ปีที่ ๗ ของโรงเรียนแม่โจ้ ๒๔๘๓-๒๔๘๔

บรรยากาศในโรงเรียน

๑ พฤษภาคม ๒๔๘๓ เป็นวันเริ่มเปิดเรียนสำหรับนักศึกษาที่เข้าสมัครใหม่เป็นนักศึกษาเตรียมปีที่ ๑ เตรียมวิทยาลัยฯ ได้ต้อนรับนักศึกษาใหม่โดยแจ้งให้มีจอบหนึ่ง  ขวานหนึ่ง และมีมีดหนึ่ง แบบฝึกหัดแรกคือการเข้าป่าทำด้ามจอบ และเมื่อได้มีเครื่องมือครบตัวแล้วก็เริ่มทำการเปิดป่าซึ่งภายใน ๑๕ วัน ก็ได้เนื้อที่ใหม่สำหรับการเกษตรอีกประมาณ ๓๐ ไร่

งานวันที่ ๗ มิถุนายน

พอถึงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม นักศึกษาชั้น ๒ ก็กลับจากเยี่ยมบ้านแล้วใหม่-เก่าก็มาพบกัน เริ่มปลูกความเป็นอยู่แบบ “พับลิคสกูล” ขึ้นแก่นักศึกษาใหม่
วันที่ ๗ มิถุนายน เป็นวัน “แม่โจ้” วันเปิดเรียนวันแรกที่แม่โจ้  คือ ๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ เราจึงถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาเก่าทำการต้อนรับนักศึกษาใหม่โดยเป็นพิธี แล้วทั้งนักศึกษาเก่าใหม่จึงทำพิธี “ไหว้ครู” และฟังธรรมเทศนา

ระพี สาคริก นักศึกษาชั้นปีที่ ๑

ในวันที่ ๑ พฤษภาคม มีนักศึกษาเข้าใหม่ทั้งหมดเป็นจำนวน ๙๙ นาย และในวันที่ ๑๗ มิถุนายน คงเหลือมี ๙๗ นาย โดยร่างกายไม่สมบูรณ์พอดีที่จะกรากกรำต่องานเกษตร   นักศึกษาชั้นเตรียมปีที่ ๒ มีจำนวน ๗๙ นาย รวมนักศึกษาทั้งสิ้นจำนวน ๑๗๖ นาย

คณาจารย์

ใน พ.ศ. ๒๔๘๓-๘๔ นี้ มีจำนวนครูอาจารย์ประจำเตรียมวิทยาลัย ฯ ๑๓ นาย และได้ยืมอาจารย์จากสถานีทดลองภาค ๕ มาช่วยสอนอีก ๔ นาย รวมทั้งสิ้นมีผู้ทำการสอน ๑๗ นาย

การศึกษาในชั้นเตรียมวิทยาลัยฯ นี้ โดยเฉพาะได้แก้ไขให้หนักไปในทางหลักวิชาการยิ่งขึ้นกว่าโรงเรียนกสิกรรมในสมัยที่เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม หรือโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม ทั้งนี้ก็โดยเตรียมวิทยาลัยฯ มีหน้าที่เพาะผู้สนใจในการศึกษาประเภทนี้ป้อนส่งให้ วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งแบ่งแยกออกเป็น ๓ แผนก ได้แก่แผนกเกษตรศาสตร์, แผนกสหกรณ์ และแผนกวนศาสตร์ เตรียมวิทยาลัยฯได้จัดการเรียนในห้องให้มีเวลาเรียน สัปดาห์ละ ๒๒ ชั่วโมง และต้องฝึกหัดงานเกษตรในไร่นาอีกสัปดาห์ละ ๑๕ ชั่วโมง รวมเวลาเรียนทั้งสิ้น ๓๗ ชั่วโมง

การฝึกหัดงานกลางแจ้งได้จัดให้นักศึกษาชั้น ๑ ได้มีโอกาสทำนาทุกคน ทั้งนี้เพราะการทำนาข้าวเป็นอาชีพสำคัญที่สุดของชาวไทย นอกจากการทำนาข้าวแล้วก็มีการทำสวนผัก ฝึกหัดเลี้ยงไก่ เลี้ยงสุกรพอสมควร ความมุ่งหมายสำคัญในการฝึกหัดขั้นต้นนี้คือ ประสงค์จะปลูกนิสัยในการครองชีพในฐานเกษตรกร

สำหรับนักศึกษาชั้น ๒ ได้ขยายวงงานให้กว้างขึ้น โดยให้ทำงานไร่ เช่น ยาสูบ ถั่วเหลือง อันเป็นพืชสำคัญของภาคพายัพ ให้ได้ทำงานในสวนไม้ผล มีโอกาสปฏิบัติต้นไม้ผลพอสมควร และขยายวงงานไปให้เลี้ยงสัตว์ใหญ่ ได้แก่ โค กระบือ ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักศึกษามีความรู้กว้างขึ้นในงานใหญ่ๆ ที่จะเป็นอาชีพทางเกษตรต่อไปในภายหน้า

การอบรมทางมารยาทศีลธรรม สำหรับนักศึกษาชั้น ๒ ได้จัดให้มีการอบรมทุกวันเสาร์ ในทางความประพฤติและมารยาท ตลอดจนวิธีการปฏิบัติตนในสมาคม ในส่วนรวมทั้งหมดได้มีการฟังธรรมเทศนาในวันพระเดือนละ ๒ ครั้ง นอกจากนี้มีการอบรมกันในหมู่คณะ โดยมีครูประจำคณะอบรมเป็นครั้งคราว

ในทางพลศึกษา ซึ่งนอกจากจะได้คำสอนกันในห้องเรียนแล้ว ยังได้จัดให้มีการแข่งขันกันระหว่างคณะ เพื่อบำรุงพลานามัย เพื่อเพิ่มพูลความสามัคคีในหมู่คณะ ให้รู้จักเป็นนักต่อสู้โดยยุติธรรม และให้เกิดความเพลิดเพลินไม่เบื่อหน่ายที่ต้องเรียนและฝึกหัดงานอย่างหนัก การกีฬาเหล่านี้มีทั้งประเภทในร่มและกลางแจ้ง เตรียมวิทยาลัยฯสนับสนุนกีฬากลางแจ้งมาก มีบาสเกตบอลล์ วอลเลย์บอลล์ ฟุตบอลล์ รักเกอร์ เบสบอลล์ ตระกร้อ เทนนิส และกรีฑรา นอกจากจะมีการแข่งขันภายในแล้วทางเตรียมวิทยาลัยฯ ยังได้จัดส่งทีมของเตรียมวิทยาลัยฯ ไปแข่งขันในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วยตามโอกาส เช่น ได้ส่งทีมฟุตบอลล์ไปแข่งขันกับทีมสมานมิตรของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเก็บเงินส่งสมทบทุนในการเรียกร้องดินแดนคืน จนได้รับถ้วยรางวัลของนายพันโท เจ้าราชบุตร ณ เชียงใหม่ ได้ส่งนักศึกษาเข้าแข่งขันวิ่งทนระยะทาง ๔๐๐๐ เมตร ในงานฉลองวันปีใหม่ ได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศ และส่งทีมตระกร้อข้ามเนตประเภทคู่และสาม จนได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง ๒ ประเภท ทั้งในงานฉลองรัฐธรรมนูญและงานฉลองวันปีใหม่

งานฉลองรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๓ และ งานฉลองวันปีใหม่ ๒๔๘๔

ในแง่การสมาคม ได้จัดให้มีสโมสรนักศึกษาขึ้น มีการกีฬาในร่ม อันเป็นโอกาสให้นักศึกษาได้พบปะวิสาสะกันนอกเวลางานและวันว่าง ทั้งได้มีการฝึกซ้อมดนตรีสากลและดนตรีไทยด้วย จนสามารถนำออกแสดงให้ประชาชนได้ชมตลอดงานฉลองรัฐธรรมนูญและงานฉลองวันปีใหม่ อนึ่ง ในงานทั้งสองงานนี้เตรียมวิทยาลัยฯ ได้จัดรีวิวของคณะนักศึกษาแสดงให้ประชาชนชมทุกวัน ทั้งได้จัดร้านขายอาหารและกอล์ฟเล็กให้เล่นด้วย

ดนตรีสากลของเตรียมวิทยาลัยฯ ได้มีโอกาสไปช่วยงานและการกุศลบางอย่าง เช่น กรรมการประกวดนางส่วเชียงใหม่ได้ขอให้ไปแสดงร่วมในงานนั้น เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ขอให้ไปช่วยบรรเลงในการแสดงละครเก็บเงินสมทบทุนสงเคราะห์ประชากรในยามสงครามม ดังนี้นับว่านักศึกษาได้มีโอกาสพบเห็นการสมาคมและช่วยเหลือกิจการของชาติบางอย่าง และโดยเฉพาะในสถานการณ์ของประเทศชาติขณะนี้ นักศึกษาเตรียมวิทยาลัยฯได้ทำการเดินขบวนคบเพลิงเมื่อ ๖ พฤศจิกายน เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการเรียกร้องดินแดนคืนจากรัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศส นอกจากได้เดินขบวนแล้วยังได้มีประชาชนบางหมู่ได้ขอแตรวงของเตรียงวิทยาลัยฯ ไปบรรเลงในการเดินขบวนด้วยหลายครั้ง ซึ่งทางเตรียมวิทยาลัยฯ ได้สนับสนุนเสมอ…

ที่มาบทความ : ปีที่ ๗ ของร.ร.แม่โจ้ (๒๔๘๓-๘๔) โดยพนม สมิตานนท์

หนังสือแม่โจ้ ๒๔๘๓ เล่มนี้ผู้เขียนได้กล่าวในบทบรรณาธิการในเล่มไว้ว่า ทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการเป็นเครื่องระลึกสำหรับครูอาจารย์ ของเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในเล่มยังมีเนื้อหาที่เป็นตำราให้เกล็ดความรู้ทางเกษตรกรรมแก่ผู้อ่าน และเป็นเครื่องเตือนใจแก่เพื่อนนักศึกษา ให้ระลึกถึงสถานศึกษา อันเป็นที่ก่อให้เกิดความสามามัคคี ความอดทน ความมีน้ำใจ แน่วแน่ที่จะต่อสู้กับชีวิต ยังมีเรื่องราวต่างๆอีกมากมายเขียนไว้ในหนังสือแม่โจ้ ๒๔๘๓

ติดตามอ่าน E-Book ฉบับเต็มได้ที่ http://www.archives.mju.ac.th/files/ebook/MJU2483/book.html

 

** เนื้อหาทั้งหมดเพื่อการประชาสัมพันธ์หนังสือรุ่นและบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบุคคลหรือหน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้น