ชื่อบทความเรื่อง : อดีตสัตวบาลเลี้ยงเป็ดไข่วันละ 3 ชั่วโมง สร้างรายได้เข้ากระเป๋าวันละเกือบพัน
ผู้เขียน : ธาวิดา ศิริสัมพันธ์
ชื่อวารสาร : เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 34, ฉบับที่ 762 วันที่ 1 มีนาคม 2565
บรรณานุกรม :
ธาวิดา ศิริสัมพันธ์. (2565). อดีตสัตวบาล เลี้ยงเป็ดไข่วันละ 3 ชั่วโมงสร้างรายได้เข้ากระเป๋าวันละเกือบพัน. เทคโนโลยีชาวบ้าน, 34(762), 24-27.
คุณฉัตรชัย บัวทอง หรือพี่เอ็ม อยู่บ้านเลขที่ 132 ตำบลท่าน้าว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน อดีตสัตวบาลกลับบ้านเกิด ก่อร่างสร้างตัวกับอาชีพเลี้ยงเป็ดที่ตนเองรัก ใช้ประสบการณ์จากงานสัตวบาลประจำฟาร์มเป็ดขนาดใหญ่ ปรับประยุกต์ใช้ทำฟาร์มของตนเอง เด่นที่การจัดการระบบที่ได้มาตรฐาน ทำให้สามารถมีรายได้เข้ามาทุกวัน เมื่อเทียบกับการดูแลเฉลี่ยเพียง 3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
จุดเริ่มต้นการลาออกจากงานมาทำฟาร์มเป็ดเป็นของตัวเองว่า หลังจากที่เรียนจบตนเองได้เข้าทำงานเป็นสัตวบาลอยู่ที่ฟาร์มเป็ดแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเวลากว่า 6 ปี จนถึงจุดอิ่มตัว และมีความคิดที่อยากลาออกจากงานเพื่อที่กลับมาทำฟาร์มเลี้ยงเป็ด ซึ่งหลังจากที่มีความคิดนี้อยู่ไม่นานก็ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาทำตามความฝันประกอบธุรกิจทำฟาร์มเลี้ยงเป็ดเป็นของตนเองนับเป็นเวลากว่า 4 ปี สถานการณ์การเลี้ยงเป็ดไข่ของที่บ้านเป็นไปได้ดีมาตลอด เนื่องด้วยภายในจังหวัดยังมีฟาร์มเลี้ยงเป็ดไม่มาก ประกอบกับการเลี้ยงเป็ดที่มีจำเป็นต้องอาศัยทุ่งกว้าง แหล่งน้ำ ทำให้ใครหลายคนถอดใจไป แต่ถ้าหากเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมการเลี้ยงและมีการจัดการระบบรูปแบบฟาร์มที่ดี การเลี้ยงเป็ดนับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้ไม่น้อย แถมยังไม่ต้องใช้เวลาทั้งวันไปกับการเลี้ยง สามารถมีเวลาไปทำงานอย่างอื่นได้อีกด้วย
ส่วนสายพันธุ์ที่ฟาร์มเลือกใช้เลี้ยงเป็นเป็ดไข่ ซีพี ซุปเปอร์ มีจุดเด่นตรงที่ ได้ไข่ฟองใหญ่ ไข่ดก รูปร่างแข็งแรง เลี้ยงง่าย ทนโรค 750 ตัว มีรายได้ทุกวัน วันละ 2,000-3,000 บาท
โรงเรือนที่เหมาะสมในการเลี้ยงเป็ดไข่
การเลี้ยงเป็ดไข่นอกจากจะมีการจัดสรรพื้นที่อิงตามธรรมชาติเพื่อให้เป็ดได้ผ่อนคลายแล้ว โรงเรือนที่เลี้ยงก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็ดเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย ฉะนั้นแล้ว มาตรฐานโรงเรือนต้องสร้างให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ชนิดอื่นเข้ามารบกวน หรือว่าในบางครั้งบริเวณใกล้โรงเรือนทำกิจกรรมที่ส่งเสียงดัง ก็จะเปิดเพลงคลายเครียดให้เป็ดฟัง เพราะถ้าเป็ดตกใจเมื่อไหร่จะส่งผลต่อปริมาณไข่ที่ลดลงหรือออกไข่ได้ไม่ต่อเนื่องและนอกจากโรงเรือนที่มิดชิดแล้วยังมีเรื่องของการติดตั้งระบบไฟเข้ามาเพิ่มเติม เนื่องจากพื้นที่ของที่ฟาร์มอยู่ติดถนนมีรถผ่านบ่อย หากปล่อยให้แสงไฟของรถส่องเข้ามาในเล้าจะทำให้เป็ดตื่น จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการทำระบบไฟอัตโนมัติ ตั้งเวลาเปิด-ปิด ในช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินจนถึง 4 ทุ่ม และจะเปิดอีกครั้งในช่วงตี 4 เพื่อให้แสงสว่างสม่ำเสมอ ประกอบกับในช่วงเวลาที่เป็ดให้ไข่จะต้องมีระยะเวลาการให้แสงที่มากกว่าปกติส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยง ก่อนหน้านี้ที่ฟาร์มมีการทดลองทำอาหารลดต้นทุนมาก่อน แต่ด้วยที่ฟาร์มไม่มีเครื่องผสมอาหารทำให้อาหารที่ผสมลงไปคลุกเคล้าได้ไม่ทั่วถึงทั้งหมด ส่งผลให้เป็ดบางตัวไม่ได้รับโปรตีน สารอาหารที่ครบถ้วน จึงจำเป็นต้องกลับมาใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปแบบเดิม โดยการให้อาหารเป็ดแต่ละครั้งมีการคำนวณว่าใน 1 วัน จะให้อาหาร 150 กรัมต่อตัวต่อวัน ด้วยการแบ่งให้วันละ 2 มื้อ คือช่วงหลังจากการเก็บไข่เสร็จ ประมาณ 7 โมงเช้าเริ่มให้อาหารรอบแรก และมื้อเย็นเริ่มให้ตอนประมาณ 4 โมงครึ่ง จากนั้นพอให้อาหาร
เสร็จก็จะเตรียมมาเปิดห้องฟักไข่ไว้
หากคิดเป็นค่าอาหารเฉลี่ยต่อวัน วันละประมาณ 1,700 บาท สามารถเก็บไข่ได้ทุกวัน วันละประมาณ 21 แผง 1 แผงมี 30 ฟอง ในขนาดไซซ์ที่ได้มาตรฐาน ได้เบอร์ใหญ่มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเป็ดที่เลี้ยง ขายในราคาแผงละ 100-120 บาท เมื่อหักต้นทุนค่าอาหารไปแล้วยังเห็นกำไรหรือให้คิดง่ายๆ ว่าจะได้กำไรจากเป็ดตัวละ 1 บาททุกวัน นับเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับเวลาในการเลี้ยงเฉลี่ยเพียง 3 ชั่วโมงต่อวัน จะใช้เวลาเพียงตอนเช้าเข้ามาให้อาหาร แล้วไปทำงานอย่างอื่นเสร็จแล้ว เย็นกลับมาให้อาหารอีกครั้งหลังเลิกงานได้
การตลาดไปได้สวย
เป็ดไข่ไม่ทันขาย
เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่เลี้ยงเป็ดไข่ในจังหวัดน่านยังมีไม่มาก ก่อนหน้านี้แม่ค้าส่วนใหญ่ก็จะไปรับไข่จากที่อื่น ซึ่งไข่ที่ได้มาก็จะไม่สดเพราะใช้เวลาในการขนส่ง ทำให้ฟาร์มของเราได้รับความสนใจจากแม่ค้าหลายเจ้า โดยจุดเด่นของไข่เป็ดที่ฟาร์มจะฟองใหญ่ สด สะอาด และปลอดภัย เก็บใหม่ทุกวัน เนื่องจากที่ผ่านมาจากที่เคยได้พูดคุยกับแม่ค้า ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาเจอไข่เก่าหรือเจอไข่จากเป็ดไล่ทุ่งไม่มีที่ฟักไข่ที่เหมาะสม ไข่โดนน้ำหรือปนเปื้อนสิ่งสกปรกอย่างอื่นทำให้ไข่เสียเร็วขึ้น แต่ของเรามีโรงเพาะไข่ที่สะอาด ปลอดภัย ทำให้สามารถตรึงใจแม่ค้าประจำได้ยาวนาน โดยมีแม่ค้าที่มารับประจำหลักๆ อยู่ทั้งหมด 3 อำเภอด้วยกัน 1. อำเภอภูเพียง 2. อำเภอเมือง และ 3. อำเภอนาน้อย เพื่อนำไปขายต่อเป็นไข่สดและนำไปแปรรูป
หากมือใหม่ท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 090-209-3281 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : Rimna Farm – ไข่เป็ดอารมณ์ดี
ขอบคุณรูปภาพ :
https://www.technologychaoban.com
สนใจขอบทความฉบับเต็มได้ที่:
http://opac.library.mju.ac.th/opac2/BibDetail.aspx?bibno=361548
หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่:
เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510 ; 053-873511
Facebook: MJU Library