ความสุขทางปัญญาจากความเมตตากรุณาต่อตนเอง

ชื่อบทความเรื่อง : ความสุขทางปัญญาจากความเมตตากรุณาต่อตนเอง :
Wisdom of Happiness through Self-Compassion

ผู้เขียน : ภัทรพงษ์ ธำมรงค์ปรีชาชัย

ชื่อวารสาร : วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2564 หน้า 224-237

บรรณานุกรม : ภัทรพงษ์ ธำมรงค์ปรีชาชัย. (2564). ความสุขทางปัญญาจากความเมตตากรุณาต่อตนเอง. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. 9(2), 224-237.

 

     ในปัจจุบัน  ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตของมนุษย์มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น  ทำให้คนส่วนใหญ่พึ่งพาและยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น โดยนำมาตัดสินความสุขและความสำเร็จของชีวิตจากวัตถุ  ซึ่งความสุขทางวัตถุนั้นเป็นความสุขที่อาศัยปัจจัยภายนอก เช่น ใครเมื่อมีความต้องการในสิ่งใดและได้สิ่งนั้นเขาก็จะมีความสุข แต่หากเขาไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็จะทำให้เขาเป็นทุกข์ จึงกล่าวได้ว่าความสุขทางวัตถุเป็นความสุขที่ไม่มั่นคง ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ความสุขทางปัญญา เป็นความสุขที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง  เป็นคุณสมบัติภายในที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก  หรือไม่ต้องพึ่งพาวัตถุต่าง ๆ ความสุขทางปัญญาเป็นความสุขที่เกิดจากการที่บุคคลมีความเข้าใจในชีวิตอย่างลึกซึ้ง มีการยอมรับทั้งด้านบวกและด้านลบของธรรมชาติ รวมถึงเข้าใจขีดจำกัดและความไม่แน่นอนของชีวิต

     ความเมตตากรุณาต่อตนเองเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดความสุขทางปัญญา  ตามความหมายของความเมตตากรุณาต่อตนเองซึ่งเป็นการรับรู้ที่ก่อให้เกิดความปรารถนาที่จะบรรเทาความทุกข์ด้วยความเข้าใจและยอมรับความทุกข์ที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ดังนี้

           (1) การมีเมตตาต่อตนเอง (Self-kindness) คือ การที่บุคคลสามารถให้อภัยต่อความล้มเหลวและข้อบกพร่องต่าง ๆ ของตนเอง กระทำได้โดยการที่บุคคลมีความเข้าใจและยอมรับตนเองตามความเป็นจริง

          (2) ความเป็นมนุษย์ปุถุชน (Common humanity) คือ การที่บุคคลมีมุมมองความคิดความเข้าใจว่า มนุษย์เกิดมาต้องประสบพบเจอทั้งความสุขและความทุกข์เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทุกคนบนโลกต้องประสบ ไม่มีใครสุขตลอดเวลา และไม่มีใครทุกข์ทรมานตลอดเวลา กระทำได้โดยการที่บุคคลมีการยอมรับอย่างไม่หลีกหนีเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งการยอมรับไม่ใช่การยอมแพ้ต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น แต่เป็นการยอมรับว่าความทุกข์ ความเจ็บปวด ความล้มเหลวเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมนุษย์

          (3) การมีสติ (Mindfulness) คือ การที่บุคคลรับรู้ความคิดความรู้สึกอย่างเป็นปัจจุบันขณะสามารถควบคุมอารมณ์และการแสดงออกให้เป็นปกติ  กระทำได้โดยการที่บุคคลมีสติอยู่กับปัจจุบันเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ หากนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้อย่างเหมาะสมย่อมสามารถก่อให้เกิดความสุขทางปัญญากับผู้ปฏิบัติและบุคคลแวดล้อม

ความสุขทางปัญญา  คือ  ความรู้เท่าทันตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น  เมื่อบุคคลต้องประสบกับอารมณ์ทางบวกหรืออารมณ์ทางลบจะไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์เหล่านั้น  โดยบุคคลจะมีมุมมองความคิดว่าสิ่งต่าง  ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ  (เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป) 

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : 
https://www.tci-thaijo.org
https://www.thaihealth.or.th/Content/26389-ชวนคนไทยสร้างอารมณ์ดีมีความสุข.html

สนใจอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://maejo.link?L=hg4L
สนใจดูบทความอื่นๆในวารสาร :
https://so03.tci-thaijo.org/index.php/liberalartsjournal


หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ :

เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510 ; 053-873511

Facebook MJU Library