ถึงแม้ว่า เราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีสิทธิเสรีภาพในการออกเสียงหรือแสดงความคิดเห็น แต่รู้หรือไม่ว่า วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของไทย เพราะ วันที่ 14 ตุลาคม คือ “วันประชาธิิปไตย” ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนย้อนกลับไปดูถึงความสำคัญของวันที่ 14 ตุลาคมกันว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง….
14 ตุลาคม วันประชาธิปไตย
ก่อนที่เราจะกล่าวถึง วันประชาธิิปไตย เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 กันก่อนเลย ซึ่งในวันนั้นได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกเรียกว่า “วันมหาวิปโยค” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีนักศึกษาและประชาชนมากกว่า 5 แสนคนมาชุมนุม เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ ในสมัยของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร
ความเคลื่อนไหว ขับไล่เผด็จการทรราช
โดยในครั้งนั้น ได้มีการเคลื่อนไหว ขับไล่กลุ่มเผด็จการทรราชออกจากอำนาจที่ยึดครองมาหลายสมัย รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ปลดปล่อยนักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง 13 คน ที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหากระทำผิดกฎหมาย ทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นกบฏภายในราชอาณาจักรและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จากนั้นรัฐบาลได้ออกปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ถึง 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยทหารและตำรวจได้ใช้อาวุธ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และแก๊สน้ำตา ยิงใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประชาชนที่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมได้ร่วมมือกันต่อสู้ และบางส่วนได้ทำการเผาทำลายอาคาร สถานที่ และยานพาหนะของทางราชการ แต่ด้วยพระบารมีของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) จึงทำให้เหตุการณ์สามารถผ่านพ้นไปได้ในที่สุด โดย จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้ลาออกจากตำแหน่ง และได้เดินทางออกนอกประเทศ
ภายหลังเหตุการณ์ดังหล่าว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆ และสำหรับผู้เสียชีวิต ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเพลิงศพที่ทิศเหนือของท้องสนามหลวง และอัฐินำไปลอยอังคารด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อ่าวไทย
ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีในเวลานั้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อทำการฟื้นฟูระเบียบของบ้านเมือง เพื่อประสานความสามัคคีให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมในการปกครองประเทศ และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517
สร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
ในเวลาต่อมาได้มีการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้น ที่ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยใช้เวลาก่อสร้างอนุสรณ์สถานถึง 28 ปีด้วยกัน และรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้ลงมติเห็นชอบให้วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันประชาธิปไตย” อันเป็นการรำลึกถึงบุคคลที่ได้เลียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย
ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐสภายังได้บรรจุเหตการณ์วันที่ 14 ตุลา ลงในหลักสูตรของการศึกษา อีกด้วย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเหตุการณ์สำคัญของไทย ที่มีผลต่อการพัฒนาการเมืองจนมีระบบรัฐสภาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ขอบคุณที่มา : https://lifestyle.campus-star.com