ชื่อบทความเรื่อง : การปลูกกัญชาในระบบปิด (indoor) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้เขียน : ธานี ศรีวงศ์ชัย , สุตเขตต์ นาคะเสถียร
ชื่อวารสาร : เคหการเกษตร ปีที่ 45 ฉบับที่ 6 (มิ.ย. 2564)
“กัญชา” พืชเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สำหรับพืชชนิดนี้ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
นักวิจัย มก. พัฒนาต้นแบบการปลูกกัญชาระบบปิด (Indoor) และวิจัยสกัดสารสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ซึ่งคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีทีมคณะนักวิจัยของคณะเกษตร ประกอบด้วย รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร ภาควิชาพืชไร่นา รศ.ดร.พัชรียา บุญกอแก้ว ภาควิชาพืชสวน รศ.ดร.ธิดา เดชฮวบ ภาควิชาโรคพืช นายนฤพนธ์ น้อยประสาร และ น.ส.อมรรัตน์ ม้ายอง ได้เห็นความสำคัญเกี่ยวกับการปลูกกัญชา โดยปลูกและผลิตกัญชาในระบบปิด (Indoor) และได้รับงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาห้องปลูกและห้องสกัดจาก บริษัท ทีเอช แคนนา จำกัด จำนวน 6.5 ล้านบาท และเครื่องมือสกัดสารสำคัญ จำนวน 2.0 ล้านบาท และงบดำเนินงานปี 2564 – 2566 อีกจำนวน 2.0 ล้านบาท จาก บริษัท กรีนคัลติเวชั่น จำกัด
โครงการวิจัยการปลูกและสกัดสารสำคัญจากกัญชาเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ คณะเกษตร ได้ใบอนุญาตการปลูกและนำเข้ากัญชา (ใบอนุญาตปลูกเลขที่ 30/2563) จากกองควบคุมวัตถุเสพติด กระทรวงสาธารณสุขแล้ว จึงได้สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์กัญชาสายพันธุ์ CBD Charlotte Angle จากบริษัทเอกชน ประเทศเนเธอร์แลนด์ จำนวน 150 เมล็ด มาปลูกในระบบปิด (Indoor)
การปลูกกัญชาในระบบปิดที่เรียกกันว่า ระบบ “Indoor” หรือ“Plant factory with artificial light (PFAL)”จะต้องใช้พันธุ์กัญชาชนิดที่ตอบสนองช่วงแสง (photoperiod sensitive variety) กัญชาจัดเป็นพืชวันสั้น(shot day plant) ซึ่งกัญชาประเภทนี้จะออกดอกเมื่อได้รับช่วงแสงที่สั้นกว่าช่วงแสงวิกฤติ (critical photoperiod) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาห้องปลูกอย่างน้อย 2 ห้อง คือ ห้องปลูกเพื่อการเจริญเติบโตทางลำต้น (vegetative growth room) และ ห้องปลูกเพื่อการสร้างช่อดอก (reproductive growth room)
การปลูกกัญชาในระบบปิดที่ควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสภาพแวดล้อม และธาตุอาหารที่ให้กับต้นพืช การปลูกในวัสดุเพาะที่ปราศจากสารปนเปื้อนในดิน การควบคุมสภาพแวดล้อม และการดูแลรักษาห้องปลูกให้ปราศจากศัตรูพืช จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช และจากการควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของกัญชา ส่งผลให้ได้ผลผลิตช่อดอกแห้งที่ได้จากการปลูกครั้งแรกจำนวน 162.85 กรัม/ต้น
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยคาดการณ์ว่า จะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อต้นให้มากขึ้นอีกได้โดยการปรับปริมาณการให้ปัจจัยการเจริญเติบโต และการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่เหมาะสมต่อไปในการปลูกในระบบปิดแบบนี้สามารถปลูกกัญชาได้ถึง 4 รอบต่อปี ชึ่งผลผลิตที่ได้ออกมาแต่ละรอบจะสม่ำเสมอ และมีคุณภาพเหมือนกัน ผลผลิตช่อดอกที่ได้ตรงตามคุณลักษณะของสายพันธุ์ ปราศจากการปนเปื้อนของโลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืช และสารพิษจากเชื้อราที่จะเกิดที่ช่อดอก เหมาะสำหรับเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือการใช้ประโยชน์อื่นต่อไป
ขอบคุณรูปภาพ :
คุณสิทธิพล วิสูตร THcanna
สนใจขอบทความฉบับเต็มได้ที่:
http://opac.library.mju.ac.th/opac2/BibDetail.aspx?bibno=358841
หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ :
เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510
Facebook MJU Library