ชื่อบทความเรื่อง : “Safety Farm” ทำเกษตรอย่างปลอดภัยด้วยแนวคิด “ปลูกไม้ผลในโรงเรือน”
ผู้เขียน : สุภาพร เส็งสมาน
ชื่อวารสาร : เคหการเกษตร. ปีที่ 45 ฉบับที่ 4 (เม.ย. 2564)
บรรณานุกรม :
สุภาพร เส็งสมาน. (2564). Safety Farm ทำเกษตรอย่างปลอดภัยด้วยแนวคิด ปลูกไม้ผลในโรงเรือน. เคหการเกษตร, 45(4), 118-122.
การปลูกพืชในโรงเรือน” ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงระยะหลังที่ผ่านมาทั้งในแง่การควบคุมสภาพแวดล้อม คุณภาพผลผลิตและความปลอดภัย การปลูกพืชในโรงเรือนจึงเป็นวิธีการที่ตอบโจทย์และสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาโรคและแมลงศัตรูที่จ้องทำลายพืชปลูกนอกโรงเรือนได้เป็นอย่างดี คุณปิยะ วงศ์จันทร์ เจ้าของ “Safety Farm” จ.ลำปาง จะมาบอกเล่าเทคนิคและประสบการณ์ของการผลิตไม้ผลปลอดภัยในโรงเรือนให้ได้นำไปปรับใช้กัน
จุดเริ่มต้นเพราะอิ่มตัวในสายงานด้านอสังหาริมทรัพย์ จึงตัดสินใจลาออกหลีกหนีความวุ่นวายในเมืองกรุงมุ่งหน้าสู่ปลายทาง จ.ลำปาง บ้านเกิดของภรรยา ด้วยความรักและชื่นชอบในการรับประทานเมล่อนมาก จึงเริ่มต้นแนวคิด “ปลูกเมล่อนในมุ้งเพื่อรับประทาน” จากการลองผิดลองถูกและเน้นใช้สารชีวภัณฑ์เป็นหลัก กระทั่งได้ศึกษาเรียนรู้การผลิตจนลงตัว ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนรับประทานไม่ทัน จึงต่อยอดแบ่งปันความอร่อยและปลอดภัยสู่การเปิดจำหน่ายทางออนไลน์ เริ่มจากกลุ่มเพื่อนๆ คนรู้จักกระทั่งขยายสู่ลูกค้าที่สนใจ และเริ่มพัฒนาสู่การปลูกเมล่อนในโรงเรือนอย่างเต็มรูปแบบ แต่ครั้นปลูกเมล่อนได้ระยะหนึ่งก็เริ่มอิ่มตัว เพราะเมล่อนเป็นไม้ผลอายุสั้นต้องปลูกใหม่ทุก 3 เดือน คุณปิยะ จึงเริ่มมองหาไม้ผลทางเลือก ไม้ยืนตัน อายุยาว มาปลูกเสริมในโรงเรือนที่มีอยู่
เมื่อต้องมองหาพืชชนิดใหม่ที่จะนำมาปลูกเสริมในโรงเรือน คุณปิยะ เล็งเห็นว่าแท้จริงแล้วการปลูกพืชในโรงเรือนมิได้แตกต่างจากการปลูกในระบบปลูกนอกโรงเรือนทั่วไป ทั้งเรื่องการเตรียมดินหรือการวางระบบน้ำที่มีรายละเอียดไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เนื่องจากการปลูกในโรงเรือนเกษตรกรจะต้องมีต้นทุนค่าโรงเรือนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ คือ “ความคุ้มค่าในการลงทุน” กล่าวคือ “แม้ว่าพืชเกือบทุกชนิดจะสามารถปลูกในระบบโรงเรือนได้ แต่มิใช่พืชทุกชนิดที่ปลูกแล้วคุ้มค่า” ดังนั้นก่อนเลือกพืชเข้าปลูกในโรงเรือนจะต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญ
1.โรงเรือนมีมูลค่า…. พืชที่จะปลูกในโรงเรือนต้องสร้างมูลค่าและคุ้มค่าต่อการลงทุนดังจะเห็นว่าพืชที่คุณปิยะเลือกปลูกไม้ผลทางเลือกพันธุ์ใหม่ๆอาทิ ฝรั่งไต้หวั่น เสาวรสไต้หวัน F1 น้อยหน่า สับปะรด ฯลฯ ที่มีรสชาติอร่อย ผลผลิตยังมีปริมาณน้อยจึงจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าพันธุ์ที่พบเห็นตามท้องตลาดทั่วไป
2.ต้องเลือกพืชและพันธุ์พืชที่ทนความร้อนได้ดี หนึ่งในข้อจำกัดของการปลูกพืชในโรงเรือนคือ “เรื่องอุณหภูมิ” เพราะปกติแล้วอุณหภูมิภายในโรงเรือนจะสูงกว่าอุณหภูมิภายนอกโรงเรือนอย่างน้อยเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส ไม้ผลที่เหมาะจะนำมาปลูกในสภาพโรงเรือนมากที่สุดได้แก่ ฝรั่ง เสาวรส และน้อยหน่า ส่วนมะเดื่อ ฝรั่ง พบว่าสามารถปลูกได้ดีในโรงเรือน ดังนั้นหากเกษตรกรท่านใดสนใจอยากจะปลูกมะเดื่อ ฝรั่งในโรงเรือน สิ่งสำคัญ คือจะต้องบริหารจัดการระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตและการขนส่งผลผลิตให้ดี ทั้งนี้ การปลูกไม้ผลในโรงเรือนนอกจากจะต้องพิจารณาชนิดพืชที่เหมาะสมทนต่อความร้อนได้ดี แล้วเรื่องการคัดเลือกพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะไม้ผลชนิดเดียวกันแต่ต่างพันธุ์กันก็สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนในโรงเรือนได้แตกต่างกัน
3.เลือกใช้สารชีวภัณฑ์และปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กับระบบปลูกในโรงเรือน
นอกจากเหตุผลเรื่องความคุ้มทุนของพืชที่จะนำมาปลูกในโรงเรือนแล้วการจะเลือกปลูกพืชอะไรก็แล้วแต่ให้โดนใจตลาดและผู้บริโภคนั้นสิ่งสำคัญ คือ
1.รสชาติต้องอร่อย ถูกปากผู้บริโภค
2.ต้องเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นแตกต่างจากพันธุ์ที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป
3.เกษตรกรต้องเปิดใจยอมรับนำพืชพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาปลูก
4.คิดจะเริ่มต้นปลูกพืชพันธุ์ใหม่ต้องสร้างสตอรี่ให้คนรู้จัก
5.อย่ายึดติดกับตลาดแบบเดิม ต้องมองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆที่ซ่อนอยู่
ท้ายที่สุด คุณปิยะ ฝากแนวคิดถึงเกษตรกรมือใหม่ไว้ว่า การทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จหัวใจสำคัญ คือ
1.ต้องลงลึกไปศึกษาเรียนรู้ของจริงเข้าใจวิธีการทำงานจริงถึงแหล่งผลิต
2.ต้องประเมินศักยภาพที่ดินและแรงงานว่าเรามีความพร้อมแค่ไหนและสามารถต่อยอดทำอะไรได้บ้าง ?
3.เริ่มต้นทำเกษตรจากเล็กไปใหญ่ หากจับทางได้จึงค่อยๆ ขยายการผลิตให้ใหญ่ขึ้นต่อไปและ
4.ต้องเรียนรู้การทำตลาดด้วยตัวเองปัจจุบันตลาดอยู่ในมือถือ หากรู้จักใช้ รู้จักศึกษา “คุณก็จะสามารถสร้างตลาดเองได้ง่ายๆเพียงปลายนิ้วของคุณเอง”
ขอบคุณรูปภาพ : https://www.kehakaset.com
สนใจขอบทความฉบับเต็มได้ที่: http://opac.library.mju.ac.th/opac2/BibDetail.aspx?bibno=359158
หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่
เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510 ; 053-873511
Facebook MJU Library