ทุกๆ ปี Gartner จะออกมาสรุปเทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับเหล่าองค์กร และในครั้งนี้ Gartner ก็ได้ออกมาสรุปถึง 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2018 กันแล้ววันนี้ BIT เลยขอนำบทความที่ทางทีมงาน TechTalkThai แปลไทยมาให้อ่านกันดังนี้ครับ
1. AI Foundation
คงปฏิเสธไม่ได้กับความร้อนแรงของ AI ในยามนี้ โดย Gartner ชี้ว่า AI ที่สามารถเรียนรู้, โต้ตอบ และปรับตัวได้โดยนอัตโนมัตินี้จะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่ใช้แข่งขันกันระหว่างเหล่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีภายในปี 2020 ในขณะที่การใช้ AI เพื่อช่วยเสริมการตัดสินใจ, การปรับปรุงรูปแบบการทำธุรกิจ และการปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้านั้นจะยังคงกลายเป็นประเด็นหลักที่เหล่าองค์กรให้ความสำคัญต่อไปจนถึงปี 2025
ด้วยเหตุนี้ การลงทุนด้าน AI ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร, เครื่องมือ หรือระบบที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นการจัดการข้อมูลนั้นก็จะยังคงเติบโต่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสิ่งที่เหล่าองค์กรจะขาดไปไม่ได้แล้วสำหรับการแข่งขันในอนาคต
2. Intelligent Apps and Analytics
Application ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้จะมีการใช้งาน AI หรือ Machine Learning อยู่ภายในแทบทั้งหมด โดยที่บางครั้งผู้ใช้งานอาจไม่รู้ตัวว่า AI นั้นทำงานอยู่ในส่วนใดของระบบก็เป็นได้ ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI นี้ก็จะทำให้รูปแบบของการทำงานและสถานที่ทำงานในอนาคตเปลี่ยนไป โดย AI จะไม่ได้มาแทนมนุษย์ แต่จะมาช่วยให้มนุษย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในอนาคต การแข่งขันในตลาด Software และ Service โดยเฉพาะ ERP นั้นจะกลายเป็นการมุ่งเน้นไปที่เรื่องของ AI เป็นหลักว่า AI จะมาช่วยให้การทำงานหรือประสบการณ์ของผู้ใช้งานดีขึ้นได้อย่างไรแทน
3. Intelligent Things
สิ่งของต่างๆ ที่เคยเป็น Internet of Things (IoT) ในปัจจุบันจะวิวัฒนาการกลายไปเป็น Intelligent Things ที่ไม่ได้ทำงานตามคำสั่งของโค้ดที่ตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงการทำงานไปตาม AI ที่ใช้และข้อมูลที่ได้เรียนรู้แทน เช่น รถยนต์ไร้คนขับ, หุ่นยนต์, Drone และทำให้ขีดความสามารถของอุปกรณ์ต่างๆ สูงขึ้นอย่างชัดเจน
อุปกรณ์ที่ทำงานได้โดยอัตโนมัตินี้จะใช้แรงงานคนน้อยลง และในอีก 5 ปีถัดจากนี้ เราก็จะเห็นระบบที่ยังคงใช้มนุษย์ทำงานร่วมกับ AI เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่ในฉากหลังนั้นเหล่าผู้ผลิตนั้นต่างจะซุ่มพัฒนาระบบที่ไม่ต้องใช้คนเพื่อเตรียมแข่งขันกัน และประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากเทคโนโลยีอย่าเงช่นกฎหมายก็จะต้องถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับโลกแห่งอนาคตนี้
4. Digital Twin
ทรัพย์สินต่างๆ ในโลกจริงขององค์กรนั้นจะถูกสร้างข้อมูลขึ้นมากลายเป็นทรัพย์สินเสมือนในโลก Digital มากขึ้นเรื่อย เพื่อให้เหล่าองค์กรได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปทำการวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจได้ในแบบ Real-time และทำการตอบโต้ต่อทุกสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
Digital Twin จะช่วยให้การนำ AI มาใช้ผสานและการทำ Simulation มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น การวางแผนในภาพใหญ่นั้นจะสามารถเจาะลึกลงรายละเอียดได้ดีขึ้นในทุกๆ ธุรกิจ และส่งประโยชน์ต่อธุรกิจ องค์กร หรือประเทศชาติได้ในระยะยาว
5. Cloud to the Edge
Edge Computing จะกลายเป็นส่วนต่อขยายจากระบบ Cloud อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ด้วยการย้ายการประมวลผลไปใกล้แหล่งข้อมูลมากขึ้นก็ทำให้ Latency ต่ำลง, Bandwidth ที่ต้องใช้น้อยลง และการโต้ตอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ สามารถทำได้แบบกระจายตัว องค์กรจึงควรเริ่มออกแบบ Infrastructure ให้รองรับต่อสถาปัตยกรรมแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับองค์กรที่ต้องการใช้งาน IoT
ในอนาคต Edge Computing จะผสานรวมกับ Cloud อย่างแนบเนียนยิ่งขึ้นและแบ่งหน้าที่การทำงานกันได้เป็นอย่างดี โดย Cloud นั้นจะรับบทบาทของระบบแบบ Service-oriented Model ที่บริหารจัดการได้จากศูนย์กลาง และทำหน้าที่เป็นตัวประสานระหว่างระบบต่างๆ ในขณะที่ Edge Computing จะทำงานแบบ Delivery Style ที่ช่วยให้ระบบต่างๆ ซึ่งกระจายตัวอยู่นั้นทำงานได้ตามที่ Cloud สั่งการ
6. Conversational Platforms
Conversational Platforms จะเป็นสิ่งใหญ่ที่มาเปลี่ยนวิธีการใช้งานเทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูลของมนุษย์ในอนาคต การแปลภาษานั้นจะกลายเป็นงานของคอมพิวเตอร์แทนมนุษย์ โดยระบบต่างๆ จะรับคำถามหรือคำสั่งจากผู้ใช้งานโดยตรง และแปลงเป็นชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานโดยอัตโนมัติแทน โดยหากขาด Input ใดๆ ไประบบก็จะทำการถามกลับมายังมนุษย์ได้เอง ในอนาคตอันใกล้นี้ Gartner ทำนายเอาไว้ว่าระบบ Conversational Interface จะกลายเป็นช่องทางหลักที่ผู้ใช้งานเลือกใช้ และต้องมี Hardware เฉพาะ, ระบบปฏิบัติการเฉพาะ, Platform เฉพาะ ไปจนถึง Application เฉพาะมารองรับ
7. Immersive Experience
ท่ามกลางโลก Digital นี้ เทคโนโลยี Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR) และ Mixed Reality (MR) จะกลายมาเป็นช่องทางในการแสดงผลข้อมูลและเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ผู้คนรับรู้สิ่งต่างๆ ในโลกของ Digital แทน โดยปัจจุบันนี้เริ่มมี Application ที่หลากหลายมาให้เลือกใช้งานนอกเหนือจาก Application เพื่อความบันเทิงกันแล้ว และต่อไปเทคโนโลยี AR และ VR เหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นเทคโนโลยีที่พนักงานสามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสะท้อนความคุ้มค่าสู่องค์กรได้
ส่วน MR นั้นจะมาสร้างโลกที่ผสานระหว่างโลกเสมือนและโลกจริงเข้าด้วยกัน เป็นก้าวถัดไปจาก AR และ VR และทำให้การโต้ตอบกับโลก Digital และข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนแปลงต่อไปอีกในอนาคต
8. Blockchain
Blockchain จะเริ่มถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมธุรกิจอื่นๆ นอกจากภาคการเงินมากขึ้น และเกิด Application ที่หลากหลายรูปแบบขึ้นมา อย่างไรก็ดีถึงแม้ Blockchain นี้จะมาเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างแน่นอน แต่ก็อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีเพื่อให้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องนั้นมีความเข้มแข็งมั่นคงขึ้นมาเสียก่อน
9. Event Driven
Digital Business ในอนาคตนั้นจะเปลี่ยนแปลงการทำงานไปเป็นแบบ Event Driven ที่ธุรกิจจะตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการทำงานเป็นหลัก ด้วยการรับข้อมูลจากเทคโนโลยีที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น Event Broker, IoT, Cloud, Blockchain, In-memory Data Management และ AI ทำให้การตรวจพบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจสามารถทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และปรับตัวโต้ตอบตามได้เร็วยิ่งขึ้นตามไปด้วย
แต่การจะก้าวสู่การทำธุรกิจแบบ Event Driven ได้นี้ การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ และฝ่าย IT เองก็ต้องมีระบบที่เอื้อต่อธุรกิจให้รับมือกับการทำ Event Driven ให้ได้ด้วย
10. Continuous Adaptive Risk and Trust
ประเด็นด้าน Security เองก็ยังสำคัญ และเหล่าองค์กรเองก็ต้องนำหลักการของ Continuous Adaptive Risk and Trust Assessment (CARTA) ไปใช้เพื่อรับมือและโต้ตอบกับภัยคุยคามและการโจมตีรูปแบบต่างๆ ให้ได้ในแบบ Real-time มากยิ่งขึ้น โดย Security Infrastructure นั้นจะต้องเอื้อให้เกิดการปรับตัวได้ในทุกๆ สถานการณ์ และเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วตามภาคธุรกิจให้ทัน
องค์นั้นต้องหลอมรวมทีมพัฒนา Application และทีม Security เข้าด้วยกันให้ได้ เพื่อก้าวจากการทำ DevOps ในปัจจุบันไปสู่การทำ DevSecOps ตามหลักของว CARTA ในขณะที่เทคโนโลยี Virtualization และ SDN นั้นก็จะส่งผลให้การสร้างระบบ Adaptive Honeypots เป็นจริงขึ้นมาได้ง่าย และกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอัีนหนึ่งในการตรวจจับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นภายในระบบเครือข่ายขององค์กร
Credit: Gartner , ShutterStock , Techtalkthai