Movie Critical

mother! : มารดา!

Directed by Darren Aronofsky
Written by Darren Aronofsky
Starring Jennifer Lawrence as Grace, Javier Bardem as Eli, Ed Harris as Man, Michelle Pfeiffer as Woman, Domhnall Gleeson as Oldest Son, Jovan Adepo as Cupbearer
Cinematography Matthew Libatique
Edited by Andrew Weisblum
Running time 121 minutes

จริง ๆ แล้วหนังเกี่ยวกับศาสนาไม่ค่อยใช่จริตเราสักเท่าไหร่ แต่เห็นว่า mother! (ขออนุญาตไม่ใช่ตัว m เป็น Capital Letter ตาม title ในโปสเตอร์หนัง) กำกับโดย Darren Aronofsky ผู้กำกับผู้เคยเข้าชิงออสการ์จาก Black Swan และแสดงนำโดยสองดาราออสการ์ Jennifer Lawrence กับ Javier Bardem (จาก Silver Linings Playbook และ No Country for Old Men ตามลำดับ แถมผู้ชมจากรอบสื่อมวลชนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “หนังโคตร WTF และชวนตีความได้หลากหลาย” มันจึงทำให้เราตัดสินใจดู mother! แบบไม่ลังเล

mother! เป็นเรื่องของนักเขียนใหญ่ (Javier Bardem จาก Pirates of the Caribbean ภาคล่าสุด) กับภรรยาสาวสวย (Jennifer Lawrence จาก The Hunger Games) อาศัยอยู่ด้วยกันสองคนอย่างสงบในบ้านหลังใหญ่ห่างไกลผู้คน โดย Javier Bardem ก็ใช้เวลาอยู่กับการคิดและเขียนหนังสือ ส่วน Jennifer Lawrence ก็มีความสุขกับการตกแต่งบ้านให้น่าอยู่ราวสวรรค์วิมานชั้นฟ้า แต่แล้วโลกอันแสนสุขสงบของสองสามีภรรยาก็ค่อย ๆ พังสลายลงเมื่อจู่ ๆ ก็มีแขกแปลกหน้าชายหญิง (Ed Harris ผู้เคยเข้าชิงออสการ์ 4 สมัย และ Michelle Pfeiffer ผู้เคยเข้าชิงออสการ์ 3 สมัย) มาเยือนที่หน้าประตูบ้าน

 

เราตีความสารของหนังเรื่องนี้อยู่หลายทาง แต่หลัก ๆ คือเรื่องของพระเจ้าและเรื่องราวตามพระคัมภีร์ไบเบิล ตามด้วยประเด็นรอง ๆ เช่น เรื่องของงานเขียนหรือศิลปะ จนถึงชื่อเสียงหรือความเป็นเซเล็บบริตี้

ถ้าเตรียมตัวเตรียมใจและตั้งสติมาอย่างดี ประกอบกับพอมีพื้นฐานการตีความและความรู้เกี่ยวกับเรื่องเล่าต่าง ๆ ของไบเบิลอยู่แล้วบ้าง จะเข้าใจสารของหนังได้ไม่ยากอย่างที่คิด เพราะเอาจริง ๆ พล็อตหนังเทียบเคียงจากพระคัมภีร์มาอย่างค่อนข้างตรง ๆ โต้ง ๆ เกือบทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ

Javier Bardem เปรียบเสมือนพระเจ้าผู้สร้างและทำลายโลก ตามท้องเรื่องเขาเป็น The Poet หรือนักกวี ซึ่งปกติแล้ว นักเขียนที่เก่งหรือมีอิทธิพลมาก ๆ นั้น จะสามารถสร้าง เปลี่ยนแปลง หรือทำลาย ทั้งคน ทั้งโลกทั้งใบ ได้ง่าย ๆ ด้วยเพียงปลายปากกาและจรดหมึกของเขา (ดั่งที่เขาว่ากันว่า The pen is mightier than the sword.)

Jennifer Lawrence น่าจะเปรียบเสมือน Mother Earth หรือไม่ก็พระแม่มารีย์หญิงพรหมจารีผู้ให้กำเนิดพระเยซู เป็นผู้ให้ ให้ และก็ให้ ลูกที่นางให้กำเนิดช่วงท้ายเรื่องก็น่าจะหมายถึงพระเยซู ฉากเกิดที่มีคนเอาผ้าเอาผลไม้มาให้นี่คือพระเยซูชัด ๆ แล้วภายหลังก็ถูกประชาชนชาวคริสต์ฆ่าตายอีก ส่วนตัวบ้านที่ Jennifer Lawrence เฝ้าตกแต่งฟูมฟักก็เปรียบเสมือนโลกที่เราอาศัยอยู่

Ed Harris กับ Michelle Pfeiffer เป็น Adam กับ Eve ชายหญิงคู่แรกของโลก ตอนแรกจะมีแค่ Adam มาคนเดียวก่อน แต่ต่อมาพระเจ้าก็สร้าง Eve ให้มาอยู่เป็นเพื่อน จากซี่โครงของ Adam เอง (สังเกตได้ว่าจะมีฉากในห้องน้ำที่เราเห็นแผลจากด้านหลังของ Ed Harris) คริสตัลในห้องทำงานที่ Javier Bardem หวงนักหวงหนา แต่ต่อมา Ed Harris กับ Michelle Pfeiffer ก็ฝ่าฝืนเข้าไปจับจนมันตกแตก ก็เปรียบเสมือนลูกแอปเปิลต้องห้ามในสวนอีเดน

Brian Gleeson กับ Domhnall Gleeson เป็นลูก ๆ ของ Adam กับ Eve ที่ชื่อว่า Cain and Abel ซึ่งเป็นฆาตกรคนแรกของโลก ผู้ซึ่งฆ่าพี่น้องของตนด้วยความอิจฉาริษยาจากการได้รับความรักไม่เท่ากัน

ช่วงงานศพของ Brian Gleeson ที่ญาติพี่น้องของ Ed Harris กับ Michelle Pfeiffer แห่แหนมาที่บ้านนี้เยอะ ๆ จนทำอ่างและท่อน้ำแตก ก็คล้าย ๆ กับกรณีของเรือโนอาห์ ซึ่งเป็น Apocalypse ครั้งใหญ่หลวงในพระคัมภีร์ (Darren Aronofsky เคยทำหนังเรื่อง Noah เมื่อไม่กี่ปีก่อนด้วย)

หนังสือที่ Javier Bardem เขียนสำเร็จในช่วงเกือบท้ายเรื่อง เปรียบได้กับ บทบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments หรือ Decalogue) ในหนังสืออพยพ (Exodus) ที่พระเจ้าประทานแก่วงศ์วานอิสราเอลผ่านทางโมเสส ซึ่งในเรื่องน่าจะหมายถึง บก.สนพ.

เหตุการณ์ในหนังที่มีนักอ่านจำนวนมากแห่แหนมาหานักกวีหรือพระเจ้าของเขาที่บ้านนั้น มีความวุ่นวายโกลาหลเหนือจินตนาการอย่างหาที่สุดไม่ได้ สะท้อนถึงโลกที่เลวร้ายลงขึ้นทุกวันจากปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะ ประชากรล้นโลก, สงคราม, ความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง, การค้ามนุษย์, คนต่างด้าวอพยพ ฯลฯ ซึ่งทุกอย่าง Darren Aronofsky นำมายำเละไว้ในช่วงนี้ของหนังหมดสิ้น

หลัก ๆ ก็ขอสรุปตีความแค่นี้พอ ส่วนอะไรที่ยิบ ๆ ย่อย ๆ เช่น กบ (หรือคางคก?), น้ำสีอำพันที่นางเอกดื่ม, เลือดหรือรอยแตกร้าวในบ้าน, เปลวไฟ, ห้องซักรีดใต้ดิน ฯลฯ เราไม่ขอตีความ เพราะเราไม่ได้อินกับหนังขนาดนั้น ความรู้เรื่องคริสต์ ๆ ก็มีแค่เพียงหางอึ่งเท่าที่เคยดูการแสดงสมัยเรียนอยู่ชั้นประถมนู่น

ทั้งหมดทั้งมวลที่ Darren Aronofsky พยายามสร้างโลกในหนังขึ้นมาใหม่ใช้อุปมาอุปไมยแทนสิ่งนี้สิ่งนั้นหรือคนนั้นคนนี้ในคัมภีร์ไบเบิล เราไม่รู้สึกอินหรือมองว่าพล็อตมันจะมีชั้นเชิงแต่อย่างใด แต่ยอมรับในชั้นเชิงของการเล่าเรื่องที่ทำได้ชวนพิศวง จิตตก ลุ้นระทึก และฉงนสงสัยแทบทั้งเรื่อง รวมถึงการแสดงขั้นเทพของนักแสดงทุกคนในเรื่อง โดยเฉพาะ Jennifer Lawrence ที่เรื่องนี้ดูทุ่มสุดตัว แต่ก็ยังถือว่าเล่นใหญ่แต่พอดี

ถ้าไม่มีเรื่องประเด็นศาสนา เราค่อนข้างชอบในส่วนของการเสียดสีเรื่องการวิพากย์วิจารณ์งานศิลปะของคนอื่น การรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของผู้อื่น การตีความสารหนึ่ง ๆ ไปทิศทางที่แตกต่างกัน และการบูชาคนดังผู้มีชื่อเสียง ที่หนังนำเสนอได้ดี น่าสนใจ

<

p style=”text-align: justify;”>อย่างไรก็ดี ถึงแม้เราจะพอเข้าใจสารของหนังอยู่ประมาณหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราจะชอบหนัง mother! สักเท่าไหร่ โดยรวมค่อนไปทางไม่ค่อยปลื้มเลยเสียด้วยซ้ำ แต่เทคนิคการถ่ายทำของเขาโอเค การเล่าเรื่องยังชวนติดตามถึงแม้มันจะชวนกร่นด่าว่า “แม่มึง / WTF” ทั้งเรื่องก็ตาม นักแสดงทุกคนเองก็เข้าถึงบทบาทอย่างยิ่งยวด และหนังมีความเปิดกว้างให้คนดูตีความได้หลายแบบหลายแนว มันเลยทำให้เราไม่เกลียดหนังเขา