BIT

วิธีเก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชน ให้ใช้ได้นาน ไม่เสียหาย

วิธีเก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชน ให้ใช้ได้นาน เนื่องจากกรมการปกครอง พบว่าผู้ถือบัตรประจำตัวประชาชนได้ยื่นคำขอเปลี่ยนบัตร กรณีบัตรชำรุด หลายรายเจอเคสเดียวกันคืออักษรหรือภาพใบหน้าของผู้ถือบัตรเลือนราง ซึ่งมีสาเหตุประการหนึ่งมาจากซองใส่บัตรที่ทำมาจากวัสดุ PVC ทำให้ภาพสีเกิดปฏิกิริยาทางเคมีถ่ายเทสีจากบัตรสู่ซองใส่บัตร

ทางกรมการปกครอง จึงเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบัตรประจำตัวประชาชน และได้ให้แนะนำการเก็บรักษาบัตรประชาชน ดังนี้

วิธีเก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชน

1. ควรเก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชนในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ได้แก่ อุณภูมิระหว่าง 20 – 35 องศาเซลเซียส ความชื้น 40% – 50% ไม่ถูกสารเคมี ไม่ควรถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ไม่ควรวางไว้ใกล้กับสนามแม่เหล็ก

 

2. ไม่ควรจัดเก็บบัตรประจำตัวประชาชนไว้ในซองที่ทำจากวัสดุ PVC เนื่องจากซอง PVC จะทำปฏิกิริยาเคมีทำให้สีหลุดลอกติดซอง หากจำเป็นต้องใส่ซอง ควรใช้ซองที่ผลิตจากวัสดุ Polypropylene และไม่ควรเก็บไว้ในสภาพที่กดทับด้วยน้ำหนักเป็นระยะเวลานาน

3. ระมัดระวังรักษาหน่วยความจำ (IC Chip) ของบัตร เช่น ไม่สัมผัสหน่วยความจำ เนื่องจากจะทำให้เกิดคราบคาร์บอนไดออกไซด์เกาะติดที่หน้าสัมผัสบริเวณดังกล่าว ระมัดระวังไม่ให้เกิดรอย ขีดข่วนบนหน้าสัมผัสบัตรของหน่วยความจำซึ่งบางครั้งเป็นรอยเล็กๆ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ระมัดระวังไม่ให้บัตรสัมผัสกับของเหลวหรือสารอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุให้มีความชื้นเกาะอยู่บนหน่วยความจำทำให้เกิดคราบสนิม เป็นต้น

4. ไม่ควรนำวัตถุใดๆ โดยเฉพาะวัตถุที่มีส่วนประกอบของกาวเหนียวติดบนบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบัตรประจำตัวประชาชน ดังนี้

– บริเวณด้านหน้าบัตรมีการเคลือบวัสดุป้องกันการปลอมแปลงที่เป็นสัญลักษณ์ และข้อความที่กรมการปกครองกำหนด ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีความวาวและรองรับการหักเหของแสง หากนำวัตถุดังกล่าว มาติดทับและลอกออก อาจทำให้เกิดการหลุดลอกของวัสดุเคลือบบัตรได้ หรือเมื่อลอกออกแล้วอาจมีคราบกาวเหนียวติดอยู่ หากพยายามที่จะขูดลอกออกหรือใช้น้ำยาเช็ดทำความสะอาดก็อาจจะส่งผลกระทบต่อวัสดุเคลือบบัตรโดยตรง

– บริเวณด้านหลังบัตรตรงตำแหน่งสัญลักษณ์ตรวจสอบบัตร (Hologram) เนื่องจากเป็นวัตถุ Foil อยู่บนพื้นผิวของ PVC อีกชั้นหนึ่ง หากนำวัตถุดังกล่าวติดทับและลอกออก อาจมีคราบกาวเหนียวติดอยู่ หากใช้ความพยายามลอกคราบนั้นด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม จะส่งผลให้สัญลักษณ์ตรวจสอบบัตร (Hologram) หลุดลอกได้

ทั้งนี้ กรมการปกครองมีระบบการจัดเตรียมความพร้อมของบัตร (Pre-personalization) และการตรวจสอบคุณภาพของวัสดุตัวบัตรให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานก่อนส่งให้สำนักทะเบียนและในขั้นตอนสุดท้าย ของการออกบัตรของสำนักทะเบียน ระบบโปรแกรมจะทำการตรวจสอบสภาพของหน่วยความจำอีกครั้งหนึ่ง โดยการจัดเก็บลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ขอมีบัตรไว้ในหน่วยความจำเพื่อยืนยันการเป็นผู้ถือบัตร ดังนั้น หากระบบโปรแกรมสามารถจัดเก็บลายนิ้วมือได้สำเร็จ แสดงว่าหน่วยความจำของบัตรอยู๋ในสภาพสมบูรณ์ ณ ขณะที่ส่งมอบบัตรให้กับผู้ขอมีบัตรแล้ว

สำหรับผู้ที่จะออกไปทำบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่เนื่องจากทำเป็นครั้งแรก หรือ บัตรชำรุด หรือบัตรหาย สามารถจองคิวออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://Q-online.bora.dopa.go.th เริ่มวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563 โดยเริ่มที่ ณ สำนักทะเบียนอำเภอเมืองทุกแห่ง และสำนักทะเบียนอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จากนั้น จะขยายผลการดำเนินการจนครบทุกสำนักทะเบียนทั่วประเทศ

Credit : กรมการปกครอง fanpage