy ก็เริ่มให้ความสนใจกับการสร้างถ้วยรางวัลที่สง่างามเหมาะสม Cedric Gibbons ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ MGM ออกแบบรูปปั้นอัศวินที่ยืนอยู่บนม้วนฟิล์ม ถือดาบของครูเสด Academy ได้ทาบทาม George Stanley ประติมากรจากลอสแองเจลลิสให้ออกแบบเป็นและปั้นตัวอย่าง ถ้วยรางวัลที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็ถือกำเนิดขึ้น
Photo By Tyler Boye/WWD/REX/Shutterstock.

รางวัลออสการ์ปรากฏตัวต่อสาธารณะชน ในฐานะ รางวัลอันทรงเกียรติ ที่เหล่าผู้กำกับ นักแสดง นักเขียน ตัดต่อ และโปรดิวเซอร์ ต่างหวังจะได้ครอบครอง แต่บางเสียงก็บอกว่า ตัวถ้วยรางวัลนั้นได้ถูกลอกเลียนแบบมากจากรูปปั้นเทพเจ้าอียิปต์โบราณ อ้างว่าออสการ์มีต้นแบบมาจากเทพเจ้า Ptah ซึ่งเกิดใหม่เป็น Osiris และจากนั้นก็กลายเป็นเทพเจ้าแห่งความตายผ่านกระบวนการแปลงกลายเป็น Sokar อาจจะคิดว่ามันดูน่าเหลือเชื่อใช่มั้ยครับ แต่เราลองมาดูรายละเอียดในองค์ประกอบกัน ความคล้ายคลึงนั้นน่าแปลกประหลาด ศีรษะล้าน ร่างที่เปลือยเปล่าหรือเกือบเปลือย ท่าทางตัวตรง ดาบที่ถือตั้งแต่หน้าอกจรดปลายเท้า และตำแหน่งของมือ ล้วนเป็นจุดที่น่าสนใจ บ้างก็ว่าการออกแบบหุ่นเป็น "สัญลักษณ์นอกรีต" และเรื่องราวต้นกำเนิดที่ Academy นำเสนอนั้นเป็นของปลอม “Oscar” เป็นรูปแบบหนึ่งของ “Sokar” และ “ม้วนฟิล์ม” เป็นรูปแบบหนึ่งของ "ดวงอาทิตย์" ที่ร่างเทพเจ้าอียิปต์จะยืนอยู่ บางทีมันอาจจะเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบของ Cedric Gibbons ก็เป็นได้
Photo by The Hollywood Reporter (Oscar statuette).

แต่ถึงจะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับเทพอียิปต์ แต่การผลิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากรูปปั้นทำจากสัมฤทธิ์เคลือบทอง แต่เมื่อเกิดการขาดแคลนโลหะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงถูกผลิตขึ้นด้วยปูนปลาสเตอร์ทาสี และให้ผู้ได้รับรางวัลสามารถแลกเปลี่ยนได้หลังสงคราม และตั้งแต่ปี 1982 แกนของรางวัลได้เปลี่ยนเป็นโลหะ บริทาเนีย ซึ่งเป็นโลหะผสมที่มี พิวเตอร์ อัลลอย เป็นหลัก ในปี 2016 เวิร์กช็อป UAP ได้รับหน้าที่ในการขึ้นรูปหล่อถ้วยรางวัลออสการ์ในรูปแบบดั้งเดิมกลับมาอีกครั้ง ให้ใกล้เคียงกับประติมากรรมอาร์ตเดโคดั้งเดิมของ Stanley มากที่สุด

Photo by Motion Picture Arts and Sciences