เรียนรู้ตำนานประวัติศาสตร์ไปพร้อม “ละครบุพเพสันนิวาส”

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ละครไทยสามารถนำเอาประวัติศาสตร์ไทยที่เกิดขึ้นมาเล่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ แม้ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จะสร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงของผู้ชมเป็นหลัก แต่ก็ยังมีผู้ให้ข้อติติงไว้ ทั้งในเรื่องความสมจริงทางการเมืองและด้านศิลปะวัฒนธรรม วรรษชล ศิริจันทนันท์ นักเขียนจากเดอะโมเมนตัม เอาแนวคิดประวัติศาสตร์การเมืองฝ่ายซ้ายวิเคราะห์ละครเรื่องนี้ไว้ว่า เป็นละครหลังข่าวที่แม้จะยังคงความสนุกและความบันเทิง “แต่ก็ยังมี ‘คราบ’ ของอุดมการณ์ชาตินิยมและการชื่นชมความสงบสุขของอยุธยาแทรกเข้ามาอยู่เป็นระยะ จนผู้ชมเกิดอารมณ์โหยหาอดีต” โดยวรรษชลโต้แย้งว่า บุพเพสันนิวาส นำเสนอภาพในอดีตที่มองข้ามความขัดแย้งของคนไทยในราชสำนัก โดยนำเสนอว่าสังคมและวัฒนธรรมของอยุธยาเป็นสังคมที่ “สงบสุข ไม่มีการคอรัปชั่น และมีฝรั่งเป็นส่วนเกิน” เพื่อสนองความปรารถนาของผู้ชมบางส่วนซึ่ง “ไม่พอใจในปัจจุบันอันแสนจะวุ่นวาย เต็มไปด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และไร้ซึ่งความปรองดอง จนเกิดความโหยหาอดีต ทำให้หลายคนต่างให้ความสนใจหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาสมัยอยุธยาที่ปกครองโดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้สร้างความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรื่อง การเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ และตัวละครที่สำคัญอย่างฟอลคอน

ทางสำนักหอสมุดจึงได้มีการจัดซื้อหนังสือให้กับผู้ที่สนใจ “ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส” ได้มาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาทั้งหมด  7 เรื่องด้วยกัน

   บุพเพสันนิวาส

บุพเพสันนิวาส” เป็นนวนิยายของ “รอมแพง” ที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นของเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี พ.ศ.2553 ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกทาง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ผลิตโดย บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเวิชั่น จำกัด เขียนบทโทรทัศน์โดย ศัลยา กำกับการแสดงโดย ภวัต พนังคศิริ นำแสดงโดย ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ, ราณี แคมเปน, หลุยส์ สก๊อต, สุษิรา แน่นหนา, ปรมะ อิ่มอโนทัย, กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, ชไมพร จตุรภุช ร่วมด้วยนักแสดงอีกคับคั่ง เริ่มออกอากาศตอนแรกวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

เรื่องราวสนุกสนานเกิดขึ้นเมื่อ “เกศสุรางค์” อาจารย์สาวร่างท้วม ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ แล้วลืมตาตื่นขึ้นมาในร่างของสาวสวย ผอมบาง ที่ตอนแรกเธอเองก็อยากจะดีใจหรอก เพียงแต่ว่าเธอกลับรับรู้ว่าตัวเองได้โผล่มายุคในยุคพระนารายณ์มหาราชย์และไม่รู้จักใครเลย แถมยังเป็นที่เกลียดชังของคนทั้งเรือนยกเว้นบ่าวพี่เลี้ยงสองคน ด้วยร่างของคนที่เธอเข้ามาอยู่คือร่างของแม่หญิงการะเกดผู้มีความงามเป็นเลิศพอ ๆ กับความร้ายกาจ ยิ่งลูกชายเจ้าของเรือนหน้าขรึมดุ ก็ดูท่าทางจะไม่ชอบขี้หน้าการะเกดซึ่งเป็นคู่หมายของตัวเองอยู่ไม่น้อย แต่มีหรือที่เกศสุรางค์จะจำยอมกับเรื่องแบบนี้ ในเมื่อเธอ เป็นผู้หญิงยุค 2010 ดังนั้นการจะมานั่งพับเพียบเรียบร้อย ทำตัวสงบเสงี่ยม ไม่มีปากมีเสียง ให้ใครอื่นมาพูดจากระทบกระเทียบนั้นไม่มีทาง

              พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ หมอบรัดเล (สำนักพิมพ์ศรีปัญญา )                                                   

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ หมอบรัดเล นี้ แต่เดิมเรียกว่า พระราชพงศาวดารฉบับสองเล่ม ได้ชำระในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ โดบยสมเด็จพระพนรัตน์ แห่งวัดพระเชตุพน ด้วยเหตุนี้ทำให้บางแห่งก็เรียกว่า ฉบับพระพนรัตน์ ด้วยเช่นกัน เหตุที่เรียกว่าฉบับ หมอบรัดเล นั้นก็เพราะ ดอกเดอร์ แดนบีช บรัดเล มิชชันนารี โปรแตสแตนท์ ชาวอเมริกา ได้นำมาจัดพิมพ์และออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ ซึ่งนับเป็นการจัดพิมพ์พระราชพงศาวดารขึ้นเป็นครั้งแรก

 

7 ตำนานสมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

“7 ตำนานสมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” เล่มนี้ เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ผ่านพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ เพียงส่วนหนึ่งจากพระคุณอเนกอนันต์ของบูรพกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ 7 พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดทำขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นเครื่องราชสักการะ อีกทั้งเป็นการเทิดพระเกียรติบอกเล่าเรื่องราวที่มีคุณค่า ควรค่าแก่การจดจำ ในโอกาสสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองทัพบกจัดสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม” พร้อมจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ โดยพระราชทานชื่อให้ว่า “อุทยานราชภักดิ์” ซึ่งเป็นอุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ภายในพื้นที่ของกองทัพบก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ฟอลคอน หรือ การเผชิญภัยของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์

 “คอนสแตนติน ฟอลคอน” จากเกาะเซฟาโลเนีย (Cephalonia) ชาติกรีกที่มีความมุ่งมั่นจะให้ชีวิตก้าวไปสู่จุดสูงสุด ทั้งชื่อเสียงและเงินทองทำให้เขาตัดสินใจออกเผชิญภัยในโลกกว้างและเขาก็ทำสำเร็จ เมื่อเดินทางมาสู่ประเทศสยาม โดยมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ณ ที่แห่งนี้ เขาใช้สติปัญญาและความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมด จนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาวิชาเยนทร์ แต่แล้ว…ความทะเยอทะยานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เขาเกิดความคิดอยากจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยร่วมมือกับนายพลเดส์ฟาร์จ (Ge’ne’ral Desfarges) ชาวฝรั่งเศส ให้นำกองทหารฝรั่งเศสเข้ามาบุกยึดประเทศสยาม ทว่าไม่ทันกาล เพราะพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์ (ต่อมา คือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ) ที่ถือเป็นคู่ศัตรู ได้คิดการกบฏและต่อมาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ และแล้วคอนสแตนติน ฟอลคอน มารี กีมาร์ผู้เป็นภรรยา รวมทั้งบุตรตกที่นั่งเป็นเช่นไร! ร่วมค้นหาคำตอบพร้อมกันในเล่ม

ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

งานเขียนของ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ชื่อดังวิเคราะห์วิจัยการเมืองไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเฉพาะกิจการต่างประเทศ อันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ พร้อมพรั่งด้วยข้อมูลและเรื่องราวน่ารู้น่าสนใจของออกญาวิไชเยนทร์ อดีตอัครมหาเสนาบดี ชาวกรีกคนสำคัญ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ตลอดไป

จดหมายเหตุของมองซิเออร์เซเบเรต์

หนังสือเล่มนี้เนื้อหาส่วนใหญ่บอกเล่าถึงการเจรจาความเมืองระหว่างราชทูตฝรั่งเศสกับอัครเสนาบดีของสมเด็จพระนารายณ์ในเวลานั้น คือ ออกญาวิชเยนทร์ ซึ่งให้ประโยชน์ในแง่บอกเล่าเรื่องราวและความคิดในการเจรจาทางการทูตได้อย่างดี และที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ บันทึกเล่มนี้ได้เล่าถึงเส้นทางการเดินทางทางบก จากบางกอกลัดเลาะไปผ่านแม่กลอง เพชรบุรี กระทั่งเดินบกและแม่น้ำ ข้ามชายฝั่งทวีปไปถึงเมืองมะริดอันเป็นเมืองชายฝั่งด้านตะวันตกของไทยในเวลานั้น ซึ่งทำให้คนรุ่นหลังได้รู้และเห็นภาพของเส้นทางการค้าโบราณที่ชัดเจนอีกเส้นทางหนึ่ง

ยกบางกอกให้ฝรั่งเศส เบื้องหลังการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เผยเหตุการณ์และเอกสารลับการตัดสินพระทัยยกเมืองบางกอก พร้อมเครื่องราชบรรณาการถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส รวมบันทึกเหตุการณ์เบื้องหลังกรณีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตัดสินพระทัยยกเมืองบางกอกและเมืองมะริดให้กับประเทศฝรั่งเศส กระทั่งฝรั่งเศสส่งคณะทูตเข้ามาเจรจาทางลับและส่งกอกทหารเข้ามาประจำการยังราชอาณาจักรสยามได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะเพลี่ยงพล้ำและพ่ายแพ้ตกเป็นเมืองขึ้น หรืออาณานิคมของอังกฤษ

 

หาอ่านได้ที่:  สำนักหอสมุด ชั้น 2 (ชั้นแสดงหนังสือใหม่) 

ขอบคุณที่มา: ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์