เนื่องในวันที่ 19 กันยายนของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมิวเซียมหลวงขึ้นที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก และเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2417 เพื่อปลูกฝังให้คนไทยรักและหวงแหนในศิลปะและวัฒนธรรมไทย วันนี้จึงอยากชวนผู้อ่านย้อนถึงประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์กัน
ภาพในความทรงจำพิพิธภัณฑ์โดยทั่วไปแล้ว ก็จะมีแต่ห้องมืด แล้วก็นิ่ง แล้วก็เงียบ แล้วก็จะมีวัตถุ สิ่งของต่างๆ อยู่ในตู้กระจก พร้อมป้ายคำอธิบาย เพราะพิพิธภัณฑ์ แปลว่า สิ่งต่างๆมากมายที่จัดแสดงอยู่ และหากพูดถึงคำว่า มิวเซียมที่เป็นพิพิธภัณฑสถาน ก็จะหมายถึง สถานที่ที่มีพันธะต่างๆมากมาย คือมีสิ่งของต่างๆมากมายจัดแสดง แต่ทีนี้คำว่า มิวเซียมในภาษาอังกฤษ มาจากคำว่า Muse ซึ่งแปลว่า A source of inspiration. และอีกความหมายหนึ่งคือหมายถึง เทพีทั้งเก้า* ของกรีกที่ว่าเป็นเทพีที่เกี่ยวเนื่องกับทางด้านศิลปะวิทยาการ อย่างคำว่า Music ในภาษาอังกฤษ ก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า Muse ด้วยเช่นกัน ก็ประกอบกันมาเป็นคำว่า มิวเซียม
*“สถานที่สิงสถิตของหมู่เทพธิดามูซา” คณะเทวีนี้มีอยู่ด้วยกัน 9 องค์ทั้งหมดล้วนเป็นพระธิดาของเทพเจ้าเซอุส ราชาแห่งเทพทั้งมวล กับเทวีเนโมซีเน เทวีแห่งความทรงเจ้า กล่าวกันว่าหมู่เทพธิดามูซาเป็นตัวแทนของดนตรี บทเพลง และ นาฏศิลป์ โดยมีอำนาจดลใจให้กวีสามารถแต่งกวีนิพนธ์ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงถือกันว่าหมู่เทพธิดามูซาเป็นผู้อุปถัมภ์เหล่านักปราชญ์และกวีให้สามารถแต่งตำราและบทประพันธ์ต่าง ๆ ขึ้นมาได้ และเป็นเหล่าเทพแห่งสรรพวิชาด้วยเช่นกัน
ทีนี้ มิวเซียมที่มาจากรากศัพท์คำว่า Muse ที่แปลว่าแหล่งสร้างแรงบันดาลใจ มันไม่มีร่องรอยของความหมายนี้อยู่เลยในภาษาไทยคำว่าพิพิธภัณฑ์ มากไปกว่านั้นคำว่าพิพิธภัณฑ์ เป็นคำที่สะกดค่อนข้างยาก ซึ่งมักเขียนผิดอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน ความโอ่อ่าหรูหรา ของพยัญชนะที่อยู่ในคำว่า พิพิธภัณฑ์ มันช่างขัดแย้งกับความหมายหรือว่าคำแปลของคำว่าพิพิธภัณฑ์ซะเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นพยัญชนะ ธ ภ ณ ฑ แถมด้วยตัวการันต์ แต่ทว่าแปลออกมาแล้วเหลือเพียง สถานที่เก็บสิ่งของต่างๆ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจว่าความประทับใจต่อพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้แรงบันดาลใจอะไรออกมาเลย
รวมถึงคำว่า ภัณฑารักษ์ ซึ่งตรงกับคำว่า Curator ในภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน ซึ่งภาษาไทยแปลว่า ผู้รักษาสิ่งของ เลยทำให้นึกได้ว่า ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่เฝ้ายามสิ่งของเท่านั้นหรือ ในขณะที่คำว่า Curator หรือ curate ในภาษาอังกฤษแปลว่า a keeper or custodian of a museum or other collection. ซึ่งไม่ได้มีความหมายแต่พียงเป็นผู้รักษาสิ่งของเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ ที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์นั้นมีชีวิต แล้วเป็นผู้เล่าเรื่อง เป็นผู้วางพล็อตเรื่องของสถานที่ที่จะเป็นแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งที่เรียกว่า มิวเซียม
ที่มาของสิ่งที่เรียกว่ามิวเซียมหรือพิพิธภัณฑ์ ในที่นี้ ในรายการที่ผู้เขียนได้ฟังและศึกษามานั้นจะไม่ได้นำที่มาของพิพิธภัณฑ์ของทั้งโลก หรือเฉพาะของประเทศไทย แต่จะนำเสนอที่มาของพิพิธภัณฑ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยนัยยะของความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันมีผลต่อที่มาของคำว่าพิพิธภัณฑ์อย่างไร
ข้อมูลที่มาเหล่านี้ เก็บความจากหนังสือ “ชุมชนจินตกรรม” โดยเบนนเนดิกส์ เอดิสัน ในหนังสือเล่มนี้ก็พูดถึงการเขียนชีวประวัติของชาติ หนึ่งในองค์ประกอบของการสร้างชีวประวัติของชาติ คือเป็นการก่อร่าง ทำร่างกายของชาติให้ปรากฏ นอกจากการสัมโนประชากร การทำแผนที่แล้ว ก็ต้องมีการสร้างความทรงจำ นอกจากเขียนประวัติศาสตร์แล้ว ก็จะต้องทำพิพิธภัณฑ์ ดังที่กล่าวมา นั่นคือกำเนิดและหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์
ดังนั้นต้นกำเนิดของพิพิธภัณฑ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่าวิชาโบราณคดี การอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นองค์ความรู้ที่มาพร้อมกับสำนึกของโลกสมัยใหม่ หลังการก่อตัวของโลกในศตวรรษที่ 19 เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการสร้างชีวประวัติของชาติ
ในเอเชียตะวันออกฉียงใต้มีนัยยะที่สำคัญ ซึ่งในฐานะเป็นประเทศที่เป็นอาณานิคม ในกรณีของดินแดนที่สำนึกของความเป็นชาติกำเนิดขึ้นหลังกำเนิดของชาติของเมืองแม่ซึ่งก็คือประเทศเจ้าอาณานิคม (ยุโรปมีสำนึกว่าด้วยความเป็นชาติก่อนชาติเอเชีย แล้วด้วยสำนึกของความเป็นชาติ ก็มีการล่าอาณานิคมและการสร้างชาติในยุโรปก็ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ก่อนที่ชาติทางเอเชียจะมีสำนึกของความเป็นชาติ เช่นกรณีของสยาม เรายังไม่เคยคิดที่จะทำแผนที่ เราก็จำเป็นที่จะต้องรู้สึกว่าจะต้องทำแผนที่เมื่อชาติอาณานิคมต่างๆ เกิดคำถามว่า “ดินแดนของอาณาจักรของคุณไปจบที่ไหน” เราจะได้แบ่งเขตกันถูก เราซึ่งไม่เคยมีสำนึกเรื่องดินแดนในฐานะที่เป็นอธิไตยของชาติ เพราะเราเน้นที่กำลังคน เราไม่เน้นที่เขตแดน การปะทะกันขององค์ความรู้แบบนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า ดินแดนแถบนี้ยังไม่มีสำนึกเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่
น่าสนใจว่าเมืองแม่(ตะวันตก) รู้จักสิ่งที่เรียกว่าชาติแล้วก็นำเอาวิชาความรู้ที่เทคโนโลยี ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการเขียนชีวประวัติของชาติ มามอบให้กับบรรดาเมืองขึ้นทั้งหลาย เช่น เทคโนโลยีในการทำแผนที่ แล้วในที่สุดมันได้ช่วยก่อรูปสำนึกของชาติ ของเมืองขึ้น เช่น สยาม ชวา แล้วก็ปรากฏว่า ดินแดนใน แถบนี้เกิดจะมีสำนึกเรื่องชาติขึ้นมาเพราะรู้จักแผนที่แล้ว ท้ายที่สุดสำนึกเรื่องชาตินั้นเองได้กลับไปเป็นเครื่องมือในการปลดแอกตัวเองออกจากเจ้าอาณานิคม
คนที่นำความรู้เหล่านี้มาสู่เมืองขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นความรู้เกี่ยวกับวิชาโบราณคดี การอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์โบราณสถาน ก็คือ ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษ โธมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Thomas Stamford Raffles) ซึ่งเป็นผู้ปกครองอาณานิคมคนแรกที่แสดงความโดดเด่นในด้านนี้ สะสมศิลปวัตถุ (odjets d’art) จำนวนมาก และทำการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ จากนั้นกองโบราณคดีของอาณานิคม (เพราะว่าเจ้าอาณานิคมเป็นเหมือนรัฐบาลอยู่ในสมัยนั้น ในรัฐบาลก็จะมีหน่วย มีกองต่างๆ) ช่วงนี้เองกองโบราณคดีของอาณานิคม เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลที่มีความสำคัญมาก สะท้อนให้เห็นว่าดินแดนอาณานิคมเริ่มถูกผนวกเข้ากับรัฐของเจ้าอาณานิคม คือเจ้าอาณานิคมจะรู้สึกว่ารัฐที่เป็นเมืองขึ้นเป็นเหมือนจังหวัดหนึ่งของตนเอง เพราะฉะนั้นเกียรติภูมิของอาณานิคมก็จะย่อมเป็นเกียรติยศของเมืองแม่ที่เป็นเจ้าอาณานิคมด้วยเช่นกัน
เหตุผลที่รัฐเจ้าอาณานิคมให้ความสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้วก็การฟื้นฟูบูรณะของโบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมามีเหตุผลที่น่าสนใจ 3 ประการ
ประการแรก คือการบูรณะโบราณสถาน การตีพิมพ์วรรณคดีจารีต พวกนี้จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาจากกองโบราณคดี ข้าราชการของเมืองแม่ (เจ้าอาณานิคม) ของไทยเองในรัชกาลที่ 6 ก็มีการตั้งวรรณคดีสโมสร แล้วมีการให้รางวัล มีการนำเอาพงศาวดาร ขึ้นมา เรียกกันในนามว่าเป็นการนำมาอนุรักษ์วรรณคดีของชาติ ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะบรรดาปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่เป็นคนท้องถิ่น เริ่มมีสำนึกว่าทำไมตนเองจึงต้องตกอยู่ในใต้การปกครองของเมืองแม่ เริ่มมีการวิจารณ์รัฐบาลที่เป็นเจ้าอาณานิคมว่า มีการกดขี่คนพื้นเมืองหรือเปล่า? ปิดการคนพื้นเมืองที่มีโอกาสจะได้รับการศึกษาหรือเปล่า? ยังไม่ใช่การเรียกร้องเอกราช ฉะนั้นแล้วการทำงานของสิ่งต่างๆเหล่านี้ จึงใช้เป็นข้ออ้างของเจ้าอาณานิคมในการลดแรงเสียดทานของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าของผู้อยู่ใต้อาณานิคม
ประการที่สอง อุดมการณ์เบื้องหลังความรู้ทางโบราณคดี มักจะยกให้เจ้าของโบราณสถานนั้นเป็นของคนที่อยู่มาก่อน คนมักจะคิดว่าความรู้คือสัจจะ คือความจริง แต่จริงๆแล้ว การสร้างความรู้ มันมีการเก็บบางอย่างไว้ การคัดบางอย่างออก และการจะเก็บอะไรไว้และคัดอะไรออกขึ้นอยู่กับวาระทางการเมืองที่อยู่ข้างใน หรือผู้มีอำนาจในการที่จะคัดสรรเรื่องที่จะเก็บไว้ เพราะฉะนั้น คนพื้นเมือง ไม่ได้เป็นเจ้าของโบราณสถาน หรือสมบัติอันอลังการโอ่อ่านั้น ก็จะมีการสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่ว่า ผู้สร้างโบราณสถานนั้นจะเป็นพราหมณ์ หรือเป็นกษัตริย์มาจกอินเดีย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้เกิดภาพเปรียบเทียบระหว่างโบราณสถานที่ถูกปฏิสังขรณ์ขึ้นมา ก็จะเป็นภาพที่ขัดแย้งกับความยากจน ความล้าหลังของคนพื้นเมือง การกระทำแบบนี้เท่ากับเป็นการเตือนสติของคนพื้นเมืองว่า พวกเจ้าเนี่ยหมดยุคความยิ่งใหญ่แล้ว หมดความสามารถในการปกครองตนเองไปนานแล้ว และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป
ประการสุดท้าย ชาวยุโรปที่มาเป็นเจ้าอาณานิคนก็จะผูกโยงตนเองเข้ากับโบราณสถานนั้นได้อย่างไร? ผนวกกับหน้าที่ของโบราณสถานในฐานะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างไร? คือปรากฏว่าพอบูรณะโบราณสถานขึ้นมา จากศาสนสถานก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว คำตอบก็คือว่า รัฐเจ้าอาณานิคมจะแสดงตนเป็นผู้พิทักษ์จารีตประเพณีของท้องถิ่น โบราณสถานที่ได้รับการบูรณะจึงมักจะถูกล้อมรอบด้วยสนามหญ้า มีแผ่นจารึกคำอธิบาย ซึ่งอันนี้มันจะสะท้อนการฟื้นฟู ความรุ่งโรจน์ด้วยน้ำมือของรัฐและเป็นอาภรณ์ประดับร่างกายของรัฐที่มีหน้าที่ในการฟื้นฟูซากเหล่านั้นขึ้นมา สนามหญ้าในโบราณสถานคือประจักษ์พยานของการคงอยู่ตรงนั้นของอำนาจรัฐว่าคือผู้พิทักษ์โบราณสถานตรงนี้ คือผู้ปกป้องจารีตประเพณีอันนี้เอาไว้
ที่มา
- รายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2555 ตอน ความหมายและหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์
- ชุมชนจินตกรรม : บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม = Imagined communities: reflections on the origin and spread of nationalism โดย เบน แอนเดอร์สัน
- The Standard
ภาพจาก
- Pixel.com
- Pixabay.com