ปราบด้วงแรดมะพร้าว


แม้จะเป็นแมลงประจำถิ่น แต่ไหนแต่ไรมาการระบาดไม่ค่อยมากนัก เพิ่งจะมาหนักในช่วงหลังๆ เนื่องจากมีการโค่นล้มต้นมะพร้าว ต้นปาล์มที่มีอายุมาก เพื่อปลูกใหม่ทดแทน…แล้วปล่อยทิ้งให้ต้นที่ถูกโค่นเน่าเปื่อยไว้ในสวน กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของด้วงแรด
เพราะซากเน่าเปื่อยต้นมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน ซากเปลือกมะพร้าว ทะลายปาล์ม กองมูลสัตว์เก่า กองปุ๋ยคอก กองขุยมะพร้าว กองกากเมล็ดกาแฟ กองขยะ ล้วนแต่เป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศในการเลี้ยงหนอนด้วงแรด
สำหรับการป้องกันกำจัด กรมวิชา การเกษตร แนะให้ใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน…วิธีเขตกรรม ชีววิธี และการใช้สารเคมี
วิธีเขตกรรม ให้หมั่นรักษาความสะอาดและกำจัดเศษวัสดุต้นมะพร้าวบริเวณสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ถ้ามีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย กองแกลบ ควรกำจัดออกไปจากสวนหรือกองให้เป็นที่ หมั่นกลับกองเพื่อตรวจดูหนอนด้วงแรดมะพร้าว…หากพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองนั้นทิ้งทันที
ส่วนลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย กรณีต้นมะพร้าวที่ถูกตัดแล้วยังสดอยู่ ให้นำมาทำกับดักล่อให้ด้วงแรดมะพร้าวมาวางไข่ ตัดทอนออกเป็นท่อนสั้นๆ นำมาวางเรียงรวมกันไว้ให้เปลือกมะพร้าวติดกับพื้นดิน เพราะด้วงแรดมะพร้าวจะวางไข่บริเวณที่ชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว จากนั้นให้เกษตรกรเผาทำลายท่อนกับดักเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว สำหรับตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วราดให้ทั่วตอ เพื่อป้องกันการวางไข่ได้
ชีววิธี ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมใส่ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือกับดักท่อนมะพร้าวที่มีหนอน ด้วงแรดมะพร้าว อาศัยอยู่ และเกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด จากนั้นรดน้ำให้ความชื้นและหาวัสดุใบมะพร้าวมาคลุมกองไว้ เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด
ส่วนการใช้สารเคมี เหมาะกับต้นมะพร้าวอายุ 3–5 ปี ที่ยังไม่สูงมาก ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6–8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว
หากระบาดมาก ให้ใช้สารฆ่าแมลง ไดอะซินอน 60% อีซี หรือคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี ชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมา โดยใช้ปริมาณ 1-1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15-20 วัน และควรใช้ 1-2 ครั้ง ในช่วงมีการระบาด…ด้วงแรดตัวเต็มวัยบินมากัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว โดยเจาะทำลายยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลาหรือรูปพัด.

https://www.thairath.co.th/news/local/1936391