ช่วงนี้มีข่าวเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลจากหน้าบัตรประชาชนหลุด จึงมีคำถามว่าข้อมูลจากหน้าบัตรประชาชนนั้นทำอะไรได้บ้าง ข้อมูลบนบัตรประชาชนอันตรายจริงหรือ? และมีแค่สำเนา ทำธุรกรรมกับรัฐและเอกชนได้จริงหรือ? และควรทำอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเอง ไม่ให้ข้อมูลหลุดไปในระดับนึงถ้ามีอันตรายจริง
ข้อมูลบนหน้าบัตรประชาชนและเลขประจำตัวอันตรายจริงหรือ?
หลายคนยังกังวลใจว่า “ข้อมูลบนบัตรประชาชน” นั้นอันตรายจริงหรือ ทางเราได้สอบถามผู้รู้มา ได้สรุปดังนี้
ข้อมูลหน้าบัตรเป็นข้อมูลทั่วๆไป ซึ่งปัจจุบันสถาบันองค์กรต่างๆ ไม่ค่อยยอมให้ใช้แค่สำเนาบัตรทำธุรกรรมอะไรแล้ว และแม้จะใช้บัตรประชาชนตัวจริงหรือเลขบัตรประชาชน แต่ถ้าเจ้าของไม่ได้มาก็ไม่สามารถทำธุรกรรมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนได้ เพราะเคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ทำให้ถูกต้อง หรือมีส่วนรู้ร่วมคิดกับขบวนการโกง จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่องค์กรต้องเพิ่มขั้นตอนตรวจสอบบัตรและตัวตนอย่างรัดกุม [อ่านเพิ่มเติมจากกรณีนักข่าว NEW TV ทดลองนำบัตรประชาชนคนอื่นไปเปิดบัญชีจนสำเร็จ] ถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่ยังฝ่าฝืน ก็ต้องรับโทษ ถ้าจะทำแทนต้องมีใบมอบอำนาจมา (อิงจากที่ผู้เขียนไปทำธุรกรรม ใช้บริการต่างๆ จริง บางครั้งพ่อแม่ฝากมาทำ ให้บัตรประชาชนจริงมา เขายังไม่ให้ทำธุรกรรมเลย) แต่ตรงนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่อาจมีการปลอมใบมอบอำนาจได้ ถ้าสามารถปลอมลายเซ็นได้
แต่มีข้อสังเกตหนึ่งที่อยากเตือนเพิ่มคือ
สำเนาบัตรประชาชนหรือภาพบัตรประชาชนอาจนำไปใช้แอบอ้างขายของหลอกลวงทางออนไลน์ หรือทำธุรกิจผิดกฎหมายได้ หรือสวมรอยหลอกลวงผู้อื่น และหลายบริการออนไลน์ที่ให้สมัครครั้งแรกแล้วยืนยันตัวตนด้วยพวกวันเกิดหรือเลขประชาชน อันนี้ควรระวัง ใครที่เคยสมัครพวกนี้แล้วควรตั้งพาสเวิร์ดใหม่ทันที รวมถึงพวกเกมออนไลน์และบริการต่างๆ ที่แค่กรอกเลขบัตรประชาขนก็สมัครได้ทันที (ไม่เหมือนบางเว็บเช่น Pantip ต้องถ่ายรูปตัวเองคู่บัตรประชาชนส่งไปเพื่อยืนยัน) (เอาจริงๆ แค่ไปดูตามคูหาเลือกตั้ง หรือแอบจดจากบัตรอื่นมาก็ใช้สมัครได้แล้ว ไม่ต้องข้อมูลหลุดเท่านั้น) และการซื้อซิมจากร้านค้าเล็กๆ บางร้าน ที่ไม่ใช่ศูนย์บริการหรือร้านใหญ่หรือร้านสะดวกซื้อ ที่พนักงานอาจไม่เข้มงวด
ข้อมูลหลังบัตรประชาชนนั้นสำคัญกว่า
ข้อมูลหน้าบัตรไม่เท่าไหร่ แต่ข้อมูลหลังบัตรสำคัญกว่า จริงๆ ก็เพิ่งสังเกตตามที่เพื่อนบอกว่ามันจะมีชุดรหัสหลังบัตร ตรงนี้คือรหัสยืนยันตัวตนของเจ้าของบัตรลักษณะคล้าย cvv ในบัตรเครดิต ที่ไม่ค่อยรู้เพราะยังไม่ค่อยมีบริการไหนที่ขอเลขนี้ แต่เพื่อนผมเพิ่งเจอหน่วยงานที่ขอเลขนี้เมื่อไม่นานนี้คือกรมสรรพากร อนาคตหน่วยงานรัฐอาจใช้ประโยชน์จากเลขนี้อย่างอื่นได้
เราจึงอยากแนะนำว่า เวลาถ่ายเอกสารให้ถ่ายแค่หน้าบัตร ยกเว้นหน่วยงานที่ติดต่อขอเลขหลังบัตรจริงๆ ซึ่งก็ต้องขีดคร่อมเซ็นต์รับรองให้ปลอมแปลงยาก เพราะหากขีดคร่อมไม่ดี อาจมีการนำไปสแกนแล้วตกแต่งใหม่ได้
แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าสำเนาแบบไหน ก็มีลายเซ็นต์ อาจนำไปถอดแบบเพื่อปลอมทำอย่างอื่นได้ และข้อมูลเหล่านี้อาจถูกแอบอ้างเพื่อใช้บริการสถาบันการเงินนอกระบบ บริการผิดกฎหมายที่อาจไม่มีการตรวจสอบยืนยันตัวตนได้
การเซ็นรับรองสำเนา และระบุว่าใช้ทำอะไร หากเอาไปทำนอกเหนือมีความผิดทางกฎหมาย แต่…
จริงๆ เราการนำสำเนาที่มีการเซ็นต์รับรองและระบุว่าเอาไปทำอะไรนั้น หากนำไปใช้นอกเหนือจากนี้แล้วพิสูจน์ได้ ถือว่าผู้กระทำผิดกฎหมาย แต่ว่าการเซ็นต์ของบางคนนั้นจะถูกนำสำเนาไปแก้ไขด้วยโปรแกรมแต่งภาพอย่าง Photoshop แล้ว Print ออกมาใหม่ก็เนียนแล้ว
และหากรู้ว่าข้อมูลหลุดควรทำอย่างไร
ก็ไม่พ้นแจ้งความครับ เป็นสิ่งที่ควรรีบทำเลยครับ
สถานการณ์ใกล้ตัว มีน่ากลัวกว่าเยอะ แม้ข้อมูลไม่หลุด ควรใส่ใจ!
กรณีที่ฝากบัตรไว้กับคนอื่น เช่นแลกบัตรเข้าสถานที่ต่างๆ ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ใช้บัตรอื่นแลกแทนบัตรประชาชน เพราะเราไม่รู้ว่าเขาอาจจะทำอะไรกับบัตรหรือเลขประจำตัวประชาชนของเราบ้าง อันนี้เค้าได้บัตรจริงเราไปเลย จะเอาไปสำเนา หรือเอาไปทำอะไรก็ได้ น่ากลัวไม่แพ้ข้อมูลหลุดเลย
Credit : เว็บแบไต๋