ชื่อบทความเรื่อง : “พริกไทย 5 สี” ขายได้ขีดละ 100 บาท นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่า ฝีมือเกษตรกรพัทลุง
ผู้เขียน : ธาวิดา ศิริสัมพันธ์
ชื่อวารสาร : เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 34 ฉบับที่ 768
บรรณานุกรม :
ธาวิดา ศิริสัมพันธ์. (2565). “พริกไทย 5 สี” ขายได้ขีดละ 100 บาท นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่า ฝีมือเกษตรกรพัทลุง. เทคโนโลยีชาวบ้าน, 34(768), 68-70.
พริกไทย เป็นพืชที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นราชาของเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน และเป็นเครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดร้อน สามารถนำมาทำพริกไทยแห้งเป็นเครื่องปรุงอาหาร โดยทั่วไปแล้วจะคุ้นเคยกับพริกไทยดำและพริกไทยขาว ซึ่งถ้าทำแห้งทั้งเปลือกจะได้พริกไทยดำเนื่องจากเปลือกเมื่อทำให้แห้งจะมีสีดำ ส่วนพริกไทยขาวได้จากการลอกเปลือกออกก่อน พบทั้งการใช้ประกอบอาหารทั้งผลแห้งและผลสดที่มีสีเขียว หรือผลแห้งป่นเป็นผงเรียกพริกไทยป่น แต่ด้วยนวัตกรรมการเกษตรที่พัฒนาขึ้น ทำให้ตอนนี้มีเกษตรกรที่คิดค้นการแปรรูปพริกไทยให้มีมากกว่า 2 สี ได้เป็นที่สำเร็จแล้ว
คุณสิทธิโชค สิทธิโชติพงศ์หรือพี่หนึ่ง เกษตรกรเมืองพัทลุงดีกรีปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม กลับบ้านเกิดพัฒนาสวนพริกไทยของพ่อ แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มทำผลิตภัณฑ์พริกไทย 5 สี สร้างรายได้หลักหมื่นต่อเดือนเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ตนเองทำงานประจำอยู่ที่หาดใหญ่เป็นพนักงานในห้องแล็บคอยตรวจสอบคุณภาพสินค้านานกว่า 15 ปี จนถึงจุดอิ่มตัวอยากมาทำงานที่บ้าน ซึ่งที่บ้านมีสวนพริกไทยที่พ่อปลูกไว้ประมาณ 1 ไร่ ตนเองจึงอยากกลับมาพัฒนาสวนพริกไทยของพ่อให้ดีขึ้น จากเดิมที่เคยขายแต่พริกไทยดำ พริกไทยสด อย่างเดียวแล้วราคาไม่ดีเท่าที่ควร ตนเองจึงคิดหาแนวทางในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าพริกไทยให้เพิ่มขึ้นจนได้ไปเห็นกระบวนการทำพริกไทยที่ต่างประเทศ ที่จะมีวิธีการอบแห้งเพื่อรักษาสีไว้ให้มีความหลากหลายพร้อมกับคุณภาพที่ยังคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งหลังจากจุดประกายไอเดียจากตรงนี้มาได้ขั้นตอนหลังจากนั้นคือการแสวงหาวิธีการและอุปกรณ์เครื่องจักรที่สามารถทำได้ และก็ค้นพบอุปกรณ์จนนำไปสู่การแปรรูปออกมาเป็นพริกไทยหลากสีได้สำเร็จ
ขั้นตอนการแปรรูปพริกไทยหลากสี
1.พริกไทยสีดำ หลังเก็บพริกไทยสดจากต้นมาแล้ว ในส่วนของการทำพริกไทยดำ จะเลือกเก็บเอาพริกไทยสีเขียวที่แก่เต็มที่แล้ว มาแกะออกจากช่อ นำไปล้างน้ำให้สะอาดประมาณ 4-5 รอบ ล้างเสร็จนำไปใส่ตะแกรงแล้วเอาไปตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จากนั้นพริกไทยจากสีเขียวจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ แล้วนำมาอบอีกครั้งในตู้อบที่มีอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสนาน 24 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดพริกไทยมีความแห้งสนิทช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อรา
จุดเด่น : กลิ่นหอมเด่นชัด รสชาติเผ็ดร้อน
2.พริกไทยสีขาว จะใช้พริกไทยสุกที่มีสีแดงมาแช่น้ำไว้ 1 คืน เพื่อให้เปลือกของพริกพองออกง่ายต่อการปอกเปลือก หากแช่นานกว่านี้จะทำให้พริกไทยกลิ่นไม่หอม โดยใช้วิธีขยำแบบภูมิปัญญาชาวบ้านทั่วไป ขยำล้างน้ำหลายๆ รอบเพื่อให้เปลือกของพริกไทยหลุดออกจนหมด เผยให้เห็นเมล็ดพริกไทยเป็นสีขาว ให้นำไปตากแดดไว้ประมาณ 3-4 วัน แล้วนำไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง
จุดเด่น : กลิ่นหอมอ่อนๆ รสชาติเผ็ดร้อนใกล้เคียงกับพริกไทยดำ
3.พริกไทยสีเขียว เก็บพริกไทยแก่สีเขียวไปล้างน้ำทำความสะอาด แล้วนำไปเข้าเครื่องฟรีซดราย (Freeze Drying) เพื่อช่วยในการรักษาสี รักษากลิ่นของพริกไทยไว้ให้คงเดิม โดยเครื่องฟรีซดรายเป็นการขอเช่าใช้เครื่องกับทางมหาวิทยาลัยทักษิณก่อนในเบื้องต้น เนื่องด้วยราคาเครื่องมีราคาค่อนข้างสูง ตนเองถือเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพแต่ในอนาคตหากสินค้าไปได้ดีคาดว่าจะซื้อเป็นของตนเองอย่างแน่นอน
จุดเด่น : กลิ่นหอมสดชื่น รสชาติเผ็ดร้อนเล็กน้อย
4.พริกไทยสีแดง เก็บพริกไทยสุกสีแดงไปล้างน้ำทำความสะอาด แล้วนำไปเข้าเครื่องฟรีซดราย (Freeze Drying) เหมือนขั้นตอนการทำพริกไทยสีเขียว
จุดเด่น : กลิ่นหอมสดชื่นคล้ายกับกลิ่นผลไม้ รสชาติเผ็ดร้อนเล็กน้อย
5.พริกไทยหลากสี เกิดจากการนำพริกไทยทั้ง 4 สี คือ สีดำ สีขาว สีแดง และสีเขียว มาผสมกันไว้ในขวดเดียว เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับผู้บริโภค ทั้งสีสันและรสชาติที่แตกต่างกันออกไป
จุดเด่น : รวมความหอมของพริกไทยแต่ละสีได้อย่างลงตัว รสชาติเผ็ดร้อน
รูปแบบการสร้างรายได้ แบ่งออกเป็น 2 แบบ
1.ภาชนะบรรจุแบบขวดพร้อมฝาบด ขายในราคา พริกไทยหลากสี 50 กรัม 220 บาท พริกไทยสีแดง 35 กรัม 190 บาท พริกไทยสีเขียว 35 กรัม 160 บาท พริกไทยสีขาว 50 กรัม 120 บาท และพริกไทยสีดำ 50 กรัม 80 บาท
2.ภาชนะบรรจุแบบรีฟิล ขนาดต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้า ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับที่ดี มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นร้านอาหาร ร้านสเต๊ก ร้านชาบู และลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาเป็นลูกค้าประจำ สามารถสร้างรายได้กว่า 30,000 บาทต่อเดือน เป็นรายได้ที่พอใจสำหรับการเริ่มต้นทำ ซึ่งในอนาคตวางแผนพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าจากพริกไทยไปอีกเรื่อยๆ รวมถึงการขยายฐานการผลิตให้มั่นคงกว่าเดิม
สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่การตลาดถือว่าไม่น่าเป็นห่วง แต่สำหรับเกษตรกรรุ่นเก่าด้วยความคิดเห็นของผมคือเขายังยึดติดอยู่กับที่ชินอยู่แต่ในสวน รอแต่ให้พ่อค้าเข้ามารับซื้อ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้วถ้าโซเชียลเราไม่เก่ง ให้เราขยันออกไปหาตลาดข้างนอก ออกไปเจอลูกค้า ออกไปขายเอง แล้วถ้าวันหนึ่งขายจนลูกค้าติด มีลูกค้าประจำแล้ว ถึงวันนั้นจะกลับไปอยู่ที่บ้านแล้วมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่สวนอันนี้ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากใครนอนรอพ่อค้าแม่ค้าอยู่บ้านเฉยๆ ในยุคนี้คิดว่าอยู่ยากและที่สำคัญการแปรรูปถือเป็นเรื่องสำคัญ หากทำได้เกษตรกรไม่มีจน แต่ก็ต้องเน้นถึงคุณภาพสินค้าเป็นที่ตั้งด้วย หากทำออกมาไม่ได้มาตรฐานจากข้อดีจะกลายเป็นข้อเสียไปเลย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 083-533-2017 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : สวนเกษตรเกตุแก้ว
ขอบคุณรูปภาพ : https://www.facebook.com/goldpeppercorns
สนใจขอบทความฉบับเต็มได้ที่ : http://opac.library.mju.ac.th/opac2/BibDetail.aspx?bibno=362820
หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่
เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510 ; 053-873511
Facebook MJU Library