ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง (เทศกาลสงกรานต์ แบบล้านนา)

ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง (เทศกาลสงกรานต์แบบล้านนา)  เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนาซึ่งจะตรงกับเดือนเมษายน ที่อยู่ในฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนมาก และเป็นช่วงเวลาว่างจากการทำไร่และเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จึงถือเอาวันปีใหม่เป็นวันทำบุญใหญ่วันหนึ่งในรอบปี เป็นวันที่สนุกสนานรื่นเริงด้วยการเล่นน้ำสงกรานต์ให้เย็นฉ่ำ ถือขันน้ำรดน้ำให้แก่กัน และ ประเพณีปี๋ใหม่เมือง จะจัดขึ้นช่วงวันที่ 13 – 16 ของเดือนเมษายน

ข่วงประตูท่าแพมีการประดับตกแต่งด้วยตุงและโคม ช่วยสร้างบรรยากาศแบบล้านนา นอกจากนี้บริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่และถนนต่างๆ บริเวณรอบนอกเมืองยังกลายเป็นสถานที่เล่นน้ำคลายร้อน และมีอีกหลายกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นสิริมงคลตามประเพณีที่ชาวล้านนาได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น การจัดขบวนแห่ดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัด สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ขนทรายเข้าวัด  รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในแต่ละชุมชน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือ ตลอดทั้งเป็นการร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีให้กับชนรุ่นหลัง

ปีใหม่เมืองมีความสำคัญต่อคนล้านนาในฐานะ
1.เป็นการเปลี่ยนปี คนเมืองจะนับปีตามปีใหม่เมือง พอถึงปีใหม่จะกลายเป็นอีกปีหนึ่งไม่ใช่ปีเดิม อายุของเราจะเพิ่มขึ้นอีกปี

2.เป็นการเตือนตน และสำรวจตรวจสอบตนเอง เพราะการที่อายุเพิ่มขึ้นจะเป็นการย้ำเตือนให้คนเมืองรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของวัน วัย และสังขาร นั้นคืออนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา

3.เป็นการชำระสะสางสิ่งที่ไม่ดี ปีใหม่เมืองเป็นช่วงโอกาสที่คนเมืองได้สำรวจตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา เมื่อพบข้อบกพร่องก็มักจะตั้งจิตตั้งใจสะสางสิ่งที่ไม่ดีไม่งามออกไป อันใดที่ร้ายก็ขอให้ดับไปกับไฟ ไหลไปกับน้ำ ล่องไปกับสังขาร

4.เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ปีใหม่เมืองมีสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายหลายประการ ทั้งที่เป็นวัตถุและความเคลื่อนไหว เช่น เสื้อผ้า ข้าวของ มีความคึกคักเคลื่อนไหวในการต้อนรับปีใหม่ จะเกิดการตั้งใจใหม่ ความหวังใหม่ และพยายามใหม่ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

วันสำคัญในช่วงเทศกาลปีใหม่เมือง ได้แก่ วันสังขารล่อง หรือสงกรานต์ล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือวันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันส่งท้ายศักราชเก่า คนเมืองจะตื่นแต่เช้าเป็นพิเศษ ก่อนตีนฟ้ายก(พระอาทิตย์ขึ้น) เช้ามืดจะมีการยิงปืน จุดประทัด เพื่อไล่สิ่งที่ไม่ดีไปกับสังกรานต์ สาย ๆ จะทำความสะอาดบ้านเรือน บ่าย ชำระล้างร่างกายให้สะอาด แต่ตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่

                           

วันเนา หรือวันเน่า หรือวันที่ 14 เมษายน เป็นวันที่พระอาทิตย์เนาอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในทางโหราศาสตร์ คือไม่ดี ไม่ส่งเสริมสิริมงคล วันนี้จะคึกคักเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้ามืด เป็นวันจับจ่ายซื้อของจำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่ มีการเตรียมอาหารคาวหวาน เช่น ขนมจ็อก ห่อนึ่ง แกงฮังเล หรืออื่น ๆ เพื่อจะเอาไปทำบุญที่วัดในวันพญาวัน และเอาไปดำหัวผู้ใหญ่ ช่วงสาย ๆ จะไปชุมนุมกันเพื่อเล่นน้ำปีใหม่ ที่สำคัญมากของวันนี้ คือ เป็นวันขนทรายเข้าวัด เพื่อเป็นการก่อพระเจดีย์ทราย ขนมที่นิยมทำกันในช่วงปีใหม่ ได้แก่ ขนมจ็อก ขนมชั้น ขนมเกลือ ขนมตายลืม ขนมลิ้นหมา ขนมวง และขนมกล้วย

วันพญาวันหรือพระญาวัน หรือวันที่ 15 เมษายน เป็นวันที่มีความหมายต่อคนเมืองมาก เป็นวันยอดม้อน เป็นวันที่ดีที่สุดในรอบปี มีกิจกรรมตามความเชื่อในวิถีชีวิต ความเชื่อในพิธีกรรม ไสยศาสตร์ เช่นการเลี้ยงผีครู การนำเครื่องรางมาล้างนำสิ่งที่ไม่ดีออกไป การสักคาถา ยันต์ต่าง ๆ ตามร่างกาย ถือเป็นการเพิ่มความขลัง วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่เช้าตรู่ มีการถวายภัตตาหารให้กับคนตาย ที่เรียกว่า ทานขันข้าว ทานตุง หรือถวายตุงปักเจดีย์ทราย ดำหัว คารวะผู้ใหญ่ การส่งน้ำพระธาตุ พระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป การทานไม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการค้ำจุนพระศาสนา มีการทำบุญใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของเสาบ้าน หรือ สะดือบ้าน

วันปากปี หรือวันที่ 16 เมษายนกิจกรรมเริ่มที่วัดของแต่ละหมู่บ้าน มีการบูชาข้าวลดเคราะห์ ช่วงสายเป็นการทำพิธีส่งเคราะห์บ้าน และสืบชะตาบ้าน กระทำที่กลางหมู่บ้าน ในช่วงสายๆ 8-9 โมงเป็นต้นไป ช่วงค่ำ กระทำที่บ้านเรือนของตน มีการจุดเทียนบูชาบ้านเรือน หรือเรียกว่าต๋ามเตียนปู่จาพระเจ้า ใช้เทียนสามเล่ม คือเทียนบูชาลดเคราะห์ เทียนบูชาสืบชะตา และเทียนบูชาโชคลาภ บางท้องถิ่นจะมีการต๋ามขี้สายเท่าอายุ (การจุดเส้นไฟเท่าจำนวนอายุ)

วันปากเดือน และ วันปากวัน ดังที่กล่าวแล้วว่ากิจกรรมของคนเมืองในห้วงเวลาปีใหม่เมืองนั้นมีมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในรอบปี ลำพังเฉพาะการดำหัวอย่างเดียวไม่อาจกระทำให้จบสิ้นได้ภายในวันเดียว ดังนั้นจึงมีวันปากปีเพิ่มขึ้นมาเพื่อจะได้ไปดำหัวผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือให้ครบถ้วน แต่กระนั้นเมื่อเพิ่มวันปากปีก็อาจไม่พอ จึงต้องเพิ่มวันปากเดือนและวันปากวันเข้ามาด้วย

 

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :

www.chiangmainews.co.th/page/archives/589522
www.chiangmainews.co.th
www.chiangraicity.go.th
www.thaihealth.or.th/Content/51933
www.worldlamphun.com