Ghost in the Shell: จิตวิญญาณสีเหลืองในเครื่องจักรกลสีขาว
Year 2017
Running Time 107 minutes
Directed by Rupert Sanders
Cast: Scarlett Johansson, Pilou Asbæk, Takeshi Kitano
“I don’t think of her as a machine. She’s a weapon, and the future of my company.”
ถึงแม้นี่จะปี 2017 แล้ว แต่ Hollywood ยังคงโดนกล่าวหาประเด็น whitewashing อยู่ และเหมือนจะถี่ขึ้นกว่าแต่ก่อนเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้ที่ Hollywood ชอบหยิบยื่นการ์ตูน ทั้งมังงะหรืออะนิเมะ จากฝั่งเอเชียตะวันออกมา remake หรือ reboot ใหม่
whitewashing พูดง่าย ๆ คือการเอา white actors เช่น อเมริกันหรือยุโรป มาเล่นเป็น non-white characters เช่น เอเชีย ยกตัวอย่างจากหนังที่เพิ่งเข้าฉายไม่นานมานี้ เราได้พบ whitewashing ในหนังเรื่อง Exodus, Doctor Strange, The Great Wall ฯลฯ
และล่าสุดก็เรื่องนี้เลย Ghost in the Shell ที่เอา Scarlett Johansson (จาก Avengers, Lost in Translation ฯลฯ) มาเล่นเป็นเครื่องจักรสังหาร…ตัวละครนำที่ต้นฉบับของ Mamoru Oshii (ปี 1995) เป็นผู้หญิงญี่ปุ่น มิหนำซ้ำตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องเกือบทั้งหมดก็เป็นคนขาว มีคนญี่ปุ่นจริง ๆ น้อยแบบนับคนได้
เรื่องโดยย่อคือ Scarlett Johansson เป็น Mira ไซบอร์กครึ่งคนครึ่งมนุษย์รุ่นแรก ปรับแต่งโดย Dr. Ouelet (Juliette Binoche) โดย CEO Cutter (Peter Ferdinando) แห่งบริษัท Hanka โปรแกรมหรือล้างสมอง (brainwashing) ให้กำจัดผู้ก่อการร้าย Kuze (Michael Pitt) และส่งเธอไปประจำเป็น Major ของหน่วย 9 ของ Aramaki (‘Beat’ Takeshi Kitano) มี Batou (Pilou Asbæk) เป็นคู่หู
โดยส่วนตัวเราไม่คิดมากกับการ whitewashing ในภาพยนตร์เท่าไหร่ ถ้านั่นจะเป็นการที่ทำให้หนังขาย worldwide ได้เม็ดเงินที่มากขึ้น และตราบใดนักแสดงคนนั้นสามารถถ่ายทอดความเป็นตัวละครตัวนั้นได้ดี เราว่าเปลือกภายนอกเขาจะเป็นคนสีผิวอะไรหรือดวงตาสีอะไรนั่นก็ไม่สลักสำคัญ
สิ่งที่เรา concern มากกว่าคือ เอาต้นฉบับของเขามาทำใหม่แล้ว จะรักษาคุณภาพเขาได้มั้ย จะมีประเด็นอะไรน่าสนใจที่ตีความใหม่หรือมีการต่อยอดเพิ่มเติมจากของเดิมเขาให้คนดูได้เสพกันบ้าง อะไรประมาณนั้น แต่สำหรับ Ghost in the Shell นี้ เราอาจเปรียบเปรยกับต้นฉบับเก่าไม่ได้ เพราะเราไม่เคยดูหรือรู้จักมาก่อนแม้แต่น้อย
แต่ในฐานะของคนดูที่ไม่เคยดู Ghost in the Shell เวอร์ชั่นใดใดมาก่อนเลย แล้วต้องมาดู Ghost in the Shell เวอร์ชั่น 2017 นี้ เราก็สัมผัสได้นะว่าจริง ๆ หนังมันก็ดูเหมือนจะมีประเด็นลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์และอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลอยู่ แต่เราก็ต้องบอกว่า เราสัมผัสได้อย่างผิวเผินมาก ๆ หนังไม่ได้พาเราไปสำรวจจิตใจมนุษย์อย่างดำดิ่งลงไปลึกแต่ใดใด หากให้มองในแง่ดีคือ มันก็แมส ย่อยง่าย ดูง่าย คนดูทั่วไปตามทัน ไม่งง (ถ้าเอาแบบดีพ ๆ เลย ขอแนะนำ Ex Machina ที่ Alicia Vikander เป็นหุ่น AI)
นอกเหนือจากเนื้อหาหรือแก่นสารที่บางเบาของเรื่องนั้น การเล่าเรื่องก็ไม่ได้ซับซ้อนหรือมีชั้นเชิงอะไร หนังไม่ได้ชวนติดตามเลยว่า ตัวตนที่แท้จริงของนางเอกคือใคร มาอยู่กับบริษัท Hanka ได้อย่างไร ตรงกันข้าม การเล่าเรื่องกลับทำให้หนังที่ดูไม่มีอะไรอยู่แล้วกลายเป็นหนังที่เดาจุดสำคัญของเรื่องได้ง่ายยิ่งขึ้น เรื่องซีนบู๊ซีนแอ็คชั่นก็คงใช้เป็นจุดขายได้ยาก เพราะมีไม่มากไม่มาย แต่ยังดีที่เท่าที่มีคือภาพสวย
จะว่าไปสิ่งที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้เหมือนมีแค่งาน Visual Effect และเรือนร่างของ Scarlett Johansson ก็เท่านั้น คือชอบนะที่งาน Visual สวยล้ำตระการตา โปรดักชั่นดูแพง ดูล้ำ ดูเป็นโลกอนาคตเหนือจินตนาการ ทั้งการดีไซน์บ้านเมือง สถาปัตยกรรม เมคอัพคอสตูม และสิ่งใดใดที่ทำให้คนดูรู้สึกว่า ประชากรของโลกอนาคตอันใกล้นี้ช่างห่างไกลจากความเป็นคนเข้าไปทุกที จนแยกแทบไม่ออกว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม แต่ก็ชอบแค่นั้นจริง ๆ
ถ้า Ghost in the Shell หมายถึงนางเอกที่เป็นหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์หรือเครื่องจักรเครื่องกลที่มีจิตวิญญาณหรือความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์อยู่ข้างใน โดย ‘Ghost’ = จิตวิญญาณหรือความรู้สึกนึกคิด และ ‘Shell’ = เปลือกนอก เช่นร่างของหุ่นยนต์ ก็คงพูดได้ว่า หนังเรื่องนี้คงแฮ็คเอา ‘Ghost’ จากต้นฉบับมาน้อยนิดมาก ๆ ยังขยี้ความเป็นมนุษย์ได้ไม่สุด เพราะมัวแต่ไปสนใจกับภาพลักษณ์ภายนอกหรือ ‘Shell’ ของหนัง เช่นงานโปรดักชั่นดีไซน์หรือวิชวลอย่างเดียว ช่างน่าเสียดาย
cr : kwanmanie.com