กว่าจะมาเป็น บอย โฟโต้โยคี

ในสมัยนั้นภาพนิ่งภาพยนตร์ยังไม่ค่อยแพร่หลายนัก เพราะสื่อในยุคก่อนมีไม่เยอะส่วนใหญ่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ จึงไม่สามารถกระจายผลงานได้ง่ายเหมือนในปัจจุบัน แต่เมื่อโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ผลงานถูกกระจายในวงกว้าง ก็เริ่มมีผู้สนใจงานด้านนี้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

บอย โฟโต้โยคี (fotoyokee) หรือ ณรงค์ บุตรโยธี ช่างภาพอิสระที่รักการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ ที่อยู่ตามบัตรประชาชนคือกรุงเทพฯ แต่พื้นเพเป็นคนจังหวัดหนองคาย ปัจจุบันมาปักหลักอยู่ที่เชียงใหม่ เริ่มต้นสายชีวิตศิลปินตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนอยู่เพาะช่างกรุงเทพฯ เรียนจบประมาณปี 41-42 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจเมืองไทยกำลังแย่ ก็เริ่มต้นชีวิตทำงานด้วยการไปทำข่าวเพราะเคยฝันอยากเป็นช่างภาพนักข่าว เพราะประทับใจนักข่าวต่างประเทศที่แบกกล้องทำข่าวแบบลุยๆ ไปกับเหตุการณ์ต่างๆ นอกจากนั้นก็ยังได้ไปทำข่าวกีฬากับนักข่าวหนังสือพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ก็รู้สึกชอบการถ่ายภาพกีฬาเพราะได้จับจังหวะการเคลื่อนไหวของนักกีฬา

ย้อนไปช่วงยังเด็กๆ พ่อทำงานธนาคารมีโอกาสได้ขึ้นมาเชียงใหม่ตนก็เกิดความประทับใจและคิดเสมอว่าจะต้องได้มาเที่ยวอีก ด้วยสายงานและความลงตัวในหลายด้านจึงได้มาเชียงใหม่หลายครั้งซึ่งทุกครั้งที่มาทำงานก็รู้สึกประทับใจจนหลงมนต์เสน่ห์เวียงพิงค์ปัจจุบันจึงต้องการปักหลักเลย โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบดูหนังไทย เคยใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องเข้าวงการให้ได้ ดังนั้นเมื่อเรียนจบที่เพาะช่างก็ได้รับโอกาสจาก อุดม ดมโรจน์ ที่เปิดกล้องหนังเรื่องเก้าพระคุ้มครอง เมื่อนำผลงานของตนเองไปนำเสนอก็ไม่ได้รับความสนใจ เพราะเป็นเพียงภาพถ่ายพอร์ตเทรต (ภาพบุคคล) ที่ไม่มีเรื่องราวอะไร แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับความรู้ในเรื่องการถ่ายภาพนิ่งภาพยนตร์ เพราะหลังจากนั้นอีก 1 ปี ต่อมาก็ได้รับการติดต่อให้ไปถ่ายภาพ เมื่อเริ่มงานก็พยายามเรียนรู้การทำภาพยนตร์ทุกด้าน จนสามารถเขียนบทภาพยนตร์และเขียนสตอรี่บอร์ดได้เพราะต้องอ่านและดูทุกวัน

ในสมัยนั้นภาพนิ่งภาพยนตร์ยังไม่ค่อยแพร่หลายนัก เพราะสื่อในยุคก่อนมีไม่เยอะส่วนใหญ่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ จึงไม่สามารถกระจายผลงานได้ง่ายเหมือนในปัจจุบัน แต่เมื่อโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ผลงานถูกกระจายในวงกว้าง ก็เริ่มมีผู้สนใจงานด้านนี้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

บอย โฟโต้โยคี กล่าวว่า ผลงานที่ทำให้ตนเป็นที่รู้จักก็คือ “บางระจัน 2” ซึ่งได้ไปเก็บตัวในกองถ่าย คอยเก็บภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ และ ตัวละครในฉาก งานนี้เป็นงานอยู่ในความทรงจำตลอด ภาพการออกกองตอนเช้า โดนแดดแผดเผา ฉากรบพุ่งที่ถ่ายกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ความเหน็ดเหนื่อย ในแต่ละวัน บรรเทาและเบาบางลงเมื่อได้เห็นผลงานภาพถ่ายที่ถูกบันทึกบอกเล่า ออกมาเป็นภาพนิ่ง แม้ทุกสิ่งผ่านพ้นไปแล้ว แต่…ภาพถ่ายยังคงอยู่ในความทรงจำโดยตลอด

ความยากของการถ่ายภาพนิ่งภาพยนตร์ก็คือตำแหน่งของเราในกองถ่าย อารมณ์คล้ายกับการแอบถ่ายเพราะในแต่ละวันจะมีคิวของการแสดงอยู่ หน้าที่ของตนก็คือต้องคอยเก็บภาพอริยบทของทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ, ทีมงาน และนักแสดง สิ่งที่เป็นอุปสรรคของการถ่ายภาพคือรูปแบบของการถ่ายทำภาพยนตร์ในปัจจุบันเป็น Sound on film คือใช้เสียงจริง ดังนั้นจึงไม่สามารถจะเข้าไปถ่ายภาพนิ่งในฉากถ่ายทำจริงได้ เพราะเสียงชัตเตอร์จะเข้าไปในหนังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ใช้ฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ซึ่งมีราคาแพงมาก หากใครที่ทำผิดพลาดก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ผลงานภาพนิ่งที่ได้ร่วมงานกับผู้กำกับและนักแสดง เช่น ภาพยนตร์สั้นเฉลิมพระเกียรติ์ เรื่องแผ่นดินของเรา กำกับโดย พี่หง่าว ยุทธนา มุกดาสนิท มีนักแสดงดังหลายคน เช่น เบิร์ดธงไชย, บี้เดอะสตาร์, นัทมีเรีย, เจมส์เรืองศักดิ์ ฯลฯ ภาพยนตร์เรื่อง เก้าพระคุ้มครอง ที่นำแสดงโดย ดาราเด็กชื่อดังสมัยนั้น อนัน อันวา กำกับโดย พี่ซ้ง ซึ่งยังให้โอกาสตนได้ทำงานต่อมาอีกหลายเรื่อง เช่น ก็เคยสัญญา ของแมทชิ่งฟิล์ม เสือภูเขา

ภาพยนตร์ที่ทำให้คน รู้จักผลงานภาพนิ่งคือเรื่อง บางระจัน 2 ที่กำกับโดยพี่ปื๊ด ธนิท จิตนุกูล นักแสดงนำคือ ภราดร ศรีชาพันธุ์ และ ภูริ และตนยังได้ถ่ายภาพนิ่งให้เจ้าพ่อเพลงแร๊บเมืองไทยโจอี้บอย ในภาพยนตร์เรื่องก้านคอกัด

เคยร่วมงานกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เมื่อเจ็ดปีก่อน กับหนังเรื่อง พระเด็ก เสือ ไก่ วอก ของค่าย พระนครฟิล์ม ซึ่งต้องเดินทางขึ้นมาถ่ายทำที่แม่แตงเชียงใหม่

ภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ในเครือไฟว์สตาร์อย่างเรื่อง ตีสาม ที่กำลังเข้าฉายในโรง ถ่ายภาพนิ่ง ตอน โอทีและเกศยอง มีดารานำแสดง เรย์ แมคโดนัล ชาคริต แย้มนาม โฟกัส จิระกุล และสายป่าน และภาพยนตร์เรื่องแรง ที่ทำงานตำแหน่งภาพนิ่ง โดย อุดม อุดมโรจน์ ผู้กำกับที่สร้างชื่อ จากภาพยนตร์เรื่อง ปุกปุย คู่แท้สองโลก ฯลฯ

การถ่ายภาพนิ่ง ไม่ใช่แค่ถ่ายรูป แต่ยังได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ร่วมกับคนอื่นๆ ในกองถ่าย คุณค่าของภาพนิ่งภาพยนตร์ คือการบันทึกประวัติศาสตร์ของหนัง เรื่องนั้นๆ เอาไว้เป็นภาพถ่าย ซึ่งอาจเป็นภาพที่ไม่มีให้เห็นบนจอภาพยนตร์

ปัจจุบันรับงานถ่ายภาพทั่วไป โดยทำร่วมกับเพื่อนในชื่อกลุ่ม “อิ่มบุญสตูดิโอ” ซึ่งประสบการณ์ในกองถ่ายภาพยนตร์มีค่ามากเพราะฝึกให้ตนถ่ายภาพให้มีชีวิตชีวาได้ตามที่ต้องการ ในอดีตกว่าจะได้ภาพถ่ายมาแต่ละภาพไม่ใช่เรื่องง่ายดังนั้นการจะได้ภาพดีๆ สักภาพหนึ่งจึงมีความหมายมากกว่าในปัจจุบันที่มองการถ่ายภาพเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่ตนมองว่าการถ่ายภาพเป็นงานศิลปะที่ไม่ใช่ว่าใครก็จะสามารถทำได้ จริงอยู่ที่ทุกคนสามารถถ่ายได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะถ่ายได้ดี ติดตามผลงานของ บอย โฟโต้โยคี ได้ที่เฟซบุ๊ก ในชื่อ “Narong Fotoyokee”

แล้วพบกับตัวจริงของ ณรงค์ บุตรโยธี หรือ บอย โฟโต้โยคี (fotoyokee) ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.00 – 12.00 น. กับหัวข้อเรื่อง “ภาพนิ่งส่วนที่ไม่เคลื่อนไหว ในความทรงจำ” ในงาน Maejo Book Fair 2018 ณ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

https://library.mju.ac.th/activity/bookfair2018/
https://www.facebook.com/mjulibrary

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thainews70.comhttps://www.facebook.com/Fotoyokee