Movie Critical

The Dictator: จอมเผด็จการ

ผู้กำกับภาพยนตร์: Larry Charles
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: Sacha Baron Cohen
นักแสดง : Sacha Baron Cohen, Anna Faris, Ben Kingsley, Jason Mantzoukas
ประเภท: Comedy
ความยาว: 83 นาที
สตูดิโอ : Four by Two Films, Kanzaman

The Dictator ไม่ใช่ภาพยนตร์ใหม่แต่เป็นภาพยนตร์เก่าในปี 2012 ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี เรากลับรู้สึกว่าประเด็นในหนังไม่เก่าเลย ในวาระที่หนังเรื่องนี้เข้าฉายเน็ตฟลิกซ์ตั้งแต่ปลายปี 2018 (แบบไม่มีการประกาศเลื่อนเหมือนการเลือกตั้งบางประเทศ) เราขอนำประเด็นน่าสนใจในหนังมาปัดฝุ่นเล่าเรื่องเก่าในวันใหม่นี้ดีกว่า

The Dictator เล่าเรื่อง “นายพล ฮัฟฟาซ อลาดีน” ผู้นำจอมเผด็จการแห่งประเทศวาดิยาแถบแอฟริกาเหนือ เขามีแนวคิดสุดโต่งในการเป็นเผด็จการ และต่อต้านทุกอย่างที่เป็นประชาธิปไตย ทว่าเรื่องราวกลับตาลปัตรเมื่อเขาได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา เขาถูกลักพาตัว โกนหนวดเครา ก่อนได้รับความช่วยเหลือจาก “โซอี” หญิงสาวนักเคลื่อนไหวในสังคมที่ทำให้เขาเห็นความสวยงามของประชาธิปไตย

ในแง่โปรดักชัน ตัวนักแสดง ซาช่า บารอน โคเอน ผู้รับบท นายพลอลาดีน และผู้กำกับ
แลร์รี ชาร์ล เคยทำงานร่วมกันมาแล้วใน Borat (2006) และ Bruno (2009) ทั้งสองเรื่องนี้เต็ม
ไปด้วยมุกตลกร้าย การเสียดสี และอารมณ์ขันเจ็บ ๆ โดย The Dictator ยังคงสไตล์
เหมือนเดิมในแง่มุมใหม่อย่างเผด็จการ เล่าเรื่องตลกร้าย หยอกล้อ และเสียดสีนิสัยเผด็จการในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การปกครอง ความคิด กีฬา กระทั่งวัฒนธรรม

เราจะเห็นตั้งแต่ต้นเรื่องถึงโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับเขาว่า เกิดปี 1973 คุณแม่เสียชีวิต (ถูกฆาตกรรม) หลังคลอดทันที ทำให้อลาดีนเป็นบุตรคนเดียวของจอมเผด็จการคนก่อน “โอมาร์ อลาดีน” ซึ่งขึ้นสืบทอดอำนาจตั้งแต่วัย 7 ขวบ ไม่แปลกใจที่เขาจะ “ได้” ทุกอย่างในสิ่งที่ต้องการมาตั้งแต่เด็ก

เขาเคยจัดโอลิมปิกของตัวเอง โดยกติกาตัวเอง และเพื่อตัวเองจนได้เหรียญทอง 14 เหรียญ ภาพความตลกที่เห็นคือการแข่งขันวิ่งที่อลาดีนออกตัวนำมาก่อน เป็นคนยิงปืนเริ่มเกม
ยิงคู่แข่งคนอื่น และให้เส้นชัยวิ่งเข้ามาหาตัวเอง สะท้อนภาพเผด็จการได้อย่างแสบสันต์

จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อเขากลายเป็นธรรมดา ไร้อำนาจ ไร้ชื่อเสียง จากการทรยศของ
“ลุงทหาร” ตัวเองที่ขึ้นมา “ยึดอำนาจ” จากการใช้คนหน้าเหมือนเข้ามาสวมรอยเป็นหุ่นเชิด
ไม่เพียงเท่านั้น ลุงยังพยายามเปลี่ยนประเทศวาดิยาให้กลายเป็นประชาธิปไตยโดยเอื้อประโยชน์การสัมปทานน้ำมันให้กับกลุ่มนายทุนประเทศหนึ่งแทน

แต่ภายใต้การล้อเลียนนั้น ตัวบทกลับแฝงไปด้วยความฉลาดของทีมงานที่ให้เราหัวเราะพร้อมฉุกคิดอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะฉากสุดท้ายที่อลาดีนพูดถึงคุณงามความดีของเผด็จการว่า

“ทำไมพวกคุณถึงจงเกลียดจงชังเผด็จการนักหนา ลองนึกภาพอเมริกาเป็นเผด็จการสิ คน 1 % สามารถฮุบเอาทรัพย์สมบัติชาติ คนรวยก็จะช่วยกันรวยขึ้นได้อีกด้วยกลไกภาษี ถ้าเจอวิกฤตก็จับมือกันล้มลงบนฟูก ไม่ต้องแยแสคนรากหญ้าที่ไม่ได้รับสวัสดิการหรือการศึกษา สื่อดูเหมือนเป็นอิสระ แต่แท้จริงเบื้องหลังมีเครือข่ายลับคอยชักใย ดักฟังโทรศัพท์ได้ จับต่างชาติทรมานขังคุกได้ สามารถโกงผลการเลือกตั้ง แต่งเรื่องโกหกคนเพื่อทำสงคราม ตั้งข้อหาพิเศษขึ้นมาเพื่อจับคนบางกลุ่มเข้าคุกโดยไม่มีใครกล้าโวย สั่งสื่อปลุกกระแสตื่นกลัวให้กับผู้คนได้ เพื่อให้หลงสนับสนุนโยบายที่ทำลายส่วนรวม มันอาจยากที่อเมริกันจะนึกภาพพวกนี้ออก แต่คุณลองพยายามนึกให้ออก”

ขณะเดียวกัน เขาก็กล่าวถึงประชาธิปไตยว่า “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ห่วยที่สุด
ต้องมาทนฟังมุมมองโง่ ๆ ของคนอื่น ให้คุณค่าทุกคนหนึ่งเสียงเท่ากันทั้งที่บางคนพิการ
ผิวดี หรือเป็นผู้หญิง…” ก่อนเรื่องราวจะพลิกผันมาเป็น“…. ประชาธิปไตยมีข้อเสียไม่ใช่ระบอบสมบูรณ์แบบ แต่ประชาธิปไตย ฉันรักเธอ จึงทำให้ผมมุ่งเป้าที่ประชาธิปไตยแท้จริง รัฐธรรมนูญที่ไม่หมกเม็ด และการเลือกตั้งที่ถูกต้องในวาดิยา”

ตอนจบของเรื่องจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศวาดิยาจาก “เผด็จการ” ให้กลายเป็น “ประชาธิปไตย” ด้วยการจัด “การเลือกตั้ง” อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในภาพยนตร์ก็หาใช่การเลือกตั้งที่ยุติธรรมเท่าไหร่

มันก็เหมือนอย่างที่อลาดีนบอกไว้ว่า “เผด็จการสามารถโกงผลการเลือกตั้ง” ผลสุดท้ายการเลือกตั้งนายพลอลาดีนเอาชนะไปได้ถึง 98.8% เราจะเห็นภาพการใช้รถถังเข้าควบคุมผู้เลือกตั้งให้ต่อแถวเลือกอลาดีนอยู่วันยังค่ำ สะท้อนได้ว่าประเทศที่ผู้นำเกิดขึ้นจากเผด็จการ ก็จะยังคงสืบทอดอำนาจเดิมด้วยการย้อมแมวเผด็จการด้วยกลไกทางประชาธิปไตย

ด้วยต้นทุนหนัง 65 ล้านเหรียญสหรัฐ The Dictator ไม่เพียงประสบสำเร็จด้วยรายได้
179 ล้านเหรียญฯ แต่ยังประสบความสำเร็จในแง่ตั้งคำถามกับ “การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นใต้อำนาจเผด็จการ” (Elections Under Authoritarianism) เราจะเห็นได้ในหลาย ๆ ประเทศ
ที่พยายามจัดการเลือกตั้งด้วยความฉ้อฉล ออกแบบกฎกติกาด้วยตนเอง และเอื้อผลประโยชน์ของตนเองมากที่สุด สุดท้ายแล้วกลายเป็นคนเผด็จการที่กลับเข้ามาครองอำนาจเดิมอยู่ดี
หลายครั้งที่คำว่า “การเลือกตั้ง” มักผูกติดกับ “ประชาธิปไตย” จนหลงลืมต้นกำเนิดของผู้ร่างกติกา เพราะถ้าหากการเลือกตั้งนั้นเต็มไปด้วยกลโกงสกปรกโสมม คำถามสำคัญก็คือการเลือกตั้งที่ว่าจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้หรือไม่? หรือเป็นเพียงปาหี่เพื่อสร้างความชอบธรรมของเผด็จการผ่านกลไกของประชาธิปไตยที่กำลังหลอกคนทั้งประเทศกันแน่

cr.boxofficemojo, matichon, thematter, thepeople