การประเมินภาวะไตเสียหายในสุนัขด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพชนิด Neutrophil Gelatinase-Associated Lipocalin (NGAL)

ชื่อบทความเรื่อง : การประเมินภาวะไตเสียหายในสุนัขด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพชนิด Neutrophil Gelatinase-Associated Lipocalin (NGAL)
ผู้เขียน : อ.น.สพ.ธนากร วัฒนพรภิรมย, ผศ.น.สพ.ดร.เฉลิมพล เล็กเจริญสุข, ผศ.น.สพ.ชยกฤต สินธุสิงห์

ชื่อวารสาร : สัตวแพทย์มหานครสาร ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2560 หน้า 79-89

           การเกิดภาวะไตเสียหายเฉียบพลันเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการได้แก่ การขาดเลือด โรคติดเชื้อ การได้รับยาหรือสารพิษและตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น โดยจะพบอาการเมื่อไตเสียหายจนส่งผลต่อการขับของเสียออกจากร่างกายเกิดปัญหาการธํารงดุลอิเล็กโทรไลต์และฮอร์โมนในร่างกาย การวินิจฉัยทางคลินิกและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่อาจบอกความเสียหายของไตในระยะเฉียบพลันได้ เนื่องด้วยข้อจํากัดบางประการเช่น ค่ายูเรียและครีเอตินีนจะสูงขึ้นเมื่อหน่วยไตทํางานลดลงมากกว่าร้อยละ 70 ขึ้นไป ดังนั้นค่าทั้งสองนี้จึงมีความไวไม่เพียงพอที่จะบ่งชี้ว่าไตทํางานผิดปกติระยะแรกได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่รบกวนการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของค่ายูเรียและครีเอตินีน เช่น สัตว์ที่ได้รับโปรตีนต่ําจะมีค่ายูเรียลดลงสัตว์ที่มีมวลกล้ามเนื้อมากและออกกําลังกายมากจะพบค่าครีเอตินีนสูงขึ้น เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพอาจใช้เป็นทางเลือกในการบ่งชี้ความเสียหายของไตในระยะแรกได้จึงเป็นที่น่าสนใจในการศึกษาถึงตัวบ่งชี้ทางชีวภาพชนิด Neutrophil Gelatinase – Associated Lipocalin (NGAL) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลไต ตับและเนื้อเยื่อ เพื่อตอบสนองต่อการเกิดพยาธิสภาพเช่นการอักเสบติดเชื้อการขาดเลือดเนื้องอกและได้รับสารพิษ ในภาวะปกติNGAL จะถูกพบในระดับต่ํา   แต่หากเซลล์ท่อไตส่วนต้นเกิดการบาดเจ็บจะพบ NGAL มีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเซลล์ท่อไตส่วนต้นไม่อาจดูด NGAL กลับได้

ตารางแสดง จำนวนสุนัขปกติและสุนัขที่มีรอยโรคที่ไตที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตบางเขนจำนวน  30 ตัว

          ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันทําให้มีความเสี่ยงในการตายที่เพิ่มขึ้นในสุนัขเนื่องจากการวินิจฉัยทางคลินิกด้วยค่ายูเรียในเลือดและซีรั่มครีเอตินีนไม่อาจบ่งชี้ถึงการสูญเสียหน้าที่ของไตและความเสียหายของโครงสร้างของไตในระยะแรกได้ด้วยเหตุผลนี้การตรวจหาการบาดเจ็บที่ไตในระยะแรกด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพจึงมีความสําคัญต่อการวินิจฉัยเพื่อให้การรักษาโรคกระทําได้อย่างรวดเร็ว งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ตัวบ่งชี้ Neutrophil Gelatinase-Associated Lipocalin (NGAL) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ผลิตออกมาเพิ่มขึ้นเมื่อเซลล์ท่อไตเกิดการบาดเจ็บในการบ่งชี้ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันและการประเมินโรคไตในสุนัขโดยการจัดกลุ่มศึกษาอ้างอิงตามเกณฑ์ของ IRIS AKI ได้แก่กลุ่มที่ 1 คือสุนัขปกติอายุ 1-7 ปีจากการตรวจร่างกายค่าโลหิตวิทยาและชีวเคมีและการตรวจปัสสาวะไม่พบความผิดปกติ กลุ่มที่ 2 คือสุนัขที่มีรอยโรคที่ไตแต่มีครีเอตินีนปกติ (IRIS AKI ปี 2013 ระดับ I มีครีเอตินีนในเลือด≤1.6 มก./ ดล.)  และกลุ่มที่ 3 คือสุนัขที่มีภาวะไตวายและมีค่าครีเอตินีนผิดปกติ (IRIS AKI ระดับ II–V โดยครีเอตินีนในเลือด >1.6 มก./ ดล.) เก็บตัวอย่างซีรั่มและปัสสาวะในแต่ละกลุ่มเพื่อตรวจระดับ NGAL (sNGAL และ uNGAL ตามลําดับ) ด้วยชุดทดสอบ Dog NGAL ELISA KIT (BIOPORTO®, Denmark) ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มสุนัขที่มีรอยโรคที่ไตแต่มีค่าครีเอตินีนปกติมีค่าเฉลี่ยของ sNGAL และuNGAL มากกว่าสุนัขปกติอาจเป็นไปได้ว่าสุนัขที่มีรอยโรคที่ไตแต่มีค่าครีเอตินินปกติเกิดความเสียหายกับไตมากกว่าสุนัขปกติทําให้ค่าเฉลี่ยของ sNGAL และuNGAL มีค่ามากกว่าสุนัขปกติดังนั้น sNGAL สามารถบ่งชี้ภาวะไตเสียหายได้ดีกว่าครีเอตินีน นอกจากนั้นค่าเฉลี่ยของsNGAL และ uNGAL ในสุนัขที่มีรอยโรคที่ไตแต่มีครีเอตินีนปกติมีค่าใกล้เคียงกันแต่เมื่อไตเกิดความเสียหายมากขึ้นในสุนัขที่มีภาวะไตวายที่มีครีเอตินีนผิดปกติจะพบการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ย uNGAL มากกว่า sNGAL อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มสุนัขปกติซึ่งแสดงให้เห็นว่า uNGAL อาจสามารถใช้บ่งชี้ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันได้ดีกว่า sNGAL ดังนั้นการตรวจระดับNGAL จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการวินิจฉัยเพื่อบ่งชี้ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันในสุนัขโดยทําให้ทราบระดับที่ไตเสียหายการพยากรณ์โรคและติดตามผลการรักษาได้

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : 
https://www.tci-thaijo.org
https://maejo.link?L=h7Dh

สนใจอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://li01.tci-thaijo.org/index.php/jmvm/article/view/113333

สนใจดูบทความอื่นๆในวารสาร  : https://li01.tci-thaijo.org/index.php/jmvm

Library Guides รวบรวมแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวกับคณะสัตวแพทยศาสตร : https://libmode.mju.ac.th/2020/veterinary-science/


หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ :

เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1

โทร 053-873510

Facebook MJU Library