ความตระหนักเรื่องสุขภาพและทัศนคติที่ส่งผลต่อความตั้งใจซื้อประกันสุขภาพ ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร

ชื่อบทความเรื่อง : ความตระหนักเรื่องสุขภาพและทัศนคติที่ส่งผลต่อความตั้งใจซื้อประกันสุขภาพ ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร
Health Consciousness and Attitude Affecting Intention to Purchase Health Insurance of Consumers in Bangkok

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร. ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม

ชื่อวารสาร :
วารสารบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2565 หน้า 23-40

บรรณานุกรม :
ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม. (2565). ความตระหนักเรื่องสุขภาพและทัศนคติที่ส่งผลต่อความตั้งใจซื้อประกันสุขภาพ ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร. วารสารบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 4(1), 23-40.

 

     ตลาดผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพมีอัตราการเติบโตสูงประเมินจากตัวเลขเบี้ยประกันสุขภาพของประเทศไทยนับตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม พ.ศ. 2564 ที่มีจำนวนรวม 52,353 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ในขณะที่เบี้ยรับรวมของธุรกิจประกันชีวิตทั้งหมดคือ 3.8 แสนล้านบาทเติบโตเพียงร้อยละ 2 จากปี พ.ศ. 2563 จึงสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพยังคงมีความต้องการสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทอื่นที่เติบโตต่ำตามทิศทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันสุขภาพมีการแข่งขันสูงเนื่องจากมีบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยจำนวนมากกว่า 80 บริษัทที่แข่งขันกันเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ของตน ตัวแปรความตั้งใจซื้อของผู้บริโภคจึงสำคัญในการพัฒนาตลาดของอุตสาหกรรมนี้ เพราะความตั้งใจซื้อเป็นความโน้มเอียงที่จะตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกสินค้าหรือบริการซึ่งในการศึกษานี้คือผลิตภัณฑ์หรือกรมธรรม์ประกันสุขภาพ

     การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอิทธิพลของความตระหนักเรื่องสุขภาพและทัศนคติต่อประกันสุขภาพที่ส่งผลต่อความตั้งใจซื้อประกันสุขภาพของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร โดยการวิเคราะห์ตัวแปรเพศในฐานะเป็นตัวแปรกำกับ ประชากรการวิจัยคือผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครที่เคยซื้อหรือสนใจจะซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างได้จากการเลือกแบบสะดวกจำนวน 200 คน ใช้แบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบความตรงและความเที่ยงที่มีค่าความเชื่อถือได้ในช่วง .75 – .78 เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้สถิติเชิงพรรณนาในการวิเคราะห์ข้อมูล และใช้การวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุในการทดสอบสมมติฐานที่ระดับนัยสำคัญ .05 ผลวิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเพศหญิงและเพศชายมีจำนวนพอ ๆ กัน กลุ่มอายุ 36 – 45 ปี ปริญญาตรี ลูกจ้างองค์กรเอกชน และรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน 45,001 บาทขึ้นไปมีจำนวนมากที่สุด กลุ่มตัวอย่างมีความตระหนักเรื่องสุขภาพและมีทัศนคติเชิงบวกต่อประกันสุขภาพค่อนข้างมากและมีความตั้งใจซื้อประกันสุขภาพในระดับสูง ผลการตรวจสอบสมมติฐานพบว่าความตระหนักเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคและทัศนคติของผู้บริโภคต่อประกันสุขภาพส่งผลทางบวกต่อความตั้งใจซื้อประกันสุขภาพ และเพศเป็นตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ของตัวแปรอิสระทั้งสองต่อความตั้งใจซื้อประกันสุขภาพโดยมีผลในการเพิ่มค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพลต่อตัวแปรตามและอำนาจการอธิบายความแปรปรวนของตัวแปรตาม งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะด้านการเลือกกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดและการสื่อสารการตลาดที่มุ่งกลุ่มผู้ตระหนักเรื่องสุขภาพ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : 
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/MJBA

สนใจอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ :
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/MJBA/article/view/258155

สนใจดูบทความอื่นๆในวารสาร :
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/MJBA


หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ :
เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510 ; 053-873511

Facebook:  MJU Library