BIT

พระอัจฉริยภาพด้านเทคโนโลยีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ตอน 3)

การถ่ายภาพ

      เช่นเดียวกับภาพที่ชินตาของพสกนิกร ยามเมื่อเสด็จไปในที่ต่างๆ มักเห็นภาพของพระองค์มีกล้องข้างพระวรกายอยู่เสมอ ท่านทรงมีความสนใจในศิลปะด้านการถ่ายภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ข้อมูลระบุว่า การโปรดการถ่ายภาพทรงได้ต้นแบบมาจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทรงพกกล้องถ่ายภาพ และมีอิริยาบถของนักถ่ายภาพ ไม่ว่าจะไปยังที่ใด ทุรกันดารแค่ไหน พระองค์มีกล้องข้างพระวรกายอยู่เสมอ ท่านทรงใช้ในการบันทึกภาพทั้งบุคคล และสภาพภูมิประเทศ เพื่อใช้ประกอบการแก้ปัญหาในพระราชกรณียกิจ

พระราชทานนามดาวเทียมดวงแรก

      ดาวเทียมไทยคม นับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติดวงแรกอย่างเป็นทางการว่า ”ไทยคม” (“THAICOM”) มาจากคำว่า Thai Communications หรือ ไทยคมนาคม เพื่อเป็นสัญญลักษณ์การเชื่อมโยงประเทศไทยกับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ดาวเทียมได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการสนองพระราชดำริ เรื่องของการศึกษา

      โดยนายขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหิน ได้นำดาวเทียมไทยคม เข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าว เป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัย สนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา

      กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริ ให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร

พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

      ปี 2543 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบถวายการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2543 พร้อมกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงนำความรู้ทางสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกสาขาวิชามาใช้ในการพัฒนา ทุกแขนง ทุกโครงการที่มีพระราชดำริและประทานแก่ประชาชน ล้วนมีวิธีดำเนินการได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซ้ำซ้อน สอดคล้องระบบนิเวศโดยรวมของธรรมชาติ และสภาพสังคมของชุมชนนั้นๆ

      ไม่ทรงปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศ แต่ทรงเน้นว่าจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงใช้ได้ดีพอ เหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศ วิทยาการด้านเทคโนโลยีที่ทรงนำมาใช้ในการพัฒนานั้นมีหลายด้าน เช่น การเกษตร การบริหารจัดการน้ำ ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยุสื่อสาร ดาวเทียม และคอมพิวเตอร์มาใช้ดำเนินงาน ช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง เพิ่มปริมาณน้ำฝนให้แก่อ่างและเขื่อน เก็บกักน้ำเพื่อการชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้า

Credit : ทรูปลูกปัญญา , กรุงเทพธุรกิจ