ชื่อบทความเรื่อง : ไก่ดำภูพาน (3D) สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ พลิกชีวิต สร้างรายได้
ผู้เขียน : กรกช เรืองศรี
ชื่อวารสาร : เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 34, ฉบับที่ 762 วันที่ 1 มีนาคม 2565
บรรณานุกรม :
กรกช เรืองศรี. (2565). ไก่ดำภูพาน (3D) สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ พลิกชีวิต สร้างรายได้. เทคโนโลยีชาวบ้าน, 34(762), 62-63.
ไก่ดำภูพาน ถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นจากไก่ดำลูกผสมกับไก่พื้นเมืองของจังหวัดสกลนคร จึงทำให้ไก่ดำภูพานมีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าไก่ดำสายพันธุ์อื่นที่นำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย เป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ปล่อยให้หากินอิสระได้ หากินเก่ง ฟักไข่และเลี้ยงลูกได้เอง เนื้อแน่น รสชาติอร่อย และมีประโยชน์ต่อร่างกาย จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า สารเมลานินซึ่งเป็นสารสีดำที่พบในไก่ดำภูพาน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวหนึ่ง มีคุณสมบัติในการชะลอความชราของเซลล์ และออกฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็งจึงทำให้ผู้ที่บริโภคไก่ดำได้รับสารอาหารที่มากกว่าไก่ทั่วไป และจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เหมาะสำหรับบำรุงร่างกาย หญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับหลัก “โภชนศาสตร์บำบัด” คือการกินเพื่อการป้องกันและรักษาโรค จึงทำให้มีผู้สนใจนำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก เกษตรกรสามารถเลี้ยงไว้เพื่อบริโภค เป็นแหล่งอาหารโปรตีนตามวัตถุประสงค์ของโครงการพระราชดำริภายใต้แนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
การพัฒนาไก่ดำ KU-ภูพาน คิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์ โดย อาจารย์ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์ (คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ดำ KU-ภูพาน ไว้บริโภคในครัวเรือนและแบ่งจำหน่ายสร้างรายได้ หลังจากมีการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ออกไป ไก่ดำเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้ทราบได้ว่า ความต้องการของไก่ดำทั้งการเลี้ยงและการบริโภคสูงมาก
เกษตรกรในอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง โดย คุณถาวร เลี้ยงสกุล เป็นเกษตรกรคนแรกที่นำพ่อแม่พันธุ์ไก่ดำ KU-ภูพาน มาเพาะเลี้ยงที่ฟาร์ม “ดวงใจฟาร์มไก่ดำอารมณ์ดี” ตั้งอยู่เลขที่ 419/2 ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง คุณถาวร เล่าว่า ในช่วงแรกทำการเพาะเลี้ยงไก่เพื่อบริโภคและจำหน่ายลูกไก่ดำในราคาถูกแก่เกษตรกรที่สนใจนำไปเลี้ยงเชิงพาณิชย์ สามารถเพาะขยายพันธุ์ลูกไก่ได้หลายรุ่น รุ่นละ 50-100 ตัว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร จึงมีการรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนๆ และเกษตรกรรายอื่นที่เลี้ยงไก่ดำในพื้นที่ใกล้เคียงรวม 10 คน จัดตั้งเป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร ผู้เลี้ยงไก่ดำภูพาน
สำนักงานเกษตรอำเภอห้วยยอด โดย คุณมานะ กุญชรินทร์ เกษตรอำเภอห้วยยอด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำและเยี่ยมเยียนการดำเนินงานของกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร ผู้เลี้ยงไก่ดำภูพาน โดยมี คุณธวัฒน์พล จิรโรจน์กุลภูดิท และ คุณนริน เอียดงามสม พาเยี่ยมชมกิจกรรมพร้อมเล่าให้ฟังว่า ไก่ดำ KU-ภูพาน มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 1 มีลักษณะเด่นคือ ขนสีดำ สายพันธุ์ 2 มีลักษณะเด่นคือ ขนสีขาว และสายพันธุ์ 3 มีลักษณะเด่นคือ ขนสีเหลืองทอง ทั้ง 3 สายพันธุ์จะมีเนื้อสีดำ ปาก ลิ้น หงอน เล็บ แข้ง ขา กระดูก เครื่องในเป็นสีดำหมด ทางกลุ่มจะเลี้ยงไก่เพื่อบริโภคและจำหน่ายลูกไก่ดำในราคาถูกให้แก่เกษตรกรที่สนใจนำไปเลี้ยง ซึ่งเป็นผลสำเร็จ สามารถขยายพันธุ์ลูกไก่ได้หลายรุ่น ปัจจุบันไก่ดำ KU-ภูพาน ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียง 3 เดือน ก็สามารถนำมาบริโภคหรือจำหน่ายได้แล้ว โดยจำหน่ายในราคา 150-200 บาท ต่อกิโลกรัม
ท่านใดสนใจผลผลิตสามารถติดต่อได้ที่ คุณถาวร เลี้ยงสกุล โทร. 087-386-0022 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอห้วยยอด โทร. 075-271-099
ขอบคุณรูปภาพ :
https://www.technologychaoban.com
สนใจขอบทความฉบับเต็มได้ที่:
http://opac.library.mju.ac.th/opac2/BibDetail.aspx?bibno=361557
หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่:
เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510 ; 053-873511
Facebook: MJU Library