วารสารอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร……. ??

ความหมายของวารสารอิเล็กทรอนิกส์

วารสารอิเล็กทรอนิกส์  หมายถึง  วารสารรูปแบบใหม่ที่มีการจัดเก็บบันทึก  และพิมพ์เผยแพร่สารนิเทศทางวิชาการไว้ในรูปแฟ้มคอมพิวเตอร์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีกำหนดออกแน่นอน  สม่ำเสมอ  โดยสามารถเข้าถึง  สืบค้นข้อมูล  และสั่งซื้อหรือบอกรับเป็นสมาชิกได้จากฐานข้อมูลซีดี-รอม  ฐานข้อมูลออนไลน์  และเครือข่ายคอมพิวเตอร์

ความสำคัญของวารสารอิเล็กทรอนิกส์

  1. วารสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นแหล่งรวบรวมสารสนเทศทุกแขนงที่ทันสมัย และมีความสำคัญต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัย ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตามความรู้ ข่าวสารใหม่ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ได้จากทั้งที่บ้านและที่ทำงาน โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่
  2. ผู้ผลิตวารสารสามารถรวบรวม จัดพิมพ์วารสารในเวลาอันรวดเร็ว ช่วยประหยัดงบประมาณ การพิมพ์ ประหยัดกระดาษ และคำนึงถึงผู้อ่านมากขึ้น
  3. การบอกรับเป็นสมาชิกวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของห้องสมุด ช่วยประหยัดเวลา งบประมาณและการจัดเก็บ เพราะห้องสมุดไม่ต้องเสียพื้นที่จัดเก็บ บำรุงรักษาและนำขึ้นชั้น
  4. เพิ่มบทบาทในการรับรองคุณภาพผลงานทางวิชาการ (Certification) โดยบรรณาธิการ คณะกรรมการในการอ่านและพิจารณาความมีคุณค่าทางวิชาการของบทความ (Peer Review)
  5. บทบาทในการประชาสัมพันธ์ (Markerting) โดยทำหน้าที่ในการเผยแพร่ เนื้อหาสาระทางวิชาการ ซึ่งวารสารที่มีชื่อเสียงช่วยทำให้บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น
  6. บทบาทอื่นๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเวลาในการสื่อสารข้อมูลทางวิชาการ ขยายขอบเขตของการสื่อสารทางวิชาการ และช่วยให้นักวิชาการสามารถสร้างฐานข้อมูลที่มีพลังและความยืดหยุ่นมากขึ้น ตลอดจนเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซอฟต์แวร์มัลติมีเดียต่างๆ อีกด้วย

ข้อดีของวารสารอิเล็กทรอนิกส์

  1. ผู้ใช้สามารถติดตามอ่านวารสารได้อย่างรวดเร็ว ทันทีที่วารสารมีการจัดพิมพ์ เนื่องจากสำนักพิมพ์จัดพิมพ์แบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้เผยแพร่สู่ผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว
  2. ผู้อ่านสามารถเข้าถึงวารสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยไม่จำกัดเวลา โอกาส และ สถานที่
  3. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเย็บเล่มวารสาร การเสียแรงงานบุคลากรในการเตรียมวารสารก่อนส่งเย็บเล่มและหลังการเย็บเล่ม
  4. ช่วยแก้ปัญหาการได้รับวารสารไม่ครบ วารสารถูกฉีกขาด
  5. ช่วยแก้ปัญหาสถานที่เก็บ ไม่มีปัญหาการเพิ่มน้ำหนักพื้นที่ของห้องสมุด

รูปแบบของวารสารอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็น  3  รูปแบบ  คือ

  1. วารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปของฐานข้อมูลระบบออนไลน์ (Online Based Electronic Journal) เป็นวารสารเนื้อหาฉบับเต็มที่สามารถสืบค้นข้อมูลด้วยระบบออนไลน์จากฐานข้อมูลพาณิชย์ โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ผลิตหรือแหล่งผลิตได้ด้วยการเชื่อมตรง (On-line)
  2. วารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปฐานข้อมูลซีดี-รอมฉบับเต็ม  (CD-ROM  Electronic)  เป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บ  บันทึกข้อมูลในรูปดิจิตอล  จัดเป็นสื่อประเภทออปติคอล  (Optical  media)  ที่ใช้แสงเลเซอร์ในการอ่านและบันทึกข้อมูล  ซีดี-รอมเป็นสื่อบันทึกข้อมูลชนิดสื่อผสมหรือมัลติมีเดีย  (Multimedia)  ที่ใช้บันทึกข้อมูลได้ทั้งตัวอักษร  ตัวเลข  ข้อความ  ภาพ  สัญลักษณ์  และเสียง
  3.  วารสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบเครือข่าย  (Network  Electronic  Journals)  เป็นวารสารในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ฉบับเต็มที่เผยแพร่  และให้บริการในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ปัจจุบันวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่พบในระบบเครือข่าย  แบ่งเป็น  2  ประเภท  คือ3.1  วารสารที่มีการเสนอเนื้อหาในลักษณะบทความ3.2 วารสารที่มีการเสนอเนื้อหาในลักษณะจดหมายข่าว

 

**** ปัจจุบันจำนวนวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เผยแพร่ในระบบเครือข่ายทางวิชาการ  มีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ข้อมูล  ที่ครอบคลุมสารสนเทศสาขาต่าง ๆ มากมาย  ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยการสืบค้นผ่านระบบ  OPAC  ของห้องสมุด  หรือแหล่งบริการสารสนเทศต่าง ๆ ซึ่งผู้ใช้อาจใช้บริการอินเทอร์เน็ต  บริการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์  และเวิล์ด  ไวด์  เว็บ  ตลอดจนบริการจดหมายข่าวที่ให้บริการจากศูนย์จดหมายข่าว  เช่น  ListServ,Usenet  และ  Bitnet  เป็นต้น  โดยผู้สนใจสามารถโอนย้ายข้อมูล  (Download)  เหล่านั้นจากสำนักพิมพ์  ผู้ผลิต  หรือจากระบบเครือข่ายได้โดยตรง  นอกจากนั้น  ห้องสมุดก็สามารถทำดรรชนีวารสาร  หรือรวบรวมรายชื่อวารสารอิเล็กทรอนิกส์  หรือเว็บไซด์  (Website)  ต่าง ๆ เพื่อให้บริการผู้ใช้ต่อไป

ข้อจำกัดของวารสารอิเล็กทรอนิกส์

  1. การใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางด้านคอมพิวเตอร์
  2. การใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ผู้ใช้ต้องมีพื้นฐานและทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ ตลอดจนรู้เทคนิคในการสืบค้น
  3. วารสารอิเล็กทรอนิกส์ยังประสบปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในการใช้ เช่น เมื่อผู้ใช้ต้องการทำสำเนาหรือสั่งพิมพ์ผลข้อมูลเป็นจำนวนมากๆ หรือดาวน์โหลดข้อมูลด้วยโปรแกรมจะถูกแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์ จากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งสถาบันที่บอกรับฐานข้อมูลอาจได้รับผลกระทบคือจะถูกระงับการเข้าใช้ฐานข้อมูลชั่วคราว และปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์อีกประการหนึ่งคือ ทั้งสำนักพิมพ์และผู้เขียนต่างไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานทางลิขสิทธิ์ เนื่องจากการเข้าใช้ฐานข้อมูล  ผู้ใช้สามารถบันทึกหรือพิมพ์ผลข้อมูลได้ ซึ่งจำนวนสำเนาที่บันทึกหรือพิมพ์ผลไป อาจนำไปจำหน่ายต่อไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้
  4. การเขียนบทความลงในวารสารอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีขั้นตอนที่ต้องเรียนรู้และยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
  5. ผู้อ่านส่วนใหญ่คุ้นเคยกับลักษณะทางกายภาพของวารสารฉบับพิมพ์ ที่สามารถจับต้องได้กำหนดที่จัดเก็บได้ มากกว่าวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเรียกใช้จากเครื่องคอมพิวเตอร์
  6. การให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์ อาจเกิดความล้มเหลวของระบบ (System failure) หรือปัญหาขัดข้องทางด้านเทคนิค เช่น ระบบเครือข่ายขัดข้อง ปัญหาฐานข้อมูลขัดข้อง ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถค้นข้อมูลได้ในเวลาที่ต้องการ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/generality/10000-12235.html

(สืบค้นข้อมูล ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2560)

*** หากผู้ใช้บริการท่านใดอยากได้วารสารที่บอกรับเป็นตัวเล่มทางห้องสมุดเรามีให้บริการมากกว่า 1,300 รายชื่อ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าชั้น 3 สำนักหอสมุด คุณนำ้ใจ โทร.053-873506 , คุณจิณาภา โทร 053-873505 หรือ Facebook: MJU Library ได้ตลอดเวลาค่ะ