Views: 8,986
ชื่อเรื่อง : หลักการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน
ผู้แต่ง : ผศ.ดร. สุกาญจน์ รัตนเลิศนุสรณ์
สืบค้นจาก : ฐานข้อมูลหนังสืออิเล็คทรอนิกส์ของ SE-ED E-Library
บรรณานุกรม :
สุกาญจน์ รัตนเลิศนุสรณ์. (2550). หลักการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน. สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).
สืบค้น E book เพิ่มเติมด้วยการสมัครสมาชิกได้ที่ : SE-ED E-Library
หนังสือหลักการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน เป็นหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน วิชาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากร เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนมีแนวคิดในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและจัดการสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาพสมดุลธรรมชาติแบบยั่งยืน แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนการวางแผน ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนการใช้และการป้องกัน ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนการควบคุม เนื้อหาประกอบด้วย พื้นฐานสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หลักนิเวศวิทยาและสมดุลธรรมชาติ หลักการอนุรักษวิทยา มลพิษสิ่งแวดล้อมและหลักการกำจัดมลสารแบบยั่งยืน หลักการประเมินผลกระทบระบบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์ หลักการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนหรือบูรณาการ ซึ่งเหมาะสำหรับนักศึกษาคณะต่าง ๆ โดยเฉพาะนักศึกษากลุ่มวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับหลักการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสถานภาพสมดุลธรรมชาติแบบยั่งยืน
แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน
แนวทางการใช้ทรัพยากรรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างผิดหลักอนุรักษ์วิทยาก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า รวมทั้งการเกิดปัญหามลพิษซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจึงต้องใช้ศาสตร์ในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ พอสรุปได้ดังนี้
1. การควบคุมอัตราการเพิ่มของประชากรอย่างเหมาะสม
จำนวนประชากรนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติขึ้นในแต่ละประเทศ จากรายงานข้อมูลประชากรของประเทศไทยโดยเอสเคป (ESCAP) คาดว่าอีก 50 ปีข้างหน้า คือ ในปี พ.ศ. 2590 ประชากรของไทยจะเพิ่มเป็นสองเท่า ได้แก่ 118,792,000 คน
ในระดับโลกมีรายงานเรื่อง “สภาพของประชากรโลก ปี ค.ศ. 2001” ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟ-พีเอ) เตือนว่า ปี พ.ศ. 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9,300 ล้านคน จากในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 7,300 ล้านคน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรเกินขนาดเช่นนี้ จะทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนโลกทั้งปัญหาดินเสื่อม มลภาวะทางน้ำและอากาศ น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายและที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติจะถูกภัยพิบัติตามธรรมชาติทำลาย ความต้องการน้ำ อาหารและพลังงานที่มากขึ้น จะเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษยชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. ต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างถูกหลักอนุรักษวิทยา
หมายถึง การใช้ทรัพยากรอย่างสมเหตุสมผล รู้จักการเก็บรักษา สงวน ซ่อมแซม พัฒนา การกำจัด ของเสียและการนำของเสียมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทุกคนในชาติต้องตระหนักถึงบทบาทของตนเอง ด้วยการสร้างจริยธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ดี กล่าวคือมีการปลูกฝังให้ทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้จักการให้ความรักความเมตตาแก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มีความรู้สึกพอใจและมีความสุข เมื่อเห็นต้นไม้ร่มรื่น มีแม่น้ำลำธารที่ใสสะอาด มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ มีดินดีไว้สำหรับการเพาะปลูก และพอใจในการดำเนินชีวิตอย่างพอกินพอใช้ ซึ่งต้องอาศัยการจัดการศึกษาที่ดีให้แก่ประชาชนในประเทศ
3. ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจสังคมและ อุตสาหกรรม การดำเนินโครงการใหญ่ ๆ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ดังนั้น การพัฒนาใด ๆ ก็ตามต้อง คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและต้องหาแนวทางแก้ไขไว้ก่อนเสมอตามแนวทางที่เรียกว่า นิเวศพัฒนา (Eco-Development) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดำเนินการ พัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์ มีตัวอย่างในทางปฏิบัติ ได้แก่ การทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เมื่อมีการก่อสร้างหรือการทำกิจกรรมขนาดใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การสร้างสนามบิน ท่าเรือพาณิชย์ โรงงานขนาดใหญ่ โรงแรมขนาดใหญ่ เขื่อน หรือการร่วมมือกันในระดับชุมชน เช่น การปลูกป่าการร่วมกันรณรงค์รักษาความสะอาด เป็นต้น
4. ต้องกำหนดแผนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ชัดเจน
การวางแผนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตามศักยภาพของทรัพยากรนั้น ๆ เป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เป็นลูกโซ่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องต่อกัน ถ้ามีการใช้ผิดพลาดก็อาจจะส่งผลกระทบต่อกัน และที่มีปัญหาในการบริหารสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด อีกอย่างหนึ่งคือ การกำหนดผังเมืองให้ชัดเจน เพื่อแบ่งประเภทการใช้พื้นที่เมืองให้เหมาะสม ตามหลักการนิเวศวิทยาและสุขาภิบาลต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้มักเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การออกกฎหมายควบคุม รวมทั้งขาดความร่วมมือจากสังคม เพราะทุกคน มองเห็นผลประโยชน์ในระยะสั้นมากกว่าผลประโยชน์ในระยะยาว
5. ต้องใช้มาตรการควบคุมของเสียอย่างจริงจัง
การต้องใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีชั้นสูงในกระบวนการผลิต จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ก่อให้เกิด มลภาวะมากมาย เช่น น้ำเสีย อากาศเสีย ดินเสีย เสียงดัง ดังนั้น หน่วยงานบริหารต่าง ๆ ต้องมีมาตรการควบคุม และตรวจสอบอย่างจริงจังโดยต้องอาศัยทั้งเงินงบประมาณแลเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เช่น ควรมีมาตรการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลจากอาคารบ้านเรือน ภัตตาคาร ร้านค้า โดยออกกฎหมาย ควบคุมและจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำบัดของเสียเหล่านั้นจากผู้กระทำ เป็นต้น
บทที่ 1 พื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากร
บทที่ 2 หลักนิเวศวิทยาและสมดุลธรรมชาติ
บทที่ 3 ทรัพยากรธรรมชาติและหลักการอนุรักษวิทยา
บทที่ 4 มลพิษสิ่งแวดล้อมและหลักการกำจัดมลสารแบบยั่งยืน/บูรณาการ
บทที่ 5 หลักการประเมินผลกระทบระบบสิ่งแวดล้อมและการวิเคราะห์ระบบนิเวศ
บทที 6 หลักการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน/บูรณาการ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
https://m.se-ed.com
https://sites.google.com
หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ :
เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510 ; 053-873511
Facebook: MJU Library