ย่างเข้าเดือนตุลาคมแล้วกับบรรยากาศเศร้าหมองของประชาชนชาวไทย เลยอยากปรับอารมณ์ของผู้อ่านด้วยการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาให้ฟังกันค่ะ เป็นเพลงที่เข้ากับอากาศช่วงนี้พอดี ฝนตกบ้าง บางทีก็อากาศเย็น ๆ และลมหนาวใกล้มาถึงเต็มที ซึ่งเพลงที่เข้ากับช่วงนี้ก็คือ เพลง “สายลม” “สายฝน” และ “ลมหนาว” ซึ่งในครั้งนี้จะยกเอาคำอธิบายของ พ.อ.วัชระ วีระวงศ์ เขียนจดหมายในคอลัมน์ตอบปัญหา “ถูกทุกข้อ” ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ดังนี้
อัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงจากหนังสือดิฉันซึ่งเป็นภาพวาดอันสวยงามมาประกอบด้วยค่ะ ไม่แน่ใจว่าเป็นผลงานของศิลปินท่านใด อ่านลายเซ็นแล้วเดาว่าน่าจะเป็น อาจารย์เกริกบุระ ยมนาค ลายเส้นงดงามมากค่ะ
ลิ่วลมหลั่งฝนโปรยทั่ว จวบแดดทอรุ้งอร่ามตา
ช่วงเปลี่ยนแปลงฤดูกาลอากาศมันแปรปรวน มีลมฝนแทรกมาช่วงคาบเกี่ยวของฤดูกาล ที่พบเห็นบ่อย ๆ เช่น วันลอยกระทงมักมีฝนโชยมา หรือฝนตกปราย ๆ อยู่เนือง ๆ เหตุแห่งความแปรปรวนของสภาพอากาศ ติดตามรับฟังข่าวอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ ได้ทุกวัน อย่างไรก็ดี มีอีกช่องทางหนึ่งที่จะรับรู้ถึงสาระเกี่ยวกับลมฝน นั่นคือในบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์ เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงนิพนธ์คำร้อง
เพลง สายลม กล่าวถึงสภาพอากาศยามท้องฟ้าปั่นป่วนด้วยแรงลมและฝน ขณะที่จิตใจหวาดกลัวฟ้าแลบแปลบแสง ฟ้าผ่าดังสนั่น ถึงกระนั้นก็ยังทำความเข้าใจตัวเองด้วย
ท่ามกลางฟากฟ้ามัวหม่น
ลิ่วลมหลั่งฝนโปรยทั่ว
เยือกเย็นชีพเฉาเมามัว
จิตใจไหวหวาดกลัวหวั่นฟ้าคำรามลั่น
โรจน์เรืองแปลบแสงฟ้าผ่า
ล่องลมลิ่วมาเสียงสนั่น
โอ้ลมหนอลมพัดคืนวัน
โบกโบยเพียงไหนกันพัดจนไม่รู้วันสงบเอย
ต้องลมเหล่าไม้เอนลิ่ว
ลู่ใบลุ่ยพลิ้วปลิวว่อน
จิตใจอ่อนท้ออาทร
ด้วยลมพัดโบกวอนล่องหนวนเวียนไป
อย่าเป็นอย่างสายลมเล่า
เปลี่ยนแปลงซึมเซาเหลิงรักใหม่
โอ้ลมหนอลมพัดเลยไป
โลกเคยรู้ฉันใดแล้วคงสุขสมใจยิ่งเอย
เพลงพระราชนิพนธ์ สายลม หรือ I Think of You เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 25 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2500 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานของ สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2500
เพลง สายฝน ในสายฝนก็มีสายลมสอดแทรก และหากธรรมชาติสบเหมาะจะมีแดดทอรุ้งอร่ามตา สายฝนผสานสายลมให้ความรู้สึกฉ่ำชื้นโชยเย็น และที่สำคัญคือพืชพันธุ์ไม้ชื่นยืนยง
เมื่อลมฝน บนฟ้ามาลิ่ว
ต้นไม้พลิ้ว ลู่กิ่งใบ
เหมือนจะเอน รากคลอนถอนไป
แต่เหล่าไม้ ยิ่งกลับงาม
พระพรหมท่าน บันดาลให้ฝนหลั่ง
เพื่อประทัง ชีวิตมิทราม
น้ำทิพย์สาดเป็นสาย พรายพลิ้วทิวงาม
ทั่วเขตคาม ชื่นธารา
สาดเป็นสาย พรายพลิ้วทิวทุ่ง
แดดทอรุ้ง อร่ามตา
รุ้งเลื่อมลาย พร่างพรายนภา
ยามเมื่อฝนมาแต่ไกล
พระพรหมช่วย อำนวยให้ชื่นฉ่ำ
เพื่อจะนำ ดับความร้อนใจ
น้ำฝนหลั่ง ลงมาจากฟ้าแดนไกล
พืชพันธุ์ไม้ ชื่นยืนยง
เพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน หรือ Falling Rain เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะวอลท์ซ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนนี้บรรเลงครั้งแรกที่เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในงานรื่นเริงของ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย บรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ในเวลาต่อมาเพลงนี้นำมาขับร้องใหม่โดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส , นภา หวังในธรรม, สวลี ผกาพันธ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถึงความลับของเพลงนี้ว่า
“…เมื่อแต่งเป็นเวลา 6 เดือน ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้เขียนจดหมายถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนนได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไปเข้าไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าแล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูงซักผ้าได้สะอาด…ที่จริงความลับของเพลงมีอย่างหนึ่ง คือเขียนไป 4 ช่วง แล้วก็ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกช่วงที่ 2 กลับไป ทำให้เพลงมีลีลาต่างกันไป…เป็น 1 3 2 4…”
เพลง ลมหนาว ฤดูหนาวแม้ได้รับความรื่นรมย์จากลมหนาว แต่ใช่ว่าจะเป็นสุขตลอดไป เพราะบางเวลามีลมฝนรุนแรง แต่ธรรมชาติเสียหายพาให้ใจหม่นมัว สุขทุกข์เคล้ากันไปเป็นธรรมชาติ ดังสำนวน “ชีวิตลุ่ม ๆ ดอน ๆ”
ยามลมหนาว พัดโบกโบยโชยชื่น
เหล่าสกุณร้องรื่นรมย์
หมู่ดอกไม้ชวนภมรร่อนชม
ช่างสุขสมเพลินตาน่าดูชูใจ
โอ้รักเจ้าเอ๋ย
ยามรักสมดังฤทัย
พิศดูสิ่งใด
ก็แลวิไลแจ่มใสครัน
อันความรักมักจะพาใจฝัน
เมื่อรักนั้นสุขสมจิตปอง
ยามลมฝน พัดโบกโบยกระหน่ำ
หยดหยาดนำน้ำหลั่งนอง
ผึ้งภู่ทั้งวิหคเหงาเศร้าหมอง
เกลื่อนกลาดผองมาลีร่วงโรยลงดิน
เหมือนรักผิดหวัง
เปรียบดังหัวใจพังภินท์
น้ำตาหลั่งริน
และลามไหลเพียงหยาดฝนปราย
อันความรักแม้นไม่เป็นดังหมาย
ตราบวันตาย ชีพขมขื่นเอย
เพลงพระราชนิพนธ์ ลมหนาว หรือ Love in Spring เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 19 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2497 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และได้พระราชทานเพลงนี้ ออกบรรเลงครั้งแรก ในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย
เพลงพระราชนิพนธ์ สายลม สายฝน และลมหนาว ได้สร้างความตระหนักรู้คุณค่าธรรมชาติ ผู้ที่เข้าใจธรรมชาติถ่องแท้จะไม่หักหาญทำลายหรือเบียดเบียนธรรมชาติเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า แต่จะดำรงตนอยู่ในวิถีพอเพียง มีแต่แนวทางนี้เท่านั้นที่ทำให้สังคมสงบเย็น
ขอบคุณข้อมูลจาก : haiku ; พระบรมสาทิสลักษณ์จากนิตยสารดิฉัน ฉบับเดือน ธ.ค. 2557 คอลัมน์ “ถูกทุกข้อ” นสพ.ไทยโพสต์ 19 ธ.ค. 2558 ; youtube