ชื่อบทความเรื่อง : การวิเคราะห์ปัญหาและการประเมินคุณภาพการแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีน
ด้วยเครื่องมือแปลภาษา Baidu Translate และ Google Translate
Problem Analysis and Quality Assessment of Translation
from Thai to Chinese with Baidu Translate and Google Translate
ผู้เขียน : อาจารย์ ดร.กัลยา ขาวบ้านแพ้ว
ชื่อวารสาร :
วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2565
บรรณานุกรม :
กัลยา ขาวบ้านแพ้ว. (2565). การวิเคราะห์ปัญหาและการประเมินคุณภาพการแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีน
ด้วยเครื่องมือแปลภาษา. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 10(1), 109-133.
ปัจจุบันผู้คนนิยมใช้เครื่องมือแปลภาษาที่เปิดให้บริการออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะช่วยแปลข้อความได้เป็นจำนวนมากและรวดเร็ว เช่น ช่วยตรวจสอบตัวสะกด ไวยากรณ์ ศัพท์เทคนิค มณีรัตน์ สวัสดิวัตน์ ทั้งนี้วิวัฒนาการของเครื่องมือแปลภาษา เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1933 ได้มีการจดสิทธิบัตรเครื่องมือแปลภาษาเป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสและประเทศรัสเซีย โดยเป็นเครื่องมือแปลภาษาแบบอิงกฎไวยากรณ์ ซึ่งการแปลวิธีนี้ยังคงต้องอาศัยมนุษย์ตรวจแก้ไข ตั้งแต่ ค.ศ.1990 เป็นต้นมาเครื่องมือแปลภาษาได้พัฒนาควบคู่กับอินเทอร์เน็ต บริษัท Google ได้เริ่มเปิดตัว Google Translate เมื่อ ค.ศ.2006 ปัจจุบันรองรับการแปลได้มากกว่า 100 ภาษา ส่วนทาง Baidu ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการค้นหา (search engine) อันดับหนึ่งของประเทศจีนก็มี Baidu Translate ซึ่งได้เริ่มใช้เมื่อ ค.ศ. 2011 ปัจจุบันแปลได้ 28 ภาษา จะเห็นได้ว่าGoogle Translate เริ่มเปิดให้บริการก่อน Baidu Translate ราว 5 ปี และเริ่มใช้ระบบเดียวกันคือระบบ “Neural Machine Translation ในช่วงเวลาที่ห่างกันราว 1 ปีครึ่งGoogle Translate รองรับการแปลได้หลายภาษามากกว่า Baidu Translate ถึง 3 เท่า ดังนั้นจึงควรศึกษาว่าเครื่องมือแปลทั้งสองมีคุณภาพการแปลที่แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด เครื่องมือแปลภาษาทั้งสองชนิดนี้ได้ใช้ระบบ Neural Machine Translation ซึ่งพัฒนามาจากเทคโนโลยี Machine Learning อันเป็นวิธีการทำงานที่อยู่ในกรอบ AI ซึ่งทำให้แปลภาษาได้เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าเครื่องมือแปลภาษาจะทำงานได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ยังไม่สมบูรณ์ การแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีนด้วยเครื่องมือแปลภาษานั้นความถูกต้องแม่นยำยังไม่ดีนัก คำศัพท์ที่แปลได้มีความหมายผิดไปจากที่ต้องการจะสื่อ นอกจากนี้ยังมีการแปลผิดโครงสร้างของไวยากรณ์ และในบางประโยคผิดมาก กระทั่งไม่สามารถเดาได้เลยว่าประโยคต้นทางคืออะไร ปัญหาการแปลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เครื่องมือแปลภาษา และชาวไทยที่เรียนภาษาจีน ถ้าแปลภาษาโดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้อง และนำประโยคที่แปลผิดไปใช้ก็จะทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารเกิดความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดได้ ส่วนผู้แปลที่ยังไม่เชี่ยวชาญ เมื่อใช้เครื่องมือแปลภาษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยไม่มีการตรวจแก้ไขบทแปล ก็จะทำให้งานแปลไม่มีคุณภาพ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.วิเคราะห์ปัญหาการแปลไทย-จีนด้วยเครื่องมือแปลภาษา Baidu Translate และ Google Translate 2.ประเมินคุณภาพการแปลไทย-จีนของเครื่องมือทั้ง 2 ชนิด โดยประโยคตัวอย่างนำมาจากนิตยสารไทยแอร์เอเชีย ดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาการแปลคำ วลี และประโยค ส่วนการประเมินคุณภาพการแปลใช้หลักการแปลของเหยียนฟู่ (严复) ในด้านสำนวนการแปลอ่านคล่อง เข้าใจง่าย กับเกณฑ์การประเมินบทแปลของ Institute of Linguist’s (IOL) Diploma in Translation ในด้านการใช้คำศัพท์ สำนวนอย่างเหมาะสม บทแปลเชื่อมโยงและจัดระบบอย่างดี และความแม่นยำในการใช้เครื่องหมายวรรคตอน เครื่องมือในการวิจัยคือแบบประเมินคุณภาพการแปล โดยมีอาจารย์ชาวจีน 20 คนเป็นผู้ประเมิน ผลวิจัยสรุปได้ว่า ปัญหาการแปลคำส่วนใหญ่เกิดจากการไม่สามารถเลือกใช้คำที่มีหลายความหมายมาแปลให้ ตรงบริบทได้ ในการแปลวลีมีปัญหาการเรียงลำดับคe การแปลประโยคความรวมมีปัญหาการใช้ คำเชื่อม และเครื่องหมายวรรคตอน การเรียงลำดับ เป็นต้น ส่วนประโยคความซ้อนมักมีปัญหาการเรียงลำดับส่วนขยาย และการเลือกใช้คำกริยา ในด้านคุณภาพการแปล Baidu Translateมีคุณภาพระดับควรปรับปรุง Google Translate มีคุณภาพระดับดี ข้อเสนอแนะกรณีที่ต้องการแปลคำวิสามานยนามด้วยการทับศัพท์ภาษาอังกฤษควรเลือกใช้ Google Translate ควรตรวจสอบคำยืมจากภาษาอังกฤษที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ควรระวังการแปลส่วนขยายกริยา การแปลประโยคความรวมควรปรับคำเชื่อมภาษาจีนให้หลากหลาย การแปลประโยคความซ้อน ควรตรวจการเรียงลำดับ การแปลตกหล่นส่วนขยาย และเลี่ยงการใช้เครื่องมือแปลประโยคความซ้อนที่มีส่วนขยายในภาคแสดง
ที่มา:
https://so03.tci-thaijo.org/index.php/liberalartsjournal
https://archive.mfu.ac.th/school/sinology/academic-staff-sino.php
สนใจอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ :
https://so03.tci-thaijo.org/index.php/liberalartsjournal/article/view/261796/174021
สนใจดูบทความอื่นๆในวารสาร :
https://so03.tci-thaijo.org/index.php/liberalartsjournal/issue/archive
หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ :
เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510 ; 053-873511
Facebook: MJU Library