เพาะสำเร็จแล้ว! “ม.แม่โจ้-สพภ.” ลุยแจกเชื้อเห็ดถอบ-เห็ดตับเต่า หนุนปลูกลดเผาป่า

แพร่ – ม.แม่โจ้แพร่-สพภ.จับมือคืนความรู้งานวิจัยสู่ชุมชน หลังเพาะเห็ดถอบ-เห็ดตับเต่า สำเร็จ..แจกเชื้อให้ชาวบ้านเพาะ 10 ชุมชน 5 อำเภอเมืองแพร่ บอกถ้าโชคดีปี 63 เพาะเห็ดไข่เหลืองได้อีก ด้านรองผู้ว่าฯ ปิ๊งไอเดียหนุนเพาะเห็ดป้องป่าเลิกเผาลดหมอกควันพิษ
วันนี้ (25 พ.ย.) นายนิธิวัชร์ ศิรโภคาวิโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานเปิดกิจกรรมคืนองค์ความรู้โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติสู่ชุมชนในจังหวัดแพร่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากโครงการวิจัยแก่ชุมชนและเกิดการขยายผลในการดำเนินงานในระดับจังหวัด

ในงานจะมีการเสวนา หัวข้อ “เห็ดป่าไมคอร์ไรซา เพื่อการฟื้นฟูป่า สร้างแหล่งอาหารและรายได้ของชุมชน” และนอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้และสาธิตการใส่เชื้อเห็ดเผาะในกล้าไม้เศรษฐกิจ และเชื้อเห็ดตับเต่าในกล้าไม้ผลและไม้ดอก ซึ่งผลการทดลองสามารถทำได้ดี

ดร.ธนิต ชังถาวร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานวิจัยเห็ดป่าที่สามารถนำมาใช้กับพืชป่าและพืชที่ปลูกในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเห็ดในป่าจะแบ่งออกเป็นสองชนิด คือ เห็ดที่อาศัยอาหารจากซากพืชที่ตายแล้ว เช่น เห็ดหูหนู เห็ดโคนที่มีปลวกช่วยด้วย และเห็ดที่หาอาหารจากพืชที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ เห็ดตับเต่า เห็ดแดง เห็ดไข่ดง เห็ดไข่เหลือง ซึ่งมีอยู่จำนวนมากและมีคุณค่าทางอาหารสูงที่สามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพจึงร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ระหว่าง 18 ธ.ค. 61-15 ก.ย. 62

ผลจากการศึกษาพบเห็ดป่ากินได้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำคำมีและพื้นที่ป่าชุมชนโดยรอบพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด 17 ชนิด จัดเป็นเห็ดไมคอร์ไรซา 10 ชนิด และเห็ดชนิดอื่นๆ 7 ชนิด โดยเห็ดไมคอร์ไรซาที่พบมาก ได้แก่ เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ เห็ดระโงก และเห็ดน้ำแป้ง

ทีมวิจัยได้คัดเลือกเห็ดเผาะ และเห็ดตับเต่า ที่เป็นเห็ดที่มีศักยภาพสูงสำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าสู่ชุมชน โดยได้ถ่ายทอดให้แก่ชุมชนแล้วจำนวน 10 ชุมชน ใน 5 อำเภอของจังหวัดแพร่ มีจำนวนกล้าไม้ที่เกษตรกรร่วมกันเพาะและใส่เชื้อเห็ดสำหรับปลูกในพื้นที่สาธารณะของชุมชนจำนวน 4,880 ต้น จำนวนกล้าไม้ที่เกษตรกรนำมาใส่เชื้อเห็ดและเตรียมนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเองรวม 40 ชนิด 4,783 ต้น เชื่อว่าจะเป็นการสร้างแหล่งอาหาร สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และฟื้นฟูป่าไม้อย่างยั่งยืน

ดร.ธนิตกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 63 ทีมวิจัยจะสามารถเพาะเชื้อเห็ดไข่เหลืองได้ และกำลังอยู่ระหว่างการนำไปทดลองในแปลงทดลอง ซึ่งถ้าโชคดีในกลุ่มประชาชนที่สนใจเข้ามาอบรมในปีนี้ก็จะได้สายพันธุ์เห็ดไข่เหลืองไปใช้ในป่าชุมชนของตนเองด้วย

ด้านนายนิธิวัชร์ ศิรโภคาวิโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเปลี่ยนความคิดใหม่ การปลูกป่าโดยทางราชการที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าหันมามองงานวิจัยนี้จะทำให้ป่ามีคุณค่า เพราะเกิดนวัตกรรมทำให้ประชาชนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ จะทำให้คนในชุมชนมีอาหารอย่างยั่งยืนและยังสามารถจำหน่ายสร้างเศรษฐกิจในชุมชนได้อีกด้วย

“การผลักดันให้ประชาชนเข้าไปช่วยกันฟื้นฟูป่าภายใต้งานวิจัยนำเชื้อเห็ดเข้าไปเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูป่าเป็นการสร้างป่าสร้างรายได้โดยภาคประชาชน ซึ่งหน่วยงานป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดต้องนำความรู้เหล่านี้ไปกำหนดนโยบาย ซึ่งผลที่ตามมาในอนาคตคือชาวบ้านจะช่วยกันป้องกันรักษาป่าไม่ให้เกิดไฟป่า เพราะเป็นรายได้และแหล่งอาหารสำคัญของชุมชน”

https://mgronline.com/local/detail/9620000112943?fbclid=IwAR2bush-zxe_nvam3LragTioVg7yKDYzVylWaaNj_H6vS5QtYrrMhEspL5c